การเปิดจองฉีดวัคซีนโควิด-19 ทางเลือก (พรีออร์เดอร์) ของโรงพยาบาลเอกชนถูกส่งต่อในโลกโซเชียลจำนวนมาก ส่งผลให้หลายโรงพยาบาลไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลเมดพาร์ค,โรงพยาบาลกรุงเทพ โรงพยาบาลสมิติเวช โรงพยาบาลพญาไท เป็นต้น ต่างออกมายืนยันว่าไม่เป็นความจริงเพราะโรงพยาบาลยังไม่ได้สิทธิ์ในการนำเข้าวัคซีนแต่อย่างใด
ขณะที่สมาคมโรงพยาบาลเอกชนออกมายืนยันว่า วัคซีนทางเลือกคือวัคซีนที่โรงพยาบาลเอกชนเป็นผู้จัดซื้อเอง ซึ่งไม่ใช่วัคซีนบริษัทเดียวกับที่รัฐบาลจัดซื้อเพื่อฉีดให้ประชาชนฟรี ส่วนการสั่งซื้อของโรงพยาบาลเอกชน จะต้องเป็นไปในนามบริษัทที่จดทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แล้ว และเป็นการสั่งซื้อผ่านองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ในนามตัวแทนของรัฐบาล (ตามเงื่อนไขการขายให้ภาครัฐของผู้ผลิตวัคซีน) ซึ่งจะเป็นผู้ดำเนินการนำเข้าวัคซีนที่ผ่านการขึ้นทะเบียนกับอย.แล้ว ก่อนที่จะจัดสรรให้กับโรงพยาบาลเอกชนตามโควต้าที่กำหนด
ผู้บริหารโรงพยาบาลเอกชน รายหนึ่งกล่าวยืนยันกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า โรงพยาบาลเอกชนยังไม่ได้เปิดให้จองฉีดวัคซีนทางเลือกแต่อย่างใด ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มลูกค้าระดับใด ทั้งเมมเบอร์ VIP หรือแพลตทินั่ม หลายคนที่ได้รับการติดต่อสอบถามเป็นเพียงการสำรวจความต้องการของลูกค้า เพื่อกำหนดจำนวนวัคซีนที่ต้องการ และนำเสนอต่ออภ. เท่านั้น เพราะกระบวนการทำงานของอภ. จะสั่งนำเข้าวัคซีนตามความต้องการจริง จะไม่นำเข้าเกินกำหนดเพราะจะเป็นการสูญเสีย ดังนั้นโรงพยาบาลเอกชนแต่ละแห่งจะสำรวจความต้องการฉีดวัคซีน ยังไม่สามารถให้จองฉีดหรือกำหนดวันฉีดวัคซีนได้ เพราะยังไม่มีใครมีวัคซีนอยู่ในมือ
“ขณะนี้ยังตอบได้ไม่ชัดเจนว่าวัคซีนที่จะใช้ฉีดให้กับลูกค้าเป็นวัคซีนยี่ห้อใด เนื่องจากต้องรอภาครัฐเป็นผู้กำหนด”
ล่าสุด (5 พ.ค.) อย. ออกมายืนยันว่า ได้อนุมัติการขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด-19 แล้ว 3 รายได้แก่ วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า โดยบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด และที่ผลิตในประเทศโดย บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด วัคซีนโคโรนาแวค ของบริษัท ซิโนแวค นำเข้า โดยองค์การเภสัชกรรม รวมถึงวัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน โดยบริษัท แจนเซ่น- ซีแลค จำกัด
อย่างไรก็ดีหากถามถึงความเป็นไปได้ถึงวัคซีนที่จะถูกนำมาใช้เป็น “วัคซีนทางเลือก” มี 2 ยี่ห้อคือ โมเดิร์นนา และซิโนฟาร์ม (ปัจจุบันยังไม่มีการยื่นเอกสารขอขึ้นทะเบียน) ซึ่งทั้งสองยี่ห้อ เชื่อว่าภาครัฐจะไม่ได้สั่งนำเข้าเพื่อมาฉีดให้กับประชาชนทั่วไป ดังนั้นภาคเอกชนจึงสามารถสั่งนำเข้าและฉีดให้บริการกับประชาชนได้ ทั้งนี้วัคซีนทั้งสองยี่ห้อมีความแตกต่าง โดยซิโนฟาร์มเหมาะกับกลุ่มประชาชนทั่วไป มีระดับราคาที่เข้าถึงง่าย แตกต่างจากโมเดิร์นนา ซึ่งเป็นวัคซีนสัญชาติอเมริกัน ผลิตด้วยเทคโนโลยีชนิด mRNA เหมือนกับวัคซีนไฟเซอร์ มีประสิทธิภาพสูงต่อเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์กลายพันธุ์
“มีความเป็นไปได้ว่า วัคซีนทางเลือกชนิดแรกคือ “โมเดิร์นนา” เพราะขณะนี้ได้ยื่นคำขอขึ้นทะเบียนแล้วคาดว่าจะได้อนุมัติในเร็วๆนี้”
ขณะที่แหล่งข่าวโรงพยาบาลเอกชนอีกรายกล่าวว่า ขอยืนยันว่าโรงพยาบาลเอกชนยังไม่มีการนำเข้าวัคซีนอย่างแน่นอน เพราะการนำเข้าวัคซีนที่ยังไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนถือเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมายมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เชื่อว่าโรงพยาบาลทุกแห่งไม่เอาชื่อเสียงไปเสี่ยงอย่างแน่นอน อย่างไรก็ดีอยากให้รัฐบาลมีความชัดเจนในเรื่องของการวัคซีนทางเลือก หากรัฐจะนำเข้าวัคซีนใดเพื่อฉีดให้กับประชาชนฟรี โรงพยาบาลเอกชนก็พร้อมที่จะสนับสนุนและช่วยฉีดให้อยู่แล้ว
“วันนี้รัฐกำหนดให้เอกชนนำเข้าได้ แต่ต้องเป็นวัคซีนที่รัฐไม่ได้นำเข้ามาเพื่อเป็นทางเลือกให้กับประชาชนที่ต้องการฉีดวัคซีน แต่ยังไม่มีข้อสรุปว่าจะเป็นวัคซีนใด หากทุกตัวที่ขึ้นทะเบียนแล้ว รัฐบาลจะนำเข้าทั้งหมดก็ต้องรอดูว่า จะเปิดโอกาสให้เอกชนนำเข้าวัคซีนใด ซึ่งตอนนี้ก็เหลือเพียงโมเดิร์นนา ที่โรงพยาบาลเอกชนส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่า เหมาะสมที่สุด แต่การสั่งซื้อจะได้ในปริมาณจำกัด เพราะเป็นที่ต้องการของทั่วโลก”
ทั้งนี้สมาคมโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งมีศ.ดร.นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ เป็นนายกสมาคมฯ จะเป็นผู้บริหารจัดการจัดสรรวัคซีนที่เข้ามาให้กับโรงพยาบาลเอกชนต่างๆ พร้อมกับกำหนดราคาให้เหมาะสม เพื่อไม่ให้เป็นการค้ากำไรเกินควร เพราะแม้อภ. จะเป็นผู้สั่งนำเข้าแต่ด้วยปริมาณล็อตแรกซึ่งมีจำนวนไม่มากนัก จึงต้องมีการจัดสรรให้เหมาะสม
หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,677 วันที่ 9 - 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2564
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :