"เหล็ก” เป็นวัตถุดิบสำคัญในหลากหลายอุตสาหกรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมการก่อสร้าง ซึ่งไทยยังไม่มีการผลิตในอุตสาหกรรมเหล็กต้นนํ้า ทำให้ต้องนำเข้าเหล็กต้นนํ้า 100% และขณะนี้ราคาเหล็กสูงขึ้นมาก
ปัจจุบัน จีน เป็น เบอร์หนึ่งของโลกทั้งในแง่การผลิตและการส่งออกเหล็ก โดยจีนผลิต 70% ตามชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก มณฑลเหอเป่ย (Hebei) อยู่ทางตอนเหนือติดกับกรุงปักกิ่งและมณฑลซานตง ถือได้ว่าเป็น “เมืองหลวงเหล็กของจีน” มีกำลังการผลิตมากกว่า 100 ตันต่อปี
ตลาดส่งออกหลักของจีนอยู่ที่อาเซียน (สัดส่วน 33% ของการส่งออกเหล็กจีน) เพราะความต้องการเหล็กอาเซียนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 30 ล้านตันในปี 2553 เป็น 78 ล้านตันในปี 2559 และ 80 ล้านตันในปี 2562 (SEAISI) แต่โควิด-19 ทำให้ความต้องการลดลงเหลือ 79 ล้านตันในปี 2563 และหลังวันที่ 23 มี.ค. 2561 ที่สหรัฐอเมริกาเก็บภาษีเหล็กจากจีน 25% ทำให้เหล็กจีนไม่สามารถขายให้สหรัฐฯ ได้ ก็ต้องส่งไปอาเซียน โดยมี เวียดนามเป็นตลาดอันดับหนึ่งของจีน
ทั้งนี้ มี “6 ปัจจัยที่ทำให้อุตสาหกรรมเหล็กจีนผลิตยึดตลาดโลก” คือ
1. เป็นอุตสาหกรรมหลักในแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ฉบับที่ 1 (1953-1957)
2.การพัฒนาอุตสาหกรรมของจีนก้าวกระโดดทำให้มีความต้องการเหล็กเพิ่ม
3.นโยบายการสร้างเมือง (Urbanization)
4.การเข้าเป็นสมาชิก WTO ของจีนตั้งแต่ 1 ธ.ค. 2001 เป็นแรงส่งให้เหล็กจีนไปขายในตลาดโลกเพิ่มขึ้นอีก
5. บริษัทผลิตเหล็กส่วนใหญ่เป็นรัฐวิสาหกิจจึงได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีน และ
6.เหล็กจีนมีราคาถูก
ข้อมูลของ “Steelbenchmarker” รายงานว่าราคาเหล็กของจีนทุกประเภท เช่น เหล็กแผ่นรีดร้อน เหล็กแผ่นรีดเย็นชนิดม้วน และเหล็กแผ่น “ถูกกว่าราคาเหล็กสหรัฐฯ 50%” ในขณะที่ “เวียดนามเป็นเบอร์หนึ่งอุตสาหกรรมเหล็กของอาเซียน” ปี 2561 เวียดนามผลิตเหล็ก 14.5 ล้านตันต่อปี (ความต้องการ 22 ล้านตันต่อปี) และคาดว่าผลิต 66 ล้านตันในปี 2578 การผลิตเหล็กเวียดนามเพิ่มสูงเพราะเวียดนามมีนโยบายให้มี “การผลิตเหล็กต้นนํ้า”
สำหรับอาเซียน สามารถผลิตเหล็กได้เพียงปีละ 42 ล้านตัน (2561) ในขณะที่ความต้องการปีละ 80 ล้านตัน เลยต้องนำเข้าจากเวียดนามและจีนเพิ่มขึ้นทุกปี
หันมาดูสถานการณ์ราคาเหล็กโลกกันบ้าง “ราคาเหล็กในประเทศจีน” เพิ่มขึ้นทุกชนิด เดือนเมษายน ปี 2563 กับ 2564 ราคาแผ่นรีดร้อน (Hot Roll Coil : HRC) เพิ่มขึ้น 84% (จาก 462 เป็น 851 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน ) และแผ่นรีดเย็น (Cool Roll Coil : CRC) เพิ่มขึ้น 74% (จาก 529 เป็น 922 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน) ในขณะที่เหล็กเส้น (Rebar) เพิ่มขึ้น 55% (จาก 485 เป็น 751 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน) และเหล็กแท่งยาว (Billet) เพิ่มขึ้น 80% (จาก 432 เป็น 777 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน) และเหล็กลวดเพิ่มขึ้น 73% (จาก 471 เป็น 814 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน)
ในขณะที่ “ราคาเหล็กในประเทศไทย” พบว่า
“7 ปัจจัย” ที่ทำให้ราคาเหล็กปรับตัวสูงขึ้น คือ
1.ดัชนีเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวชัดเจน ทั้งดัชนีความเชื่อมั่น (confidence Index) ดัชนีการลงทุน (capital expenditure index) ดัชนีคำสั่งซื้อสินค้า (order index) และดัชนีการจ้างงาน (employment index) ก็ปรับขึ้นใน Q1/2021
2.เศรษฐกิจประเทศที่พัฒนาแล้วฟื้น ใน Q1/2021 ขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 4.3% จากเดิมที่ติดลบใน Q4/2020 เศรษฐกิจจีนขยายตัว 18.3% จาก Q4/2020 ที่ขยายตัว 6.5% และสหรัฐฯ ขยายตัว 6.4% จากที่ขยายตัว 4.3% ใน Q4/20
3. ยอดขายรถใหม่เพิ่มขึ้น ในตลาดยุโรป สหรัฐฯ ญี่ปุ่น อินเดีย โดยเฉพาะจีนเพิ่มขึ้น 76% รวมไปถึงยอดขายเครื่องใช้ไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ในตลาดจีนที่เพิ่มขึ้น เช่นกัน
4.มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ และจีน โดยสหรัฐฯ จำนวน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และจีน 506 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ
5.ดัชนีก่อสร้างโลกฟื้นตัวทุกประเทศ (Global Construction Activity Index) เป็น +14 ใน Q1/2021 เพิ่มจาก +3 ใน Q4/2020 “CO2 Impact” อุตสาหกรรมเหล็กจีนปล่อย CO2 มากที่สุด ปีละ 1,500 ล้านตัน (ปี 2020) สัดส่วน 20% รองจากอุตสาหกรรมพลังงงาน โดย 1 ตันของ CO2 มีความสูง 10 เมตรและมีปริมาตร 556 ลูกบาศก์เมตร ซึ่ง 1 ลูกบาศก์เมตร = 1,000 ลิตร ทำให้อุตสาหกรรมเหล็กต้องลดกำลังการผลิต ปี 2560 จีนผลิตเหล็กรวม 850 ล้านตัน (เป็น 50% ของโลก จากเดิมที่มีสัดส่วนเพียง 30%) เฉลี่ยเพิ่มขึ้นปีละ 33 ล้านตัน ปี 2561 ผลิต 886 ล้านตัน ความต้องการใช้ภายในประเทศ 810 ล้านตัน
6.รัฐบาลจีนต้องการลดกำลังการผลิตเหล็กเพราะถูกกดดันจากนานาประเทศด้วย 2 เหตุผล คือผลิตเหล็กราคาถูกมาทุ่มตลาด และ 2.ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยตั้งเป้าลดลงปีละ 150 ล้านตัน เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาดังกล่าว จีนจึงทำ 2 เรื่องคือย้ายฐานการผลิตเหล็กเข้าไปอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวียดนาม 2.เมืองถังชาน (Tangshan) “เมืองหลวงเหล็กของจีน” ห่างจากปักกิ่ง 200 กิโลเมตร อยู่ทางตอนเหนือของเหอเป่ย ลดกำลังการผลิต 30-50% (ผลิตปีละ 114 ล้านตัน) ใน 23 โรงงานถลุงเหล็กของปี 2021 เพราะจีนมีพันธะสัญญาว่า CO2 เป็นศูนย์ในปี 2060 ในขณะที่สหรัฐฯ และยุโรปเป้าหมายในปี 2050 และ
7.ข้อพิพาทการค้าจีนกับออสเตรเลีย จีนพึ่งแร่เหล็ก (Iron Ore) จากออสเตรเลีย 60% ราคาปรับขึ้น 114% (จากเมษายน 2563 อยู่ที่ 84 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน เป็น 180 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ในเมษายน 2564) ทั้ง 7 ปัจจัยจึงเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ราคาทั้งไทยและโลกปรับตัวสูงขึ้น
หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,686 วันที่ 10 - 12 มิถุนายน พ.ศ. 2564
ข่าวที่เกี่ยวข้อง