28 ตุลาคม 2563 นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี(ครม.)รับทราบข้อเสนอแนะของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(คณะกรรมการป.ป.ช.) กรณีการป้องกันการทุจริตกี่ยวกับงบประมาณเงินอุดหนุนวัดของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) โดยคณะกรรมการป.ป.ช.รายงานว่า เนื่องจากการตรวจสอบพบการทุจริตงบประมาณเงินอุดหนุนของ พศ. ซึ่งประกอบด้วยงบประมาณ 3 ประเภท ได้แก่
1.งบประมาณเงินอุดหนุนปฏิสังขรณ์วัดและการพัฒนาวัด 2.งบประมาณเงินอุดหนุนการส่งเสริมเผยแผ่พระพุทธศาสนา และ 3.งบประมาณเงินอุดหนุนการศึกษาพระปริยัติธรรม โดยเป็นเรื่องที่อยู่ระหว่างการดำเนินการของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ จากการศึกษาพฤติกรรมการและรูปแบบการทุจริต รวมทั้งข้อกฎหมายระเบียบและหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับงบประมาณเงินอุดหนุนของวัดของ พศ. พบว่า กฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องเปิดช่องและเอื้อให้เจ้าหน้าที่ของรัฐแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบและเจ้าอาวาสในฐานะผู้แทนของวัด ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ปี 2505 ไม่มีความรู้เพียงพอในการเบิกจ่ายเงินงบประมาณของแผ่นดินทำให้บุคคลบางกลุ่มใช้วัดเป็นเครื่องมือในการจัดสรรงบประมาณเงินอุดหนุนเพื่อแสวงหาประโยชน์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ประกันรายได้ "ข้าว-ยางพารา" เข้า ครม.แน่สัปดาห์หน้า
นายกฯเผย ครม.เห็นชอบตั้ง "คณะกรรมการหาทางออกประเทศ"
ภาคธุรกิจห่วงชุมนุมการเมืองยกระดับอาจทำศก.แย่ลง
กรมอุตุฯเตือนฉบับที่ 6 พายุไต้ฝุ่น "โมลาเบ"ขึ้นฝั่งเวียดนามวันนี้
ทำให้เกิดปัญหาและความเสี่ยงในการทุจริต ตั้งแต่ขั้นตอนการจัดทำคำขอและจัดสรรงบประมาณ การเบิกจ่ายงบประมาณและการติดตามและประเมินผลรวมทั้งการเปิดเผยข้อมูลเพื่อความโปร่งใสและการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการติดตามตรวจสอบ
คณะกรรมการป.ป.ช.ได้เสนอ 5 แนวทางในการป้องกันการทุจริตเงินอุดหนุนวัด ดังนี้
1.ด้านการจัดทำระบบฐานข้อมูล รัฐบาลควรกำหนดให้บูรณาการและส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการจัดทำฐานข้อมูลของวัดเป็นวาระแห่งชาติ โดยพศ.ต้องมีระบบฐานข้อมูลกลางและนำข้อมูลเดิมจัดทำเป็นข้อมูลรูปแบบดิจิทัล
2.ด้านกระบวนการจัดทำคำขอและการจัดสรรงบประมาณ ให้พศ.จัดทำคำของบประมาณด้านการก่อสร้างการบูรณปฏิสังขรณ์วัดและการพัฒนาวัดเป็นงบประมาณประเภทเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ และปรับปรุงคณะกรรมการพิจารณาคำขอและจัดสรรงบประมาณเงินอุดหนุนทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยมีบุคคลภายนอกร่วมด้วย เช่น ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี
3.ด้านการเบิกจ่ายงบประมาณ ให้พศ.ประสานงานให้วัดหรือผู้ได้รับงบประมาณงบเงินอุดหนุน ต้องจัดทำแผนการใช้จ่ายเงินที่ชัดเจน และในการใช้จ่ายเงินของวัดไม่ควรเบิกจ่ายเงินล่วงหน้าก่อนมีแผนการใช้จ่ายเงิน และให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เบิกจ่ายของกระทรวงการคลังอย่างเคร่งครัด
4.ด้านการติดตามและประเมินผล พศ.ต้องให้ความสำคัญกับการตรวจสอบ ติดตาม และประเมินผลการใช้จ่ายงบประมาณงบเงินอุดหนุน เพื่อให้เป็นไปตามแผนงานและวัตถุประสงค์ของโครงการ
5.ด้านการแจ้งเบาะแส ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตพศ. ควรเป็นหน่วยงานส่งเสริมสนับสนุนและให้ความรู้กับเจ้าหน้าที่ภายในหน่วยงาน เพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับขั้นตอนการปฏิบัติตลอดจนสิทธิที่ได้รับในการแจ้งเบาะแสการทุจริต และกำหนดให้มีช่องทางในการรับเรื่องร้องเรียน จากพระภิกษุและประชาชน และควรกำหนดกระบวนการจัดการเรื่องร้องเรียนให้ชัดเจนและมีความรวดเร็ว