บรรทัดฐานใหม่ในการคิดดอกเบี้ยค้างชำระของประเทศที่เป็นปัญหามายาวนาน จนบรรดาลูกหนี้จ่ายดอกเบี้ยกันหัวโต แต่ยังไม่สามารถตัดหนี้ค้างจ่าย ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยค้างจ่ายให้หมดไปได้ กำลังเป็นรูปธรรมใหม่ในประเทศ เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกประกาศแก้ปมการทำนาบนหลังลูกหนี้ 3 แนวทาง
1. ให้คิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้บนฐานเงินต้นที่ผิดนัดจริงเท่านั้น ไม่ให้รวมส่วนของเงินต้นค่างวดในอนาคตที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ ซึ่งต่างจากเดิมก็คือหากมีการผิดนัดชำระหนี้เพียงงวดเดียว ผู้ที่ให้บริการสามารถคิดดอกเบี้ยได้จากเงินต้นคงค้างทั้งหมด ทำให้มูลค่าดอกเบี้ยผิดนัดสูงมาก
2. การกำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ตามสัญญาจะบวกได้ไม่เกิน 3% ถ้าอัตราดอกเบี้ยตามสัญญาอยู่ที่ 8% ผู้ให้บริการทางการเงินจะคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระไม่ได้เกิน 11% โดยต้องคำนึงถึงประวัติการชำระหนี้ที่ผ่านมาด้วย จากเดิมจะคิดดอกเบี้ยสูงสุดอยู่ที่ 15%, 18%, 22% เพราะการคิดอัตราดอกเบี้ยผิดชำระที่สูงเกินสมควรจะทำให้ลูกหนี้ ที่ไม่ได้ตั้งใจจะผิดนัด ไม่สามารถจ่ายหนี้ได้ อัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้จึงควรคำนึงถึงความสามารถในการชำะหนี้ของลูกหนี้ด้วย
3. การกำหนดลำดับการตัดชำระหนี้ ให้ตัดค่างวด ที่ชำระนานที่สุดเป็นลำดับแรก เพื่อให้ลูกหนี้ทราบลำดับการตัดหนี้ที่ชัดเจน และช่วยลดเงินต้นได้มากขึ้น จากเดิมที่จะทำการตัดชำระหนี้แบบแนวตั้ง ผ่านการตัดค่าธรรมเนียมที่ค้างชำระทั้งหมด ตัดดอกเบี้ยที่ค้างชำระทั้งหมด แล้วค่อยตัดเงินต้น แต่แบบใหม่เป็นการตัดชำระหนี้แบบแนวนอน เป็นการตัดค่าธรรมเนียม, ดอกเบี้ย รวมไปถึงเงินต้นของยอดค้างชำระที่เก่าสุดก่อน แล้วค่อนตัดยอดที่ค้างชำระลำดับมา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ปฏิวัติ “ดอกเบี้ยผิดนัด” แก้ “ตัดจ่ายหนี้ไม่เป็นธรรม” (2)
ปฏิวัติ “ดอกเบี้ยผิดนัด” แก้ “ตัดจ่ายหนี้ไม่เป็นธรรม”
ไชโย! ล้างดอกเบี้ยผิดนัด การตัดจ่ายหนี้ให้เป็นธรรม
แนวทางทั้ง 3 เรื่องถือเป็นการปฏิวัติวิธีการคิดดอกเบี้ยจากลูกหนี้ทั่วประเทศที่ไร้ทางออกให้มีลมหายใจเพิ่มขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาหากลูกค้าค้างชำระ 3 งวด เมื่อนำเงินมาจ่ายสถาบันการเงินก็ตัดดอกเบี้ยผิดนัดก่อนแล้วค่อยไปตัดดอกเบี้ย 3 งวด โดยหากมีเงินเหลือค่อยไปตัดเงินต้น 3 งวดหลังสุด แต่วิธีใหม่จะตัดพร้อม ๆ กัน ทั้งดอกเบี้ยผิดนัด ดอกเบี้ยปกติ และเงินต้น
การกำหนดลำดับการตัดชำระหนี้แบบนี้ ทำให้ลูกหนี้รู้ว่าเมื่อชำระหนี้ เงินที่จ่ายจะนำไปตัดหนี้ส่วนใดก่อนหลัง
แนวปฏิบัติเดิมนั้น เงินที่ลูกหนี้จ่ายเข้ามาจะนำไปตัดค่าธรรมเนียมทั้งหมด ตามด้วยดอกเบี้ยทั้งหมดก่อน แล้วส่วนที่เหลือจึงจะนำไปตัดเงินต้น เรียกว่า “การตัดชำาระหนี้แบบแนวตั้ง”
ตัวอย่างเช่น ลูกหนี้มีค่างวดที่ต้องจ่ายเดือนละ 10,300 บาท แบ่งเป็น ค่าธรรมเนียม 300 บาท ดอกเบี้ย 4,000 บาท และเงินต้น 6,000 บาท ลูกหนี้ค้างชำระ 3 เดือน รวม 30,900 บาท เดือนที่ 4 เริ่มพอที่จะหาเงินได้และกลับมาจ่าย 10,300 บาท
วิธีการตัดชำระหนี้แบบเดิมในแนวตั้ง จะไปหักค่าธรรมเนียมทั้งหมด 900 บาทก่อน ส่วนที่เหลืออีก 9,400 บาท สถาบันการเงินจะนำไปตัดดอกเบี้ยค้าง ซึ่งสามารถตัดชำระดอกเบี้ยค้างรำระได้เพียงบางส่วนเท่านั้น เพราะดอกเบี้ยค้าง 3 งวด รวมเป็น 12,000 บาท ทำให้ในงวดที่ 4 แม้ลูกหนี้จ่ายเข้ามา 10,300 บาท เงินที่จ่ายเข้ามา จะไม่สามารถนำไปตัดหนี้เงินต้นได้เลย…
อย่างไรก็ตาม ตามประกาศฉบับใหม่ของธนาคารแห่งประเทศไทยนี้จะกำหนดให้ “ตัดชำระหนี้แบบแนวนอน” กล่าวคือ ให้สถาบันการเงินนำเงินที่ลูกหนี้นำมาชำระเข้ามาไปจ่ายค่าธรรมเนียม ดอกเบี้ย และเงินต้น ในงวดที่ค้างชำระนานที่สุดก่อน
เพื่อให้เห็นภาพ จากตัวอย่างที่กล่าวข้างต้น เมื่อลูกหนี้ชำระเงินค่างวด 10,300 บาท ก็จะถูกนำไปตัดจ่ายค่าธรรมเนียม ดอกเบี้ย และเงินต้น ของงวดที่ 1 ก่อนจนครบก่อน และทำให้มียอดค้างชำระจริงเหลือเพียง 2 งวด
การปรับปรุงวิธีการตัดจ้ายหนี้ค้างชำระรูปแบบนี้ จะช่วยเพิ่มโอกาสให้เงินงวดที่ลูกหนี้ผ่อนในแต่ละเดือน สามารถตัดถึงเงินต้นได้มากขึ้น และช่วยลดการเกิดปัญหาหนี้เสีย NPL รวมทั้งจะช่วยให้ลูกหนี้มีกำลังใจในการจ่ายหนี้ต่อเนื่อง และช่วยให้ประวัติการผ่อนชำระหนี้ของลูกหนี้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงมากขึ้น
มีคำถามว่า การแก้วิธีการตัดชำระหนี้ที่ค้างชำระแบบนี้จะมีผลกระทบในภาพรวมอะไรบ้าง และประกาศฉบับนี้จะทำให้ลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้มากขึ้น หรือไม่?
การจะตอบคำถามนี้ได้นั้น อาจต้องพิจารณาจากปัจจัยหลาย ๆ อย่างที่เกิดขึ้นจากการผิดนัดชำระหนี้ร่วมด้วย ดอกเบี้ยปรับที่เพิ่มขึ้นจากดอกเบี้ยปกตินั้น ไม่ใช่ผลกระทบด้านลบเพียงเรื่องเดียว ที่ลูกหนี้ที่ผิดนัดชำระหนี้จะต้องเจอ
แต่ลูกหนี้จะมีรายจ่ายที่มากขึ้นจากค่าทวงถามหนี้ที่จะถูกเรียกเก็บในเดือนถัดไป และการผิดนัดชำระหนี้จะส่งผลเสียต่อประวัติการผ่อนชำระของลูกหนี้ในฐานข้อมูลเครดิต (Credit Bureau) ซึ่งข้อมูลการผิดนัดชำระหนี้นี้ จะปรากฏและคงค้างอยู่ในฐานข้อมูลเครดิต 3 ปี และจะส่งผลกระทบต่อการขอกู้ในอนาคตที่ทำให้การขอกู้ยากขึ้น หรือมีโอกาสที่จะขอกู้ไม่ผ่าน เนื่องจากผู้ให้บริการจะตรวจสอบข้อมูลเครดิตบูโร เพื่อใช้พิจารณาประกอบการให้กู้ด้วย รวมทั้งการมีประวัติผิดนัดชำระหนี้อาจทำให้อัตราดอกเบี้ยสำหรับการกู้ครั้งใหม่มีอัตราที่สูงขึ้น เนื่องจากผู้ให้บริการมองว่า ลูกหนี้มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ ต้องไม่ลืมว่า หากค้างชำระหนี้นาน ผู้ให้บริการสามารถฟ้องร้องลูกหนี้เพื่อให้ชำระหนี้คืนได้ หรืออาจทำให้ลูกหนี้ถูกตัดสินให้เป็นบุคคลล้มละลาย
ประเด็นสำคัญอีกเรื่องที่ควรคำนึงถึง คือ การที่ลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้อาจไม่ได้มีสาเหตุจากการจงใจที่จะไม่จ่ายชำระหนี้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น เนื่องจากการผิดนัดชำระหนี้ส่งผลกระทบ ไม่เพียงแค่เรื่องดอกเบี้ยที่จะเรียกเก็บสูงขึ้นแต่ยังมีภาระค่าใช้จ่ายทวงถามหนี้ รวมทั้งประวัติในเครดิตบูโร ดังที่ได้อธิบายไปข้างต้น
แต่ในความเป็นจริงแล้ว ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ลดลง หรือไม่มีกำลังเพียงพอที่จะจ่ายค่างวดได้ตามที่เคยคาดไว้ (Affordability Risk) ซึ่งอาจเกิดจากหลายปัจจัย อาทิ ปัญหาภาวะเศรษฐกิจทำให้รายได้ลดลง ในกรณีเช่นนี้การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้แบบใหม่ ที่เรียกเก็บยอดปรับไม่สูงเกินไป นอกจากจะมีความเป็นธรรมมากขึ้นแล้วอาจช่วยให้การผิดนัดชำระหนี้ในภาพรวมลดลง
เพราะภาระดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ที่เรียกเก็บเป็นยอดที่น้อยลงจากเดิมมากเมื่อเทียบกับในอดีต
ดังนั้น หากลูกหนี้มีการผิดนัดชำระหนี้ ค่างวด และภาระดอกเบี้ยผิดนัดชำระนี้ที่ต้องจ่ายเพิ่มก็ไม่เป็นภาระสำหรับลูกหนี้จนเกินไป ทำให้ลูกหนี้ยังคงมีแรงจูงใจในการจ่ายชำระหนี้คืน เพราะมองเห็นแสงสว่างในปลายอุโมงค์ว่า ตนเองจะสามารถชำระหนี้ได้
คำถามประการต่อมาคือ คนไทยได้อะไรจากประกาศฉบับนี้ที่มีการแก้ไขยอดเงินที่ตัดชำระหนี้ค้างจ่าย?
ขอชี้แจงว่า การออกประกาศของ ธปท. ในครั้งนี้ ถือเป็นเปลี่ยนแปลงใหญ่ในแนวปฏิบัติเรื่องการคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้และการกำหนดลำดับการตัดชำระหนี้ให้สอดคล้องกับแนวปฏิบัติที่ดีในต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยลดโอกาสการเกิดหนี้เสียหรือหนี้ด้อยคุณภาพของระบบโดยรวม และช่วยให้กลุ่มลูกหนี้ที่ไม่ตั้งใจจะผิดนัดชำระหนี้ให้สามารถจ่ายชำระหนี้ได้
เนื่องจากดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้จะไม่สูงเกินสมควร จนทำให้ลูกหนี้จ่ายหนี้ไม่ได้ รวมทั้งแรงจูงใจในระบบการเงินมีความสมดุลมากขึ้น และช่วยลดการฟ้องร้องดำเนินคดี อีกทั้งการปรับปรุงการคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ให้คำนวณจากฐานของงวดที่ผิดนัดจริง ก็จะช่วยทำให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายมากขึ้น และจะส่งผลทำให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นต่อระบบการเงินของไทยในภาพรวม
คำถามต่อมาคือ ประกาศฉบับนี้จะมีผลเมื่อใด? ลูกหนี้ต้องไปขอเปลี่ยนสัญญาหรือไม่?
ประกาศฉบับนี้จะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 ยกเว้นเรื่องลำดับการตัดชำระหนี้ที่จะเริ่มใช้วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 เนื่องจากผู้ให้บริการต้องใช้เวลาในการปรับปรุงระบบงาน
สำหรับการใช้ฐานของงวดที่ผิดนัดชำระหนี้จริงมาคำนวณ ธปท. ได้มีหนังสือเวียนไปตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2563 สถาบันการเงินและนอนแบงก์ได้ปรับมาใช้เกณฑ์ใหม่ในการคำนวณแล้ว
ดังนั้น ประชาชนและผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs จะได้รับสิทธิตามที่ประกาศฉบับนี้กำหนดโดยอัตโนมัติ ไม่ต้องลำบากเดินทางไปที่สาขา เพื่อแก้ไขสัญญาแต่อย่างใด
สำหรับการผิดนัดชำระหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 1 เมษายน 2564 ผู้ให้บริการสามารถนำหลักการตามประกาศฉบับใหม่มาใช้พิจารณายกเว้นหรือผ่อนปรนดอกเบี้ยผิดนัดให้แก่ลูกหนี้ได้ตามสมควร
ดีมั้ย ดีมั้ย ขอบอกว่า ดีมากๆ เราควรขอบคุณธนาคารชาติที่ตื่นมาแก้ปัญหาการทำนาบนหลังคน