เรายังเกาะติดเรื่องราวของประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ฉบับพลิกประวัติศาสตร์การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระที่เป็นวัฒนธรรม กระทำชำเราลูกหนี้ของระบบสถาบันการเงินกันต่อนะครับ
ผมขอบอกว่า ประกาศล้มล้างการคิดดอกเบี้ยค้างชำระ ฉบับนี้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงแนวปฏิบัติที่สำคัญในระบบการเงินของไทยหลายเรื่อง
เรื่องแรก ประกาศของการกำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ที่เหมาะสม เดิมผู้ให้บริการสามารถกำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ได้เอง ส่วนใหญ่มักจะใช้อัตรา 15% ซึ่งเป็นอัตราสูงสุดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บางกรณีกำหนดสูงกว่านั้นถึง 18% หรือ 22%
แต่ตามประกาศใหม่ของธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้ให้บริการสินเชื่อซึ่งก็คือสถาบันการเงินทั้งระบบ จะสามารถกำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ที่ “อัตราดอกเบี้ยตามสัญญา บวกได้ไม่เกิน 3%” โดยผู้ให้บริการสามารถพิจารณากำหนดในอัตราที่ต่ำกว่า 3% ได้ เช่น ถ้าอัตราดอกเบี้ยตามสัญญา คือ 8% เมื่อลูกหนี้ผิดนัด ผู้ให้บริการบวกเพิ่ม 1% รวมเป็น 9% เนื่องจากเป็นลูกหนี้ที่อัตราดอกเบี้ยตามสัญญาไม่สูงมากนัก และมีประวัติการชำระหนี้ที่ดีกับผู้ให้บริการมาโดยตลอด ฯลฯ...นี่คือการปฏิวัติครั้งสำคัญที่มีผลกับคนไทยทุกคนอีกเช่นกัน
หลักคิดสำคัญในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้คือ ดอกเบี้ยผิดนัดต้องต่างจากดอกเบี้ยตามสัญญาบ้างเพื่อจูงใจให้ลูกหนี้ชำระหนี้ตามกำหนด แต่ในอีกด้านหนึ่งไม่ได้หมายความว่า ต้องกำหนดดอกเบี้ยผิดนัดให้สูงมากอย่างที่ผ่านมา
พูดง่ายๆ คือการกำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ จะคำนึงถึงภาระที่เกิดขึ้นจากการที่ผู้ให้บริการต้องติดตามหนี้ที่ค้างชำระ ควบคู่กับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ด้วย (affordability risk) ซึ่งสอดคล้องกับหลักคิดของ FCA (Financial Conduct Authority) ที่เป็นหน่วยงานกำกับดูแลในประเทศอังกฤษ เพราะหากเจ้าหนี้เรียกเก็บยอดที่สูงเกินไปจนลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้และส่งผลให้เกิดเป็นหนี้เสีย เจ้าหนี้ก็ต้องฟ้องศาล หรือไม่ก็ยึดทรัพย์ของลูกหนี้ขายทอดตลาด ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาดำเนินการและผลที่ได้อาจไม่คุ้มเสีย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ การกำหนดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ต้องสะท้อนความเสียหายจริงที่เกิดขึ้นกับเจ้าหนี้ และการที่กำหนดดอกเบี้ยปรับที่สูงเกินไป อาจเป็นต้นตอที่ทำให้ลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ได้ ดังหลายกรณีเป็นอุทาหรณ์ให้เห็นว่า แทนที่ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ในอัตราที่สูงหรือแพงมากๆ จะช่วยให้ลูกหนี้มีวินัย แต่ในข้อเท็จจริงพบว่า ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ที่สูงลิ่วกลับกลายเป็นปัจจัยที่ทำให้ลูกหนี้ชำระหนี้ไม่ได้
นอกจากนี้ ที่ผ่านมาเมื่อพูดถึงการผิดนัด เรามักนึกถึงแต่ลูกหนี้ที่ไม่สุจริต จนอาจลืมไปว่ามีลูกหนี้จำนวนมากที่ไม่ตั้งใจจะผิดนัดชำระหนี้ แต่จ่ายหนี้ได้ไม่ครบเพราะกำลังเดือดร้อนจริง ๆ ยิ่งในช่วง covid-19 ยิ่งเห็นชัด การที่คิดดอกเบี้ยผิดนัดมาก ๆ ยิ่งเป็นการซ้เติมปัญหา ทำให้ไม่สามารถจ่ายหนี้งวดต่อไปได้
ถ้ายังไม่เห็นรูปธรรม มาดูแนวทางการคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้แบบใหม่
จากตัวอย่าง การกู้ซื้อบ้าน 5 ล้านบาท ผ่อนชำระ 20 ปี (240 งวด) จ่ายชำระปกติมา 2 ปี (24 งวด) งวดที่ 25 ลูกหนี้จะต้องจ่าย 42,000 บาท (ในจำนวนนี้แยกเป็นการจ่ายเงินต้น 10,000 บาท และจ่ายดอกเบี้ย 32,000 บาท) เกิดติดขัดผ่อนไม่ไหว แต่เดิมนั้นดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้จะคิดจากฐานของเงินต้นคงค้างทั้งหมด คือ งวดที่ 25 – งวดที่ 240 ซึ่งเหลือยู่ประมาณ 4.77 ล้านบาท
แต่ตามประกาศฉบับใหม่ของธปท.นั้น ภาระของลูกหนี้จะถูกคิดบนฐานของเงินต้นที่ผิดนัดจริงในงวดที่ 25 คือ 10,000 บาท เท่านั้น ไม่รวมเงินต้นในงวดที่ 26 – งวดที่ 240 ซึ่งเป็นงวดในอนาคตที่ยังมาไม่ถึง...
การคิดดอกเบี้ยค้าชำระแบบเดิมดอกเบี้ยที่ นาย ก. จะต้องจ่ายสำหรับงวดที่ 25 ที่ค้างชำระ จะประกอบด้วย 2 ส่วน กล่าวคือ
1) ดอกเบี้ยปกติที่คำนวณจากเงินต้นส่วนที่เหลือ ดังนี้
ดอกเบี้ยปกติ = จำนวนเงินต้นที่เหลือ x อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตามที่ระบุในสัญญา x จำนวนวันที่ค้างชำระ
โดยตามตัวอย่างเดิม ดอกเบี้ยตามสัญญาในงวดที่ 25 คิดเป็นยอด 32,000 บาท
2) ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ (ที่ต้องจ่ายเพิ่ม) สำหรับงวดที่ 25 ตามแนวทางใหม่ จะมีวิธีคำนวณ ดังนี้
ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ (ที่ต้องจ่ายเพิ่ม) = เงินต้นของค่างวดที่ผิดนัดชำระ x อัตราส่วนเพิ่ม 1% ถึง 3%x จำนวนวันที่ค้างชำระ
จากตัวอย่างข้างต้น งวดที่ 25 จะมีดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ (ที่ต้องจ่ายเพิ่ม) คำนวณจาก 10,000 x 1% x 30/365
คิดเป็นยอด 8.22 บาทเท่านั้น
ดังนั้น ในงวดที่ 25 มีดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายชำระทั้งหมด 32,000 + 8.22 = 32,008.22 บาท....ต่ำกว่าเดิมหลาบร้อยเท่าพันทวีเชียวแหละพี่น้องลูกหนี้เอ๋ย
ถ้าเปรียบเทียบแนวปฏิบัติที่ผ่านมากับแนวใหม่ที่ได้ปรับปรุงเรื่องฐานและอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้จะเห็นว่า ดอกเบี้ยผิดนัดส่วนเพิ่มแบบเดิมที่สถาบันการเงินเคยคิดนั้นจะสูงถึง 27,443.84 บาท ในขณะที่การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระแบบใหม่ลดลงเหลือเพียงแค่ 8.22 บาท ดูเผิน ๆอาจจะดูน้อย แต่ถ้าดูในรายละเอียดจะเห็นว่า ลูกหนี้ยังต้องจ่ายดอกเบี้ยตามสัญญาอีก 32,000 บาท รวมเป็น 32,008.22 บาท
ในขณะที่แบบเดิมมีจำนวนดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายทั้งสิ้นสูงถึง 59,443.84 บาท
การปรับปรุงในครั้งนี้ช่วยให้ลูกหนี้ที่ไม่ตั้งใจจะผิดนัดชำระหนี้ที่ พยายามจ่ายชำระหนี้มีโอกาสผิดนัดน้อยลง และจะทำให้แรงจูงใจในระบบการเงินโดยรวมมีความสมดุลมากขึ้น การฟ้องร้องดำเนินคดีจะลดลงได้
ถ้ายึดตามกรณีตัวอย่าง แต่เดิมเมื่อลูกหนี้ผิดนัด ถ้าฟ้องเจ้าหนี้จะได้ดอกเบี้ยผิดนัด 15% ตามประกาศใหม่ได้แค่ 9% เจ้าหนี้จะไตร่ตรองมากขึ้นว่าการฟ้องร้องจะคุ้มค่าหรือไม่ และหันหน้ามาเจรจาหาทางออกร่วมกันน่าจะเป็นการดีกับทุกฝ่ายมากกว่า
อย่างไรก็ดี ถึงแม้การคำนวณด้วยวิธีใหม่นี้จะช่วยบรรเทาภาระของลูกหนี้ได้บ้าง แต่อย่าลืมว่าเมื่อเป็นหนี้ เรามีหน้าที่ต้องชำระหนี้ เพราะหากค้างชำระนานวันเข้า ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ก็จะพอกพูนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามจำนวนวันที่จ่ายไม่ตรง จ่ายไม่ครบนั่นเอง
นอกจากนี้ ยังเป็นเหตุให้เจ้าหนี้มีสิทธิตามกฎหมายในการบอกเลิกสัญญา หรือฟ้องศาลเพื่อบังคับให้ลูกหนี้ชำระหนี้คืนทั้งจำนวนได้อีกด้วย รวมทั้งยังส่งผลกระทบต่อประวัติในข้อมูลเครดิตของผู้ที่เคยผิดนัดชำระหนี้ ที่ไม่เพียงแต่จะทำให้การกู้ยืมยากขึ้น แต่ดอกเบี้ยในการกู้ยืมก็จะสูงขึ้นด้วยเนื่องจากมีประวัติที่ไม่ดีและมีความเสี่ยงสูงในสายตาเจ้าหนี้นั่นเอง