ปัจจัยเสี่ยงรุมเร้า บิ๊กไฮเทคมะกันโยกฐานผลิตหนีแดนมังกร

13 มี.ค. 2563 | 05:00 น.
อัปเดตล่าสุด :13 มี.ค. 2563 | 12:01 น.

 

ยักษ์ใหญ่ไฮเทคอเมริกัน ไม่ว่าจะเป็นแอปเปิล ไมโครซอฟต์ หรือกูเกิล เตรียมย้ายฐานการผลิตบางส่วนออกจากจีนแล้ว โดยเล็งเวียดนามและไทยเป็นจุดหมายปลายทาง แต่การโยกย้ายฐานการผลิตออกจากจีนก็ไม่ใช่เรื่องง่าย แม้จะเป็นทางรอดสำหรับอนาคตระยะยาวของบริษัทอเมริกันก็ตาม

 

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการเผชิญหน้าทางการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนที่เข้มข้นถึงขั้นเปิดศึกการค้าระหว่างกันเมื่อเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา เพิ่งจะมาคลี่คลายลงบ้างเมื่อปลายปี 2562 ก็ทำให้บริษัทอเมริกันเห็นชัดแล้วว่า ไม่น่าจะพึ่งพาจีนในฐานะแหล่งผลิตมากจนเกินไป เพราะจีนเองซึ่งมีแผนยุทธศาสตร์พัฒนาตัวเองเป็นมหาอำนาจทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับโลก ก็เปรียบเหมือนหอกข้างแคร่ของสหรัฐอเมริกา ในเวทีการแข่งขันด้านเทคโนโลยี ในช่วงที่สงครามการค้ายังคงระอุเมื่อปีที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศให้บริษัทอเมริกัน ถอนการลงทุนทั้งหมดออกมาจากจีน และให้มองหาประเทศอื่นๆ เป็นจุดหมายปลายทางใหม่สำหรับการลงทุน ต่อมาต้นปีนี้ เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ “โควิด-19” ทำให้รัฐบาลจีนต้องประกาศขยายเวลาวันหยุดตรุษจีนยาวนานกว่าปกติ และปิดเมืองที่เป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาดเพื่อคุมเข้มการเดินทางเข้าออก และการขนส่ง ซึ่งส่งผลกระทบไปทั้งประเทศ ทำให้ธุรกิจบริการและโรงงานต่างๆ ต้องปิดดำเนินการเป็นเวลายาวนาน ก็กลายเป็นปัจจัยเสริมที่ทำให้บริษัทไฮเทคสัญชาติอเมริกันเหล่านี้ พิจารณาเรื่องแผนโยกย้ายฐานการผลิตออกจากจีนอย่างจริงจังมากขึ้น

ปัจจัยเสี่ยงรุมเร้า บิ๊กไฮเทคมะกันโยกฐานผลิตหนีแดนมังกร

 

ไวรัสกระหน่ำทำให้ตัดสินใจเร็วขึ้น

การโยกย้ายโรงงานที่เป็นสถานประกอบชิ้นส่วนต่างๆ เข้าด้วยกันเป็นสินค้าสำเร็จรูป เช่น โรงงานประกอบสมาร์ทโฟน อาจจะง่ายกว่าการโยกย้ายโรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากห่วงโซ่การผลิตที่มีความเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายอย่างแข็งแรงในจีน ประกอบกับความสามารถในการผลิตของจีนก็อยู่ในระดับที่สูง หากโยกออกไปตั้งในที่ใหม่ ก็ยังน่าคิดว่าจะต้องใช้เวลาอีกเท่าไหร่จึงจะผลิตได้ในระดับที่จีนทำได้

 

นิกเกอิ เอเชี่ยน รีวิว รายงานข่าวเมื่อเร็วๆ นี้โดยอ้างแหล่งข่าวใกล้ชิดวงในว่า กูเกิลเป็นหนึ่งในบริษัทไฮเทคอเมริกันที่ขยับตัวออกมาจากจีนแล้ว โดยคาดว่าอย่างเร็วคือในเดือนเมษายนนี้ โรงงานของกูเกิลในเวียดนามจะสามารถเริ่มการผลิตสมาร์ทโฟนรุ่นราคาประหยัดที่มีชื่อว่า พิกเซล 4เอ (Pixel 4a) จากนั้นราวกลางปีเป็นต้นไป หรือในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ บริษัทก็จะเริ่มการผลิตสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่สมรรถนะสูงขึ้นจากโรงงานเวียดนาม นอกจากนี้ นิกเกอิฯ ยังระบุด้วยว่า กูเกิลได้ติดต่อพันธมิตรในประเทศไทยให้ช่วยเตรียมสายการผลิตสำหรับสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในกลุ่ม “สมาร์ทโฮม” เช่น ลำโพงที่สามารถควบคุมการทำงานด้วยเสียง

 

ปัจจัยเสี่ยงรุมเร้า บิ๊กไฮเทคมะกันโยกฐานผลิตหนีแดนมังกร

ขณะเดียวกัน บริษัทไมโครซอฟต์ฯ ก็มีแผนจะเริ่มการผลิตคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กและคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะตระกูล “เซอร์เฟส” (Surface) ที่โรงงานในประเทศ เวียดนาม ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ทั้งของกูเกิลและไมโครซอฟต์ ส่วนใหญ่จะมีการผลิตในประเทศจีน

 

สำนักข่าวซีเอ็นบีซี สื่อใหญ่ของสหรัฐฯ รายงานว่า ในปีที่ผ่านมา บริษัท แอปเปิ้ล อิงค์ฯ มีแผนจะทดลองการผลิตหูฟัง “แอร์พ็อดส์” (AirPods) ที่ประเทศเวียดนาม และยังได้ขอให้โรงงานที่เป็นซัพพลายเออร์พิจารณาโยกย้ายการผลิต 15-30% ออกจากประเทศจีนมายังประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกแทน อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารของแอปเปิล ยังไม่ได้ยืนยันเกี่ยวกับข่าวดังกล่าว

ปัจจัยเสี่ยงรุมเร้า บิ๊กไฮเทคมะกันโยกฐานผลิตหนีแดนมังกร

 

 

ย้ายโรงงานประกอบสินค้าสำเร็จรูปง่ายกว่า

พี.เอส. สุบรามาเนียม นักวิเคราะห์กลยุทธ์ธุรกิจจากบริษัทที่ปรึกษา เคียร์นีย์ ให้ความเห็นว่า อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มีห่วงโซ่การผลิตที่เป็นเครือข่ายแยกย่อยแต่สัมพันธ์กัน กว่าที่จะประกอบออกมาเป็นสินค้าสำเร็จรูปนั้น มีชิ้นส่วนต่างๆ ปลีกย่อยจำนวนมาก เช่น จอภาพ อุปกรณ์หน่วยความจำ ชิปประมวลผล และกล้องดิจิทัล ปัจจุบันราว 40% ของสินค้าสำเร็จรูปในตลาดโลก มาจากโรงงานประกอบในจีน ขณะที่แหล่งผลิตในประเทศอื่นๆ ก็ยังสามารถขยายกำลังการผลิตได้อีก ดังนั้น จึงง่ายกว่าสำหรับบริษัทส่วนใหญ่ ที่จะโยกย้ายการผลิตสินค้าสำเร็จรูปออกมาจากจีนในระยะ 3-6 เดือน ถ้าหากว่าพวกเขามีสินค้าที่พัฒนามาดีอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ที่เหลือ 60% ซึ่งเป็นชิ้นส่วนต่างๆ ของสินค้าอิเล็กทรอกนิกส์ที่ผลิตอยู่ในจีน หากจะโยกย้ายออกมาแม้ว่าจะสามารถทำได้ แต่ก็ยากกว่า ดังนั้น การโยกย้ายฐานการผลิตสินค้าไฮเทคออกมาจากจีนจึงอาจจะช่วยกระจายความเสี่ยงของการลงทุน แต่วิธีนี้ก็ไม่ได้เป็นยาที่จะแก้ไขได้สารพัดโรค

 

บริษัทญี่ปุ่นก็หนีจีนเช่นกัน

ด้านผู้ประกอบการจากญี่ปุ่น หลายรายก็กำลังพิจารณาแผนโยกย้ายการผลิตออกจากจีนเช่นกัน โดยนิกเกอิ เอเชี่ยน รีวิว รายงานว่า บริษัท โคมัตสุฯ ผู้ผลิตอุปกรณ์การก่อสร้าง ซึ่งมีทั้งโรงงานของตัวเองและโรงงานของซัพพลายเออร์หลายรายในจีน กำลังโยกย้ายการผลิตชิ้นส่วนโลหะที่ใช้ในการผลิตตัวถังรถยนต์และชุดสายไฟในรถยนต์ ออกจากประเทศจีนไปผลิตในญี่ปุ่นและเวียดนามแทน ขณะที่บริษัท ไดกิ้น อินดัสทรีส์ฯ ก็กำลังมีแผนโยกย้ายโรงงานประกอบเครื่องปรับอากาศเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรมออกจากเมืองอู่ฮั่น ในมณฑลหูเป่ยของจีน ไปยังมาเลเซีย และประเทศ อื่นๆ

 

ผู้บริหารของไดกิ้น ระบุว่า แม้โรงงานในเมืองซูโจวและเซี่ยงไฮ้จะเริ่มกลับมาดำเนินการผลิตได้แล้ว แต่หากโรงงานในเมืองอู่ฮั่นยังคงถูกปิดอยู่ บริษัทก็จำเป็นต้องลดทอนผลกระทบลงให้เหลือน้อยที่สุด ด้วยการกระจายความเสี่ยงออกไปยังแหล่งผลิตอื่นๆ ทั้งนี้ ปัจจุบันบริษัทมีโรงงานผลิตคอมเพรสเซอร์และชิ้นส่วนอื่นๆ ที่สำคัญของเครื่องปรับอากาศอยู่ในประเทศญี่ปุ่น และประเทศไทย

 

นักวิเคราะห์กล่าวว่า แม้ว่าการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาหนึ่งและสร้างผลกระทบเพียงชั่วคราว แต่ก่อนหน้านี้ก็มีปัจจัยกดดันอื่นๆ ที่ทำให้ผู้ประกอบการและนักลงทุนต่างชาติ จำเป็นต้องพิจารณาเรื่องการโยกย้ายการผลิตบางส่วนหรือทั้งหมดออกจากจีนอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนแรงงานหรือต้นทุนการผลิตอื่นๆ ที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ข้อตกลงการค้าที่เรียกว่า “ข้อตกลงเฟส 1” ระหว่างจีนและสหรัฐฯ แม้จะช่วยลดแรงกดดันของการเผชิญหน้า แต่ก็ยังไม่สามารถทลายกำแพงภาษีทั้งหมดลงไปได้ ทำให้ผู้ประกอบการที่เข้ามาตั้งฐานการผลิตในจีนเพื่อหวังส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ ต้องผิดหวังไปตามๆ กัน และต้องยอมรับว่า ต้นทุนมีแต่จะสูงขึ้น ดังนั้น แนวโน้มที่บริษัทต่างชาติโดยเฉพาะบริษัทอเมริกันจะโยกย้ายฐานการผลิตออกจากจีนนั้น จึงมีความเป็นไปได้มากขึ้นเรื่อยๆ โดยมีสถานการณ์ไวรัสระบาดครั้งนี้เป็นตัวเร่ง

 

หน้า 23 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40  ฉบับที่ 3,556 วันที่ 12 - 14 มีนาคม พ.ศ. 2563

ปัจจัยเสี่ยงรุมเร้า บิ๊กไฮเทคมะกันโยกฐานผลิตหนีแดนมังกร