ปัจจุบัน ทุกภาคส่วนต่างให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อส่งเสริมให้โลกของเรามีสภาพแวดล้อมที่ดีและเอื้อต่อการดำรงอยู่ของมวลมนุษยชาติ อุตสาหกรรมสิ่งทอและแฟชั่นถือเป็นอีกภาคส่วนหนึ่งที่กำลังปรับตัวสู่ทิศทางดังกล่าว โดยปฏิวัติจากการเป็น Fast Fashion หรือแฟชั่นที่ไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อผู้บริโภคและ สิ่งแวดล้อม มาเป็น Slow Fashion ที่ให้ความสำคัญต่อความเป็นอยู่ของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม
รายงาน The Future of Sustainability in the Fashion Industry จัดทำโดย C&A Foundation ระบุว่า “แนวคิดสำคัญที่ส่งเสริมความยั่งยืนในอุตสาหกรรมแฟชั่น” ได้แก่
(1) โครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีการผลิตรูปแบบใหม่ที่มุ่งเน้นการผลิตที่ใช้พลังงานตํ่า เกิดกระบวนการรีไซเคิลและการบำรุงรักษา
(2) การดำเนินงานที่ขับเคลื่อนบนพื้นฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ของแรงงาน
(3) ความร่วมมือที่เพิ่มขึ้นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
(4) ความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นของผู้ผลิต และ
(5) ค่าจ้างในอุตสาหกรรมแฟชั่นที่ยุติธรรมและเหมาะสม มีมาตรฐานและถูกตรวจสอบได้
โดยแนวคิดดังกล่าว พยายามเน้นยํ้าว่า “ความยั่งยืน” มีอิทธิพล ต่อการสร้างประโยชน์ให้กับความ เป็นอยู่ของมนุษย์ สิ่งแวดล้อม และภาคธุรกิจในปัจจุบัน
ข่าวเด่นฐานเศรษฐกิจ
● ย้อนรอย10โรคระบาดป่วนโลกเสียชีวิตกว่า50ล้านคน(มีคลิป)
สเปน ถือเป็นประเทศที่ภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอและแฟชั่นมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ ตามสถิติปี 2558 พบว่าอุตสาหกรรมดังกล่าวสร้างรายได้ 2.8% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ สร้างงาน 4.3% และสร้างรายได้จากการส่งออก 8.4% อีกทั้งยังเป็นอุตสาหกรรมส่งออกอันดับ 4 ของประเทศ
ปัจจุบัน สเปนมีความโดดเด่นในการปรับตัว จนมีสถิติของสมาคมแฟชั่นรักษ์โลกสเปนระบุว่า 25% ของผลประกอบการอุตสาหกรรมแฟชั่นสเปนมาจากแฟชั่นรักษ์โลก เนื่องจากเล็งเห็นถึงผลกระทบจากปัญหา Fast Fashion ที่เน้นการผลิตให้มีปริมาณมากกว่าคุณภาพ ราคาถูก หาซื้อง่าย แต่อายุการใช้งานตํ่าทำให้ผู้บริโภคต้องกลับมาซื้อหลายครั้ง ส่งผลให้กระบวนการการผลิตสร้างมลพิษมากเป็นอันดับ 2 รองจากอุตสาหกรรมอาหาร อีกทั้งยังส่งผลให้ภาคครัวเรือนสเปนในแต่ละปีมีค่าใช้จ่ายสิ่งทอเฉลี่ย 450 ยูโร ซึ่งสร้างขยะผ้ามากถึง 12-14 กิโลกรัม แต่สามารถรีไซเคิลได้แค่ 20% เท่านั้น
แบรนด์ Ecoalf เป็นตัวอย่างของธุรกิจสิ่งทอและแฟชั่นสเปนที่โดดเด่นในการพัฒนาอย่างยั่งยืน เนื่องจากแบรนด์นี้ใช้วัสดุรีไซเคิล เช่น ขวดพลาสติกจากผลิตภัณฑ์สำหรับสัตว์เลี้ยง กากกาแฟ อวนจับปลาหรือยางรถที่ใช้แล้ว เป็นต้น มาผลิตสินค้าสิ่งทอและแฟชั่น ซึ่งจะช่วยลดปริมาณการใช้ทรัพยากรโลก โดยประหยัดการใช้นํ้าได้ถึง 20% ประหยัดพลังงาน 50% และลดการเกิดภาวะโลกร้อนได้ถึง 60%
นอกจากนี้ บริษัท ยังได้ดำเนินโครงการ Upcycling the Oceans สร้างจิตสำนึกให้กลุ่มประมงเรือเล็กและประชาชนตระหนักถึงปัญหาขยะในทะเลและร่วมเก็บขยะในทะเล นำมาแปรรูปผลิตเป็นสิ่งทอและสินค้าแฟชั่น ในขณะเดียวกัน มูลนิธิ Ecoalf ได้ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ดำเนินโครงการ Upcycling the Oceans, Thailand เพื่อจัดการขยะในแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลของไทย อนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเล รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากขยะมาผลิตสิ่งทอและสินค้าแฟชั่น
อีกหนึ่งตัวอย่างที่น่าสนใจ คือ Maria de Lafuente ดีไซเนอร์สเปน ที่ประยุกต์แนวคิดเรื่องความยั่งยืน ความรับผิดชอบต่อสังคมและนวัตกรรมมาใช้ในการออกแบบ โดย collection ล่าสุดสำหรับฤดูใบไม้ผลิ/ฤดูร้อน ค.ศ. 2020 ชื่อ Alquimia มีการใช้เส้นใย Petsilk ที่ทำจากขวดพลาสติก PET รีไซเคิลในรูปแบบ 3 มิติ (3D) รวมทั้งใช้ยางรถยนต์และเปลือกไม้ยูคาลิปตัสที่ได้มาจากป่าที่ได้รับมาตรฐาน PEFC หรือ Program for the Endorsement of Forest Certification Scheme เป็นองค์กรระดับนานาชาติที่ไม่หวังผลกำไร และมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนในการออกแบบสิ่งทอ
ทั้งนี้ สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงมาดริด ได้เคยร่วมงานกับดีไซเนอร์ดังกล่าวในการส่งเสริมและนำเสนอผ้าไหมไทยให้เป็นที่รู้จักในวงการแฟชั่นสเปน โดยนำผ้าไหมไทยจากมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง รวมทั้งหัตถกรรม พื้นบ้านของไทยไปออกแบบสิ่งทอใน collection สำหรับฤดูใบไม้ร่วง/ฤดูหนาว 2019 ภายใต้ชื่อ Fah - Pratan (ฟ้าประทาน) และจัดแสดงใน Madrid Mercedes Fashion Week 2019 ซึ่งเป็นงานแสดงแฟชั่นที่ใหญ่ที่สุดของสเปน
ตัวอย่างข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของภาคธุรกิจเพื่อความยั่งยืนของสเปนที่หันมาใส่ใจการรักษาสภาพแวดล้อม โดยหวังว่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้ประกอบการไทยนำมาปรับใช้ในแผนธุรกิจเพื่อปรับตัวให้เข้ากับแนวโน้มของธุรกิจใหม่ๆ และสร้างความพร้อมให้ธุรกิจไทยสามารถขยายตลาดไปยังสเปน ประเทศที่มีบทบาททางเศรษฐกิจที่สำคัญในภูมิภาคลาตินอเมริกา และมีเทคโนโลยีการผลิตระดับสูงที่ทันสมัยในอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมสิ่งทอและแฟชั่นที่สร้างผลผลิตและรายได้จากขยะให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจจากแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)
หน้า 12 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,543 วันที่ 26 - 29 มกราคม พ.ศ. 2563