เตือนรัฐบาล
เร่งสปีดกู้เศรษฐกิจ
ได้เห็นรายงานภาวะเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง 2563 ของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ที่รายงานต่อคณะรัฐมนตรี บอกได้เลยว่า วิกฤติเศรษฐกิจถือว่าหนักหน่วง เพราะยังไม่เห็นถึงแนวโน้มการฟื้นตัว หลังจากช่วงไตรมาส 2 ที่ตัวเลขจีดีพีของประเทศติดลบอยู่ที่ 12.2% รวมครึ่งแรกของปี 2563 เศรษฐกิจไทยปรับตัวลดลง 6.9%
แนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจที่ยังไม่เห็นความชัดนี้ จะส่งผลให้ธุรกิจส่วนใหญ่ไม่มีสภาพคล่องรองรับการดำเนินงานได้ไม่เกิน 6 เดือน และจะกระทบต่อการเลิกจ้างงานและปิดกิจการ โดยเฉพาะสถานประกอบการที่ขอใช้มาตรา 75 ซึ่งเป็นกลุ่มที่ขอหยุดชั่วคราว แต่ยังต้องรับภาระในการจ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้างอยู่ และผู้จบการศึกษาใหม่ในปี 2563 ที่กำลังจะเข้าสู่ตลาดแรงงาน 0.52 ล้านคน มีแนวโน้มจะหางานทำได้ยากขึ้น หรืออาจต้องใช้ระยะเวลาในการหางานนานกว่าปกติ
รวมถึงปัญหาภัยแล้งที่ต่อเนื่องและสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก จะส่งผลต่อการจ้างงานในภาคเกษตร และกระทบต่อรายได้แรงงาน อีกทั้งภาคเกษตรอาจจะสูญเสียความสามารถในการดูดซับแรงงานจากนอกภาคเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19
ในขณะที่ผลของมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจต่อการจ้างงาน ตามแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ยังมีความล่าช้า แม้ว่าบางโครงการจะได้รับการอนุมัติโครงการไปแล้วบางส่วน แต่โครงการส่วนใหญ่จะเริ่มการจ้างงานภายในเดือนตุลาคม 2563 ซึ่งหากมีความล่าช้าอาจทำให้ไม่สามารถช่วยเหลือแรงงานที่ตกงานได้อย่างเต็มที่ ซึ่งในภาพรวมแล้วจะส่งให้สถานการณ์การว่างงาน ปรับตัวสูงขึ้น จากช่วงครึ่งปีแรก ที่มีผู้ว่างงานแล้ว 7.5 แสนราย
สิ่งที่สศช.ได้ชี้แนะรัฐบาล ในการบริหารนโยบายเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง ที่จะช่วยประคองภาวะเศรษฐกิจไม่ให้ตกต่ำไปกว่านี้ได้ จะต้องให้ความสำคัญกับการป้องกันการกลับมาระบาดของไวรัสในประเทศ ควบคู่ไปกับการบริหารนโยบายเศรษฐกิจ ที่รัฐบาลจะต้องเร่งดำเนินงาน
ไม่ว่าจะเป็นการประสานนโยบายการเงินการคลัง เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ เช่น การเร่งรัดติดตามมาตรการที่ได้ดำเนินการไปแล้วให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีความยืดหยุ่น สอดคล้องกับเงื่อนไขในการฟื้นตัวของแต่ละภาคธุรกิจ การพิจารณามาตรการเพิ่มเติมสำหรับธุรกิจและแรงงานในสาขาเศรษฐกิจที่ยังมีปัญหาอุปสรรคในการฟื้นตัว โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจและแรงงานในภาคการท่องเที่ยวและบริการเกี่ยวเนื่อง กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ที่ยังมีศักยภาพในการฟื้นตัว แต่ยังมีปัญหาอุปสรรคในการเข้าถึงมาตรการภาครัฐ รวมถึงกลุ่มธุรกิจและแรงงานที่อยู่ในช่วงของการปิดกิจการชั่วคราว และการให้ความสำคัญกับการดูแลผู้ว่างงานและแรงงานที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานใหม่ เป็นต้น
ที่สำคัญการรักษาบรรยากาศทางการเมืองในประเทศ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบซ้ำเติมปัญหาเศรษฐกิจ และเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ยังเป็นไปอย่างช้าๆ และยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูงอยู่ในขณะนี้