ฟิทช์ระบุ งดจ่ายปันผลแบงก์ สอดคล้องกับต่างประเทศ

22 มิ.ย. 2563 | 09:12 น.

ฟิทช์ชี้ มาตรการงดจ่ายเงินปันผลของธนาคารไทย เป็นหนึ่งในมาตรการที่หน่วยงานกำกับดูแลหลายแห่งนำมาปฏิบัติ เพื่อรองรับความเสี่ยงด้านเงินกองทุน

ฟิทช์ เรทติ้งส์ ระบุว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ออกประกาศให้ธนาคารพาณิชย์ งดจ่ายเงินปันผล เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2563 เป็นหนึ่งในมาตรการที่คล้ายกับหน่วยงานกำกับดูแล(regulator)ในต่างประเทศ เพื่อรับมือกับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการระบาดของโคโรนาไวรัส(โควิด-19) และเป็นการช่วยเพิ่มความสามารถในการรองรับความเสี่ยงในด้าน เงินกองทุน ให้แก่ธนาคารไทย

 

หน่วยงานกำกับดูแลสถาบันการเงินทั่วโลกได้ใช้มาตรการเชิงรุกในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาเพื่อรับมือกับการระบาดของไวรัส โดยมีการประกาศใช้มาตรการการจำกัดการจ่ายเงินปันผลของธนาคารพาณิชย์ ในลักษณะที่คล้ายกันใน ออสเตรเลีย ประเทศในกลุ่มยูโรโซน อินเดีย เวียดนามและสหราชอาณาจักร สำหรับประเทศไทย ธปท.ได้ประกาศให้ธนาคารพาณิชย์ งดการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล และ งดการซื้อหุ้นคืน และให้ธนาคารพาณิชย์เตรียมแผนการบริหารจัดการเงินกองทุนสำหรับในช่วง 1-3 ปีข้างหน้า

 

มาตรการดังกล่าวนั้นสอดคล้องกับนโยบายโดยรวมของ ธปท. ซึ่งจะช่วยรักษาความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและกระตุ้นกิจกรรมทางธุรกิจ มาตรการดังกล่าวยังจะช่วยให้ธนาคารพาณิชย์รักษา เงินกองทุน ซึ่งเป็นทรัพยากรที่จำเป็นในการสนับสนุนการขยายสินเชื่อและรองรับหนี้เสียในช่วงที่เศรษฐกิจต้องเผชิญกับหลายปัจจัยเสี่ยง

อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของ ของภาคธนาคารพาณิชย์ไทยเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 15.8% ณ เดือนเมษายน 2563 ฟิทช์ มองว่า เงินกองทุนเป็นจุดแข็งสำหรับธนาคารพาณิชย์ไทยส่วนใหญ่ที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตโดย ฟิทช์ ซึ่งสะท้อนได้จากระดับการประเมินความแข็งแกร่งด้านฐานะ เงินกองทุน ของธนาคารส่วนใหญ่ ที่อยู่ในระดับที่สูงกว่าอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคาร (หรือ Viability Rating)

 

ทั้งนี้ ฟิทช์ได้ปรับการประเมินด้านสภาวะแวดล้อมในการดำเนินงานของภาคการธนาคารพาณิชย์ไทยจากเดิม ‘bbb+’เป็น ‘bbb’ เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา เนื่องจากฟิทช์คาดว่า สภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อคุณภาพสินทรัพย์และผลกำไรของธนาคารในอีก 2 ปีข้างหน้า 

 

อย่างไรก็ตาม ฟิทช์ยังคงคาดว่าเงินกองทุนของธนาคารจะยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง (ตามสมมติฐานกรณีพื้นฐานของฟิทช์) แม้ต้องเผชิญความท้าทายจากสภาวะเศรษฐกิจและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้มาตรฐานบัญชี TFRS9