ไม่น่าแปลกใจสำหรับตัวเลขทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่สองของทุกประเทศในโลกที่ทยอยประกาศออกมาว่าอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจอยู่ในเหว อาทิ สหรัฐอเมริกา -32.9% ญี่ปุ่น -27.8% อังกฤษ -21.7% แม้แต่ในอาเซียนอย่างมาเลเซียก็ -17.1% และสิงคโปร์ -12.2% จะมีก็เวียดนามที่ยังขยายตัว +0.36% ซึ่งนับได้ว่าเจ้าโควิด-19 กวาดได้ทั่วโลกและถ้วนหน้าจริง ๆ
สำหรับประเทศไทย ทางสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. ได้ประกาศตัวเลข GDP ไตรมาสที่สองขยายตัวติดลบ 12.2 ซึ่งไม่ว่าการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนติดลบหมด (-6.6% และ 8.0%) และที่หนักสุดก็คือการส่งออกสินค้าและบริการในไตรมาสที่สอง -28.3% จะเหลือก็แต่การใช้จ่ายของภาครัฐที่ยังขยายตัวเป็นบวกที่ 1.4% แม้ว่างบประมาณประจำปีจะออกมาค่อนข้างช้า และถ้ามองรายสาขา จะพบว่าสาขาที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวและการบริการจะติดลบมากกว่าสาขาอื่น ๆ โดยสาขาที่พักมีการขยายตัวติดลบ -50.2% ขนส่งติดลบ -38.9% สาขาอุตสาหกรรม -14.4%
ทั้งหมดนี้เป็นผลมาจากมาตรการของรัฐในการต่อสู่กับไวรัสโควิด – 19 ทำให้ครึ่งปีแรกเศรษฐกิจไทยติดลบ -6.9% และจากการประมาณสถานการณ์แล้วทั้งปีเศรษฐกิจไทยที่ติดลบทั้งปีประมาณ 7.5% นั้นหมายถึงสภาพัฒน์ฯ มองว่าในครึ่งปีหลังเศรษฐกิจไทยจะผงกหัวขึ้นมาจากเหวของไตรมาสที่สอง แต่ยังคงติดลบหนักและค่าโดยเฉลี่ยจะขยายตัวต่ำกว่าครึ่งปีแรก
นอกจากนั้นยังไม่พอ การเมืองในยุคที่เด็กรุ่นใหม่เรียกร้องประชาธิปไตย จะเป็นประชาธิปไตยแบบไหนก็ว่ากันไปตามแบบที่ต่างคนต่างมองในมุมตัวเอง จนลามมาเป็นม็อบและทำท่าว่าลุกลามในวงกว้างมากขึ้น ทำให้ภาพหลอนของผู้คนที่ผ่านเรื่องราวเหล่านี้มาในช่วงสิบปีที่ผ่านมากำลังกังวลว่าประเทศไทยจะไม่ได้พักเลยหรือ และคราวนี้ก็เหมือนหลาย ๆ ครั้งที่ผ่านมา คือมาจากความขัดแย้งทางการเมืองและทุกฝ่ายงัดทุกเรื่อง ทุกขุมกำลังมาเล่นงานกัน ทำให้ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่เพิ่งทำท่าจะเงยหน้าอ้าปากได้บ้างหลังจากมาตรการคลายล็อคจากไวรัสโควิด เริ่มหายใจตุ้ม ๆ ต่อม ๆ กันอีก
และผู้เกี่ยวข้องในภาคอุตสาหกรรมหลาย ๆ คนก็แสดงความกังวลถึงสถานการณ์บานปลายของการประท้วง หากไม่อยู่ในกติกาและดึงต่างประเทศมาวุ่น หรือใช้สถานการณ์นี้ออกนโยบายกีดกันการค้ากับไทยแล้ว ก็อาจมีผลอย่างหนักต่อการฟื้นตัวและยิ่งเป็นการซ้ำเติมภาคอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจโดยรวมที่บอบซ้ำเต็มทีแล้ว
นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม แสดงความกังวลว่าหากการประท้วงกระจายวงกว้างออกไปและมีความไม่แน่นอนทางการเมืองก็อาจกระทบต่อการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมได้ ตอนนี้ภาคอุตสาหกรรมในหลายสาขา อาทิ อาหาร เครื่องแพทย์ อิเลคโทรนิกส์ เริ่มแสดงทิศทางการฟื้นตัวมาบ้างแล้ว แต่สินค้าที่ไม่จำเป็นต่อการยังชีพและถือว่าเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยนั้นยังมีอัตราการขยายตัวติดลบเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ประกอบกับรายได้ที่ลดลงของผู้บริโภคและความกังวลกับความไม่แน่นอนว่าสถานการณ์โควิดจะจบลงเมื่อไร ทำให้ชะลอและระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น ยอดผลิตสาขายานยนต์ลดลงกว่า 45%
อย่างไรก็ตาม การพัฒนาภาคอุตสาหกรรมคงเดินหน้าการพัฒนาตามยุทธศาสตร์ระยะยาวโดยเฉพาะการสร้างอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เป็นเครื่องยนต์เศรษฐกิจแห่งอนาคต ส่วนในระยะสั้นนั้น จะใช้โอกาสของ New normal ในสถานการณ์นี้เร่งพัฒนารูปแบบธุรกิจใหม่ ๆ การพัฒนาภาคอุตสาหกรรมให้สอดคล้องกับสถานการณ์โดยเร่งการพัฒนาด้านนวัตกรรมและระบบอัตโนมัติในภาคอุตสาหกรรมให้เร็วที่สุด โดยเฉพาะเอสเอ็มอี และในกรณีความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบันยังเชื่อว่าผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมมีความเข้าใจในสถานการณ์เป็นอย่างดี ซึ่งเป็นปกติในสังคมประชาธิปไตย
และหากทุกฝ่ายอยู่ในกติกาแล้วก็คิดว่าไม่น่าจะกระทบโดยตรงกับภาคอุตสาหกรรมมากนัก แต่อาจมีผลต่อการลงทุนในกิจกรรมใหม่ ๆ ที่นักลงทุนก็ต่อรอดูทีท่าสักระยะจนกว่าจะตัดสินใจ เพราะตอนนี้คู่แข่งอย่างเวียดนามก็รุกหนักในการเชิญชวนนักลงทุนจากต่างประเทศแข่งกับไทย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมนวัตกรรมใหม่ต่าง ๆ เหมือนกับอุตสาหกรรมแห่งอนาคตของไทย ก็หวังว่าทุกคน ทุกฝ่ายจะเดินตามกติกาและกฎหมาย ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมทิ้งท้ายไว้ด้วยความเป็นห่วง
นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าวส่งท้ายว่า ขณะนี้ตนเองกำลังเร่งพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ผ่านการสร้างธุรกิจในชุมชนมากขึ้น เพื่อช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชน เพราะตอนนี้แรงงานที่ตกงานในเมืองจำนวนมากกลับไปบ้านเกิด การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนในรูปแบบหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ หรือ CIV ที่กระทรวงดำเนินการมาหลายปีต่อเนื่องในหลายหมู่บ้านนั้นเป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพ ให้กับชุมชนได้ผ่านการท่องเที่ยวและการพัฒนาของใช้ ของฝาก
และของที่ระลึกที่มีอัตลักษณ์ของชุมชน ซึ่งรูปแบบที่สร้างรายได้และอาชีพในชุมชนได้จำนวนมาก โดยผู้คนยังอาศัยอยู่ในชุมชนบ้านเกิดตัวเอง ทั้งนี้ ตนเองจะลงไปกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดในจังหวัดต่าง ๆ ให้ดูแลและเร่งดำเนินงานให้เข้มข้น เพื่อช่วยสร้างรายได้ในเศรษฐกิจฐานรากได้ในช่วงวิกฤตินี้
ในขณะที่นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มองว่าหากความขัดแย้งทางการเมืองไทยยังจำกัดอยู่ในกรอบของความขัดแย้งระหว่างพรรคการเมืองในประเทศและว่ากันตามกติกา และไม่ดึงต่างประเทศเข้ามายุ่งด้วยแล้ว ตนเองมองว่าก็ไม่น่าจะกระทบกับภาคอุตสาหกรรมมากนัก เพราะปัจจุบันสินค้าอุตสาหกรรมมากกว่า 65% เป็นการส่งออกและพึ่งตลาดต่างประเทศเป็นสำคัญ
ซึ่งตอนนี้ตนเองมองว่ากำลังเริ่มขยับขึ้นจากจุดต่ำสุดในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายนแล้ว หวังว่าทั้งสองจะไม่ทำให้ต่างประเทศถือโอกาสเอาประเด็นความขัดแย้งทางการเมืองมาเป็นเหตุในการกีดกันทางการค้ากับประเทศไทย เพราะเราก็สูญเสียแต้มต่อทางการค้าไปหลาย ๆ อย่างแล้วเมื่อเทียบกับคู่แข่งสำคัญรอบ ๆ บ้านเรา
อย่างไรก็ตาม ประธานสภาอุตสาหกรรมฯ ก็ยังกังวลว่า ความขัดแย้งทางการเมือง หากขยายวงกว้างและรุนแรงอาจจะมีผลกระทบกับการตัดสินใจลงทุนของผู้ประกอบการทั้งในและต่างประเทศเพราะต้องการดูนโยบายของรัฐบาล และยิ่งการเมืองไม่มีเสถียรภาพด้วยแล้วและมีการเปลี่ยนรัฐบาลบ่อยๆ จะมีผลต่อความเชื่อมั่นในการลงทุน ตนเองก็หวังว่าทางการเมืองจะเข้าใจและไม่ดึงภาคเศรษฐกิจเข้าไปเกี่ยวข้องกับการขัดแย้งความคิดทางการเมืองของแต่ละฝ่าย เพราะวันนี้เศรษฐกิจไทยก็บอบซ้ำสุด ๆ
และผู้ประกอบการไทยที่กระเสือกกระสนต่อสู้ในช่วงวิกฤติไวรัสโควิดในช่วง 4-5 เดือนที่ผ่านมาและอยู่รอดจนถึงวันนี้ได้ก็แทบหมดเรี่ยวแรง หมดตัวกันแล้ว ตอนนี้ตนเองยังคิดว่าในช่วงครึ่งปีหลังสถานการณ์เศรษฐกิจน่าจะดีขึ้นกว่าครึ่งปีแรกแต่จะกลับมาเหมือนเดิมก็ยังต้องรออีกหลายปัจจัย ส่วนในอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าที่เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้างโครงการของรัฐขนาดใหญ่ต่าง ๆ ก็แสดงความกังวลในประเด็นเสถียรภาพทางการเมืองในมุมของความต่อเนื่องด้านนโยบาย
โดยนายนาวา จันทนสุรคน ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กของสภาอุตสาหกรรมของประเทศไทย กล่าวว่า ตนเองมั่นใจว่านโยบายการฟื้นฟูประเทศผ่านการใช้จ่ายภาครัฐในโครงการพัฒนาและปรับปรุงสาธารณูปโภคของรัฐนั้นยังเป็นสิ่งจำเป็นและต้องเดินต่อไป ซึ่งการดำเนินการอย่างนั้นได้การเมืองต้องมีเสถียรภาพเพื่อให้นโยบายเป็นไปอย่างต่อเนื่องและสร้างความมั่นใจของนักลงทุน อุตสาหกรรมเหล็กของไทยผ่านความเจ็บปวดมามากในช่วงวิกฤติไวรัส งบประมาณที่ล่าช้าของปีนี้ การกีดกันทางการค้าจากประเทศต่าง ๆ ในรูปแบบสารพัด
จนวันนี้แทบไม่มีการส่งออกแล้ว รวมทั้งการทุ่มตลาดจากต่างประเทศ วันนี้ก็อาศัยตลาดในประเทศเป็นสำคัญ หากความขัดแย้งทางการเมืองไม่กระทบกับการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ และโครงการต่าง ๆ ของรัฐแล้วก็ไม่น่าจะมีผลกระทบโดยตรงมากนัก นอกเสียจากว่าความขัดแย้งนั้นนำไปสู่การชะลอตัวทางเศรษฐกิจภาพรวม ซึ่งอาจส่งผลต่อการขยายตัวของอุตสาหกรรมก่อสร้างและอื่น ๆ ที่ใช้เหล็กเป็นวัตถุดิบ
ภาคเอกชนมองความขัดแย้งทางการเมืองเป็นเรื่องปกติในระบอบประชาธิปไตย เพียงหวังว่าทุกฝ่ายจะเล่นตามกติกาและกฎหมาย ไม่เอาความเดือดร้อนด้านเศรษฐกิจและอื่น ๆ ของสังคมเป็นตัวประกันแล้ว ทุกคนก็ยังคิดว่าเมื่อดิ้นรนต่อสู้วิกฤติไวรัสและผ่านจุดหนักสุดในช่วงไตรมาสที่สองมาแล้ว และระหว่างทางเพื่อนร่วมอาชีพหลายร้อยหลายพัน หลายหมื่นราย ล้มลงและไม่สามารถเดินมาไม่ถึงวันนี้ และที่รอดมาได้ส่วนมากก็บอบซ้ำอย่างหนัก หวังว่าความขัดแย้งทางการเมืองที่คุกกรุ่นวันนี้จะไม่สร้างความเจ็บปวดให้กับเศรษฐกิจ และเอาความอยู่รอดของธุรกิจที่กำลังจะเริ่มพยายามตระเกียดตระกายขึ้นจากหลุมดำโควิดเป็นตัวประกันในการต่อสู้