เมื่อวันที่ 13 พ.ค. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ขึ้นทะเบียน วัคซีนโมเดอร์นา (Moderna) อย่างเป็นทางการ ทำให้วัคซีนดังกล่าวเป็นวัคซีนโควิด -19 ลำดับที่ 4 ที่ผ่านการขึ้นทะเบียนจาก อย. ต่อจากวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า , ซิโนแวค และจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน (J&J)
วัคซีนโมเดอร์นา เป็นวัคซีนสัญชาติอเมริกัน วิจัยและพัฒนาโดยบริษัท โมเดอร์นาฯ จากสหรัฐอเมริกาซึ่งก่อตั้งในปี 2553 วัคซีนดังกล่าวผ่านการรับรองจากองค์การอนามัยโลก (WHO) เมื่อวันที่ 30 เม.ย. 2564 ส่วนใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับยาแผนปัจจุบันโดยอย. ประเทศไทยนั้น ระบุว่า ชื่อยา “โมเดอร์นา วัคซีนโควิด-19 /COVID-19 VACCINE MODERNA ตามแบบ ย.1 เลขรับที่ 1C 90006/64 (NB) รูปแบบยา DISPERSION FOR INJECTION ลักษณะยา น้ำยากระจายตัวสีขาวถึงสีออกเหลืองอ่อน ประเภทยา เป็นยาควบคุมพิเศษ
ข้อมูลจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา (Centers for Disease Control and Prevention : CDC) ระบุว่าวัคซีนโมเดอร์นา ที่มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า mRNA-1273 เป็นวัคซีนชนิด mRNA ซึ่งใช้เทคโนโลยีวัคซีนรูปแบบใหม่ พัฒนาขึ้นโดย บริษัท ModernaTX, Inc. โดยการฉีดนั้นต้องฉีดจำนวน 2 เข็มห่างกัน 1 เดือน (28 วัน) แนะนำให้ใช้กับผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป วัคซีนชนิดนี้มีประสิทธิผลสูงในกลุ่มคนหลากหลาย ทั้งอายุ เพศ เชื้อชาติ และกลุ่มชาติพันธุ์ รวมถึงในกลุ่มบุคคลที่มีโรคประจำตัว ตัวเลขประสิทธิผลการทดสอบเฟส 3 สูงถึง 94.1% ซึ่งพอๆ กับวัคซีนของโนวาแวค และไฟเซอร์-บิออนเทค (ซึ่งไม่ได้ศึกษาในเวลาเดียวกัน)
ส่วนข้อมูลด้านความปลอดภัยจากกลุ่มประชากรวิจัย 15,000 คนนั้น พบว่าวัคซีนมีอาการข้างเคียงที่ยอมรับได้ เช่น อาการปวดเล็กน้อยถึงปานกลาง ซึ่งสามารถหายได้เองภายใน 2 – 3 วัน ข้อมูลจาก CDC ของสหรัฐอเมริกา ยังพบรายงานเกี่ยวกับอาการไม่พึงประสงค์ทั่วไปประมาณ 0.03% ของประชากร ขณะที่โอกาสแพ้ยาแบบรุนแรง มีประมาณ 2.5 : 1,000,000 คน
ประเทศที่ใช้วัคซีนโมเดอร์นาอย่างแพร่หลายแล้วนั้นได้แก่ สหรัฐอเมริกา แคนาดา กาตาร์ สิงคโปร์ เวียดนาม ไอซ์แลนด์ นอร์เวย์ ฯลฯ
ข้อดีอีกอย่างคือ วัคซีนโมเดอร์นาสามารถเก็บรักษาอยู่ในตู้เย็นอุณหภูมิ 2-8 องศา (ตู้เย็นครัวเรือน)ได้ 30 วัน และในตู้เย็นอุณหภูมิ -20 องศาได้ 6 เดือน
นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ในฐานะคณะทำงานพิจารณาการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) กล่าวว่า ที่ผ่านมาการประชุมร่วมเอกชน 3 สถาบัน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย โดยมี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อปลายเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา มีข้อสรุปชัดเจนว่า ภาครัฐจะหาวัคซีนมาให้ครบ 100 ล้านโดส จากเดิมที่วัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า และซิโนแวค รวมกันประมาณ 65 ล้านโดส
โดยนายกฯได้สั่งการให้เร่งเจรจาหาวัคซีนอื่น ๆ เพิ่มเข้ามาให้ครบ 100 ล้านโดส ฉีดให้ทั้งคนไทยและคนต่างชาติในประเทศไทย 50 ล้านคน เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ (herd immunity) ซึ่งที่อยู่ระหว่างการเจรจามีทั้ง จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน (ได้รับการขึ้นทะเบียนจาก อย.แล้ว) ไฟเซอร์ (รอขึ้นทะเบียน) และสปุตนิก วี (รอขึ้นทะเบียน)
ส่วนที่นอกเหนือจาก 100 ล้านโดส รัฐบาลเปิดโอกาสให้สมาคมโรงพยาบาลเอกชน รวมถึงเอกชน หรือผู้ประกอบการอื่น ๆ ที่มีใบอนุญาตเป็นผู้นำเข้ายาหรือวัคซีน สามารถดำเนินการหา "วัคซีนทางเลือก"อื่น ๆ เข้ามาเพิ่มได้ ซึ่งกรณีของวัคซีนโมเดอร์นาที่จัดอยู่ในกลุ่ม "วัคซีนทางเลือก" นั้นก็จะเป็นการนำเข้าโดยภาคเอกชน
“กรณีโมเดอร์นาจะเป็นการซื้อในนามของสมาคมโรงพยาบาลเอกชน เป็นการสั่งซื้อผ่านองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับประชาชนที่มีความต้องการ นอกจากนี้ ภาคเอกชนยังมีความสนใจจะหาวัคซีนทางเลือกอื่น ๆ เข้ามาเพิ่ม เช่น ซิโนฟาร์ม ซึ่งเป็นวัคซีนเชื้อตายจากประเทศจีน (ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียน) หรือในอนาคตอาจจะมีวัคซีนตัวอื่นเข้ามาเพิ่ม” นพ.เฉลิม กล่าว
เปรียบเทียบราคาวัคซีน
ข้อมูลจากเว็บไซต์ Biospace.com เมื่อวันที่ 23 เม.ย.2564 ได้เปิดเผยราคาวัคซีนโควิด-19 ระบุว่า
ทั้งนี้ สำหรับต้นทุนของวัคซีนโมเดอร์นา ที่นำเข้ามาผ่านองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ประมาณการณ์อยู่ที่ 37-38 ดอลลาร์สหรัฐไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ขณะที่ราคาให้บริการของสมาชิกโรงพยาบาลเอกชนตกลงกันว่าจะคิดเท่ากันทุกโรงพยาบาลไม่เกิน 2,000 บาท/เข็ม ประกอบด้วย ค่าวัคซีน ค่าบริการของโรงพยาบาล และค่าประกัน "วัคซีนโควิด-19" เพื่อคุ้มครองผู้ได้รับวัคซีนหากเกิดผลข้างเคียงขึ้น โดยค่าประกันจะเก็บเพียงครั้งเดียวในเข็มแรก ดังนั้น คาดว่าราคาค่าบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ทั้ง 2 เข็มของสมาชิกโรงพยาบาลเอกชนจะอยู่ที่ประมาณ 3,000 -4000 กว่าบาท ซึ่งเบื้องต้น คาดว่าจะมีวัคซีนเข้ามาประมาณ 5 ล้านโดส แต่ยังไม่กำหนดเวลาการส่งมอบ
นพ.เฉลิมกล่าวว่า ประชาชนที่ต้องการซื้อวัคซีนจากเอกชน ยังต้องลงทะเบียนในระบบ "หมอพร้อม" ด้วยเช่นกัน เพราะต้องมีการเก็บข้อมูล แต่ก็ในฐานะแพทย์แนะนำว่าสำหรับผู้ที่สงสัยว่าจะฉีดวัคซีนโควิด-19 ของภาครัฐ หรือรอฉีดของโรงพยาบาลเอกชนดี แนะนำให้ฉีดของภาครัฐไปก่อน เพราะตอนนี้ได้ฉีดวัคซีนเร็วสุดจะดีกว่า
ข่าวที่เกี่ยวข้อง