ลดภาษี-แจกเงิน ยาแรงพยุงศก.

01 มี.ค. 2563 | 05:30 น.

กูรูแนะรัฐออกมาตรการกระตุ้นขนาดใหญ่ ลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กระตุ้นกำลังซื้อคนชั้นกลาง ฉีดเงินผ่านชิม ช้อป ใช้-บัตรผู้มีรายได้น้อย


สัญญาณเศรษฐกิจเดือนมกราคม 2563 อยู่ในภาวะชะลอตัวต่อเนื่อง จากรายงานเศรษฐกิจและการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนหดตัวโดยอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศชะลอตัว กำลังการผลิตยังคงเหลืออยู่มาก ขณะที่ความเชื่อมั่นภาคธุรกิจยังไม่ดีส่งให้ภาคธุรกิจชะลอการลงทุน ด้านการใช้จ่ายภาครัฐทั้งรายจ่ายประจำและลงทุนหดตัว ส่วนการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวชะลอลงตาม ปัจจัยรายได้ที่ยังอ่อนแอและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ลดลงต่อเนื่อง

ปัจจัยดังกล่าวส่งให้ภาคธุรกิจและนักเศรษฐศาสตร์เห็นพ้องเสนอรัฐบาลออกมาตรการชุดใหญ่เพื่อประคองเศรษฐกิจภายใน ท่ามกลางปัจจัยลบและการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ตีวงกว้างฉุดกำลังซื้อ

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เสนอให้รัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการคงภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT ไว้ที่ 7% และขอให้รัฐบาลคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มที่เก็บจากผู้ส่งออกโดยเร็วภายใน 1 เดือน จากปัจจุบันใช้เวลา 60 วัน 90 วัน 120 วัน หรือบางราย 2 ปีก็มี หากเร่งรัดได้จะช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น

ด้านนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า เห็นด้วยหากจะลดภาษีมูลค่าเพิ่ม เพราะจะช่วยเพิ่มกำลังซื้อให้กับประชาชน ช่วยกระตุ้นได้ไม่มากก็น้อย และเพื่อให้ภาคธุรกิจเฉพาะอย่างยิ่งเอสเอ็มอี และลูกจ้างได้มีเงินเหลือใช้จ่ายมากขึ้น กระทรวงแรงงานควรยกเว้นให้นายจ้างและลูกจ้างจ่ายเงินเข้ากองทุนประกันสังคมเป็นเวลา 6 เดือน

นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไม่ดี ต้องหาทางให้ประชาชนมีเงินในกระเป๋า ซึ่งข้อเสนอเกี่ยวกับการลดภาษีมูลค่าเพิ่มลง 2% จาก 7% เหลือ 5% นั้น อาจจะเป็นหนึ่งในทางเลือกซึ่งทางการต้องพิจารณาในหลายมิติ เพราะแนวทางลดแวต ลงนั้น หากเป็นมาตรการชั่วคราวเมื่อถึงตอนครบกำหนดจะปรับขึ้นจะทำให้ภาวะเศรษฐกิจแย่ลง เพราะประชาชนจะกักตุนสินค้า เช่นที่ผ่านมาญี่ปุ่นได้ปรับลดภาษีขายลงเป็นการชั่วคราวแต่เมื่อตอนจะปรับขึ้นยอดขายสินค้าหายทำเศรษฐกิจยํ่าแย่

ส่วนแนวทางแจกเงินผ่านกลไกกองทุนหมู่บ้านฯ นั้น ส่วนตัวก็เห็นด้วย เพราะประชาชนในชนบทและเกษตรกรได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ประกอบกับยังมีส่วนหนึ่งอยู่ในกองทุนหมู่บ้านฯ แล้วจึงใช้กลไกของระบบกองทุนหมู่บ้านฯ ดำเนินการได้เลย ขณะเดียวกันโจทย์เฉพาะหน้าคือ เศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะค่อนข้างเหนื่อย ทางการต้องหาทางช่วยเยียวยากลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากธุรกิจท่องเที่ยวและขนส่ง ซึ่งเริ่มส่งผลกระทบกว้างขึ้นเรื่อยๆ

“ประเด็นทุกวันนี้มาจากธุรกิจท่องเที่ยวได้รับผลกระทบและเริ่มขยายวงธุรกิจอื่นในวงกว้างขึ้น เรื่อยๆ ทั้งค้าปลีก ขนส่ง โรงแรม โดยเฉพาะแรงงานที่อยู่ในกลุ่มนี้จึงต้องหาทางช่วยให้ตรงจุดและคิดหาวิธีเยียวยาชั่วคราวเพื่อประคองกันไปด้วย ส่วนประเด็นลดแวตก็ต้องคำนึงในหลายมิติ”

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักวิเคราะห์ตลาดการเงินและการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ฯ กล่าวว่า ตอนนี้นโยบายต้องหาเงินเข้ากระเป๋าประชาชนไม่ใช่หาเงินเข้ากระเป๋านายทุน โดยเฉพาะต้องหาทางว่าทำอย่างไรให้คนมีรายได้เข้ามา เช่น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หากพิจารณาปรับลดลงจะเอื้อให้คนระดับกลาง-บนสามารถจับจ่ายใช้สอย ช่วยให้คนมั่นใจสามารถใช้จ่ายซึ่งเป็นการหมุนรอบเศรษฐกิจ

สำหรับแนวทางแจกเงินช่วยเหลือนั้น ส่วนตัวเห็นด้วย เพราะรัฐมีฐานข้อมูลประชาชนผ่านสวัสดิการชิม ช้อป ใช้อยู่แล้วจึงสามารถส่งเงินตรงผ่านแอพถึงบัตรคนจน แต่ทำไมต้องผ่านกองทุนหมู่บ้านฯ เพราะเป็นการลดประสิทธิภาพการส่งเงินถึงฐานประชาชนบนกลไกเดิมที่มีอยู่แล้ว

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เสนอให้รัฐบาลลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นมาตรการระยะสั้นในปีนี้ เพราะเวลานี้คนขาดความเชื่อมั่นและไม่กล้าจ่าย แต่หวังผลเมื่อสถานการณ์ไวรัสคลี่คลายชัดเจนคนจะเริ่มออกมาใช้จ่าย ซึ่งเห็นได้จากหลายประเทศใช้วิธีออกมาตรการกระตุ้น เช่น ฮ่องกงและสิงคโปร์ใช้วิธีแจกเงินเช่นกัน แต่วงเงินอาจจะไม่เหมาะกับเมืองไทยแต่ก็มีหลายมาตรการที่จะนำมาใช้ได้ ส่วนกรณีแจกเงินผ่านกองทุนหมู่บ้านฯ หากจะเพิ่มให้มีการสร้างงานในพื้นที่ควบคู่ไปด้วยก็จะดี”

“เห็นด้วยกับการออกมาตรการกระตุ้นขนานใหญ่โดยไม่ห่วงเรื่องขาดดุลการคลังมากขึ้น เช่น ต่างประเทศก็ทำกันและมาตรการบรรเทาปัญหากำลังซื้ออ่อนแอ”

 

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,553 วันที่ 1 - 4 มีนาคม พ.ศ.2563