ถือเป็นการเดินมาถูกที่รัฐบาลตัดสินใจเปิดประเทศ รับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เริ่มระยะแรกตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนนี้เป็นต้นไป นำร่องใน 6 จังหวัดท่องเที่ยวได้แก่ ภูเก็ต กระบี่ พังงา สมุย พัทยา เชียงใหม่ แต่มีเงื่อนไข ต้องเป็นนักท่องเที่ยวที่ฉีดวัคซีนแล้ว และยอมรับการกักตัวในโรงแรมเหลือ 7 วัน ส่วนนักท่องเที่ยวที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน จะกักตัว 10 วัน ยกเว้นนักท่องเที่ยวจากทวีปแอฟริกาที่ยังคงต้องกักตัว 14 วันอยู่เหมือนเดิม
ระยะที่ 2 เริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-กันยายน 2564 นักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฉีดวัคซีนครบ 2 โดส เข้าไทยที่ปลายทางจังหวัดภูเก็ต ภายใต้โมเดล “ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์” ไม่ต้องถูกกัก แต่ต้องอยู่ในภูเก็ตให้ครบ 7 วันก่อน ถึงจะสามารถเดินทางไปยังพื้นที่อื่นๆ ได้ และจะนำโมเดลดังกล่าวนี้ ขยายไปพื้นที่อีก 5 จังหวัดที่เหลือต่อไป
ระยะที่ 3 เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม-ธันวาคม 2564 เป็นการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแบบไม่กักตัว ในพื้นที่จังหวัดนำร่อง ได้แก่ กระบี่ พังงา สมุย พัทยา (ชลบุรี) และ เชีงใหม่
มาถึงระยะที่ 4 เดือนมกราคม 2565 เปิดประเทศรับต่างชาติที่ฉีดวัคซีนแล้วไม่ต้องกักตัวในทุกพื้นที่ได้แต่อยู่ภายใต้เงื่อนไขว่าประชาชนในพื้นที่ต้องได้รับการฉีดวัคซีนแล้วไม่ต่ำกว่า 70%
รัฐบาลคาดหวังว่า การเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติตั้งแต่เดือนเมษายน-มิถุนายนนี้ จะมีเที่ยวบินเช่าเหมาลำมาเที่ยวใน 6 จังหวัดนำร่องนี้ รวมกว่า 1 แสนคน ส่วนใหญ่เป็นรัสเซีย สแกนดิเนเวีย อังกฤษ เยอรมัน และคาดดว่าจากการนำร่องเปิดประเทศดังกล่าว จะส่งผลให้ตลอดทั้งปี 2564 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาเที่ยวไทย 6.5 ล้านคน หรือนำรายได้เข้าได้ประมาณ 3.5 แสนล้านบาท
อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายยังมีความเป็นห่วง ถึงมาตรการเตรียมพร้อมในการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวครั้งนี้ ว่าจำนวนวัคซีนที่รัฐบาลจัดหามา จะเพียงพอต่อการจัดฉีดวัคซีนให้กับประชากรทั้ง 6 จังหวัด ไม่ตํ่ากว่า 70% ของประชากรในแต่ละพื้นที่ได้หรือไม่ เพราะยังมีข้อจำกัดในการจัดหา และการกระจายวัคซีนไปไม่ทั่วถึง แม้ว่ารัฐบาลจะมีแผนการนำเข้าวัคซีนของปีนี้ที่ 65 ล้านโดส แล้วก็ตาม
สะท้อนให้เห็นได้จาก ผลการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารที่เป็นสมาชิกของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ชี้ให้เห็นว่า ยังมีความกังวลต่อการบริหารจัดการวัคซีน ที่ยังมีความล่าช้าและมีจำนวนไม่เพียงพอ เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ
มีการเสนอทางออกว่า รัฐบาลควรเร่งรัดจัดซื้อ และอนุญาตนำเข้าวัคซีนให้เพียงพอ รวมทั้งการเปิดให้โรงพยาบาลเอกชนสามารถนำเข้าวัคซีน ที่ได้รับการอนุญาตจากองค์การอาหารและยา (อย.) มาให้บริการแก่ประชาชนได้ โดยภาครัฐออกมาตรการส่งเสริมให้เอกชนสั่งซื้อวัคซีนที่ขึ้นทะเบียนกับ อย. มาฉีดให้แก่แรงงาน เช่น การนำค่าวัคซีนไปหักค่าใช้จ่ายได้ 2 เท่า การสนับสนุนค่าใช้จ่าย 50% ให้แก่สถานประกอบการ
จึงมองว่า การบริหารจัดการวัคซีนของรัฐบาลจะต้องมีการปรับแผนให้กระจายทั่วถึงโดยเร็ว เพื่อรองรับการเปิดประเทศดังกล่าว ซึ่งจะเป็นการช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับคนในประเทศ และต่างชาติที่จะเข้ามาได้มากยิ่งขึ้น ก่อนจะนำไปสู่การเปิดประเทศได้ 100 % ได้ในเดือนมกราคม 2565