จากกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวตอนหนึ่งในแถลงผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ประกาศโรดแมป ตั้งเป้าเปิดประเทศใน 120 วัน นับจากวันนี้ โดยระบุว่า ถึงเวลาแล้ว ที่เราจะต้องมองไปในอนาคตที่ไกลขึ้นอีก คือการเปิดประเทศ และรับนักท่องเที่ยวเข้าประเทศไทยอีกครั้ง นี่คือหนทางสำคัญหนทางหนึ่ง ที่จะช่วยบรรเทาความทุกข์ยากเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ที่ไม่สามารถทำมาหากินกันได้มาเป็นระยะเวลานาน ส่วนเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญๆ หากพร้อมได้เร็วกว่า ก็ควรทยอยเปิดให้ได้เร็วกว่านั้น ส่วนการจัดหาวัคซีนจนถึงตอนนี้ ลงนามในสัญญาซื้อไปแล้ว 105.5 ล้านโดส ส่งมอบภายในปีนี้
“ดร.นณริฏ พิศลยบุตร” นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ซึ่งสนใจศึกษาวิจัยโจทย์ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของไทย โดยเฉพาะมุมมองด้านเศรษฐศาสตร์ กล่าวว่า การตั้งเป้าเปิดประเทศใน 120 วัน เป็นสิ่งที่ดี ถือเป็นสัญญาณที่สื่อให้โลกได้เห็นว่าประเทศไทยเริ่มมีโอกาสและเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์แล้ว
เเต่ความท้ามทายที่จะทำให้ไปถึงเป้าหมายเปิดประเทศภายใน 4 เดือน หรือ 120 วัน แบ่งออกเป็น 3 ข้อใหญ่ที่สำคัญ คือ
1.ต้องควบคุมการแพร่ระบาดในระลอก 3
“หัวใจสำคัญเข้าใจว่าไม่ได้อยู่ที่มาตรการการเงินการคลังแล้ว อยู่ทางด้านสาธารณสุข ด้านหนึ่งเป็นเรื่องของการควบคุมสถานการณ์ เราเห็นตัวเลขระลอกสามที่ได้มีการรายงานกันทุกวันล่าสุดวันนี้ (17 มิ.ย.)ตัวเลขอยู่ที่ 3,000 กว่าคน ตรงนี้แน่นอนว่ามีความสำคัญก็คือถ้าเราจะเปิดประเทศได้ ก็แปลว่าคนในประเทศจะต้องเที่ยวได้ คนต่างประเทศก็ต้องเข้ามาได้แต่ถ้าตัวเลข 3,000 กว่าคน ถามว่าคนไทยเองจะอยากเข้ามาไหม จะอยากไปเที่ยวไหม ต่างชาติจะอยากเข้ามาเที่ยวในไทยไหม ก็อาจจะกลัวก็ได้ ว่าประเทศนี้ยังติดเยอะมากกว่าประเทศของเขาอีก”
2.มีวัคซีนโควิดที่ป้องกันการระบาดของเชื้อโรคได้ดี
“เราต้องเข้าใจว่าการฉีดวัคซีนทำให้คนไทยมีภูมิคุ้มกัน แต่แน่นอนว่าวัคซีนที่มีอาจจะไม่ถึงกับป้องกันการแพร่ระบาด เพราะทางสาธารณสุขก็สื่อสารมาตลอด คุณหมอและผู้เชี่ยวชาญต่างๆก็สื่อสารมาตลอดว่า หัวใจสำคัญของการฉีดดวัคซีนคือกันไม่ให้การเข้าโรงพยาบาล กันไม่ให้ป่วยหนัก กันไม่ให้เสียชีวิต ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญมากกว่าข้อแรก”
3.การจัดสรรวัคซีนให้กับพื้นที่การแพร่ระบาดอย่างมีประสิทธิภาพ ตรงจุด
“ความยากในปัจจุบันอยู่ที่เรื่องของการจัดสรรวัคซีน เวลาเราพูดถึงองคาพยพในการจัดสรรวัคซีน รู้สึกว่าค่อนข้างจะมีความซับซ้อน เช่นก่อนที่วัคซีนจะมาฉีดให้กับพวกเรา ต้องผ่านหน่วยงานต่างๆหรือคนที่เกี่ยวข้องเยอะ มันก็จะมีความไม่แน่นอน ถ้าใครทำอะไรผิดพลาดหรือทำอะไรแล้วมันขัดกัน มันก็ทำให้เกิดปัญหาในเรื่องของการจัดสรรวัคซีน โดยเฉพาะในช่วงสองสามสัปดาห์ก็เจอปัญหาในเรื่องของการจัดสรรวัคซีนพอไม่ การเลื่อนต่างๆของโรงพยาบาล ซึ่งความผิดพลาดเกิดขึ้นได้ แต่ถ้าเมื่อไหร่ก็ได้ตามที่มีสายการทำงานที่ยาวมันจะมีปัญหา”
นอกจากนี้ ดร.นณริฏ ยังกล่าวเสริมในแง่มุมทางด้านเศรษฐศาสตร์ ว่า สามารถทำให้ประชาชนมีพฤติกรรมสอดรับกับการเปิดประเทศได้มากขึ้น โดยรัฐจำเป็นต้องมีมาตรการทางเศรษฐศาสตร์มาหนุนเสริมให้ ความท้าทายข้างต้นทั้งสามข้อมีประสิทธิภาพมากขึ้นก็ควรจะใช้เงินเยียวยาต่างๆที่ภาครัฐกู้มาจำนวน 5 แสนเข้ามาช่วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง