ต้องถือว่ารวดเร็วทันใจ การประชุมครม. 5 พ.ค.2564 ที่ผ่านมามีมติเห็นชอบ แผนเยียวยาฟื้นฟูเศรษฐกิจสังคมจากผลกระทบการระบาดโควิด-19 รอบเม.ย. รวม 6 มาตรการทันที หลังจากที่นายกรัฐมนตรีกำชับในที่ประชุมทีมเศรษฐกิจเมื่อ 2 วันก่อนหน้านั้น ให้หน่วยงานที่พร้อมเสนอมาตรการให้ครม.พิจารณาอนุมัติโดยด่วน
6 มาตรการเยียวยาฟื้นฟูเศรษฐกิจสังคมรอบนี้ ประกอบด้วย 1. โครงการเราชนะ 32.9 ล้านคน เพิ่มวงเงิน 2,000 บาท 2.โครงการ ม.33 เรารักกัน 9.29 ล้านคน เพิ่งวงเงิน 2,000 บาท 3.โครงการคนละครึ่งเฟส 3 จำนวน 4 ล้านคน โดยรัฐจะสมทบให้คนละ 3,000 บาท
4.โครงการยิ่งใช้ ยิ่งได้ คาดเข้าร่วม 31 ล้านคน สนับสนุน E-Voucher สูงสุด 7,000 บาท กระตุ้นการจับจ่าย 5.เพิ่มเงินบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 13.65 ล้านคน คนละ 1,200 บาท และ 6.เพิ่มกำลังซื้อกลุ่มเปราะบาง คนละ 1,200 บาท จำนวน 2.5 ล้านคน รวมถึงการลดภาระค่าน้ำประปา-ไฟฟ้า
สำหรับภาคธุรกิจ ให้ออมสินและ ธ.ก.ส. ปล่อยสินเชื่อสู้ภัยโควิด-19 เพิ่มสภาพคล่องชั่วคราวผู้มีรายได้ประจำ กลุ่มอาชีพอิสระ เกษตรกรรายย่อย ลูกจ้างภาคเกษตร วงเงินคนละไม่เกิน 10,000 บาท ดอกเบี้ยไม่เกิน 0.35% ต่อเดือน โดยไม่ต้องมีหลักประกัน ปลอดเงินต้น-ดอกเบี้ย 6 งวดแรก ระยะเวลากู้ 3 ปี โดยจะปล่อยกู้ธนาคารละ 10,000 ล้านบาท รวม 20,000 ล้านบาท เป้าหมาย 1 ล้านราย ครม.อนุมัติวงเงิน 10,000 ล้านบาท ชดเชยความเสียหายจาก NPLs ไม่เกินครึ่งหนึ่งของสินเชื่อที่ธนาคารอนุมัติ
ที่หน่วยงานสามารถเสนอมาตรการให้ครม.อนุมัติอย่างรวดเร็ว เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นการต่อยอดจากมาตรการที่ใช้อยู่เดิม อาทิ โครงการเราชนะ ม.33 เรารักกัน คนละครึ่ง เพียงแต่ปรับวงเงินที่จะเยียวยาใหม่ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์และตามเม็ดเงินที่มีอยู่ โดยบริหารเวลาในการ “ใส่เม็ดเงิน” ให้ทะยอยเข้าระบบเศรษฐกิจเป็นระยะ ต่อเนื่องกันตั้งแต่ตอนนี้ไปถึงปลายปี ตามข้อกำหนดของแต่ละมาตรการ
จะเห็นได้ว่ามาตรการแทบทั้งหมดเป็นการพยุงกำลังซื้อ ต่อลมหายใจประชาชนประคองตัวให้ผ่านวิกฤติโควิดรอบเม.ย. โดยใน 6 มาตรการที่อนุมัติล่าสุดนี้คาดต้องใช้เม็ดเงินรวมที่ 2.5 แสนล้านบาท ทำให้วงเงินกู้ 1ล้านล้านที่มีอยู่แทบหมดเกลี้ยง แต่การอนุมัติอย่างฉับไว ก็ช่วยคลายความวิตกกังวลของผู้คน ที่จมดิ่งในวิกฤติโควิด-19 ให้คงความหวังที่จะก้าวผ่านวิกฤตไปด้วยกัน
เมื่อการระบาดเชื้อโควิด-19 มีแนวโน้มคลี่คลาย อยู่ในสถานการณ์ที่ควบคุมได้ รวมถึงผลจากการระดมฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ที่จะเริ่มปูพรมตั้งแต่มิ.ย.2564 นี้เป็นต้นไป สถานการณ์โรคระบาดอยู่ในความควบคุม และประเมินความเสียหายต่าง ๆ ได้ชัดเจนแล้ว มาตรการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจสังคมครั้งใหญ่ต้องมีมาเพิ่มเติมอีกครั้ง แม้จะต้องใช้เงินกู้เพิ่มเติมหากเป็นประโยชน์ก็ต้องทำ เพื่อให้เรากลับมาแข็งแรงและพร้อมแข่งขันอีกครั้งในโลกหลังโควิด