อียูเริ่มการไต่สวน “แอปเปิล” กรณีผูกขาด-เอาเปรียบคู่แข่ง

18 มิ.ย. 2563 | 01:24 น.
อัปเดตล่าสุด :18 มิ.ย. 2563 | 08:39 น.

คณะกรรมาธิการยุโรป ซึ่งเป็นองค์กรฝ่ายบริหารของ สหภาพยุโรป (อียู) ได้เริ่มกระบวนการไต่สวน 2 เรื่องเกี่ยวกับบริษัท แอปเปิล อิงค์. บริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ของสหรัฐอเมริกา เมื่อวานนี้ (17 มิ.ย.) หลังได้รับการร้องเรียนว่าพฤติกรรมของแอปเปิลอาจเข้าข่ายการละเมิดกฎหมายการแข่งขันทางการค้าของสหภาพยุโรป ซึ่งอาจจะนำไปสู่ การผูกขาดทางธุรกิจ ที่ไม่เป็นธรรมต่อคู่แข่ง

มาร์เกรธ เวสทาเกอร์ รองประธานบริหารฝ่ายกำกับดูแลนโยบายด้านการแข่งขันทางธุรกิจ คณะกรรมาธิการยุโรป

ทั้งนี้ อียูได้เริ่มการไต่สวนเกี่ยวกับกฎเกณฑ์ของ “แอปสโตร์” (App Store) และแพลตฟอร์มของ “แอปเปิลเพย์” (Apple Pay) ซึ่งเป็น 2 บริการสำคัญของแอปเปิล ว่าเข้าข่ายการละเมิดกฎหมายการแข่งขันทางการค้าของอียูหรือไม่ โดยในส่วนของ “แอปสโตร์” นั้น เกี่ยวข้องกับกฎเกณฑ์ที่แอปเปิลนำมาใช้กับบริษัทผู้พัฒนาแอปพลิเคชันทั้งหลายที่ต้องการจำหน่ายแอปของตนผ่านร้าน “แอปสโตร์” ของแอปเปิล ขณะที่กรณีของ “แอปเปิลเพย์” เป็นการไต่สวนเกี่ยวกับเงื่อนไขและกฎเกณฑ์ในการนำระบบดังกล่าวไปใช้ ซึ่งแอปเปิลถูกร้องเรียนว่าตั้งกฎเกณฑ์ในการใช้ที่ไม่เป็นธรรม และปิดกั้นผู้บริโภคจากการรับทราบข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจ

 

แม้ว่าผู้พัฒนาแอปพลิเคชันสามารถนำผลิตภัณฑ์ของตนเองไปจำหน่ายบน “แอปสโตร์” โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายให้แก่แอปเปิลในส่วนนี้ แต่บริษัทเหล่านั้นต้องจ่ายค่าธรรมเนียมในอัตราระหว่าง 15-30% ให้แก่แอปเปิลเมื่อมีการซื้อแอป หรือสมัครเป็นสมาชิก หรือมีการใช้จ่ายผ่านแอป (In-app purchase) ซึ่งเป็นการจ่ายเงินจริงเพื่อซื้อความสามารถหรือคุณสมบัติพิเศษของตัวแอปพลิเคชัน อาทิ จ่ายเงินเพื่อปิดหน้าจอแสดงโฆษณา หรืออัพเกรดความสามารถของแอปพลิเคชันให้ทำงานได้มากกว่าเวอร์ชันฟรี เป็นต้น ถ้าเป็นเกม โดยเฉพาะเกมในโทรศัพท์มือถือ จะนิยมใช้ In-app purchase ในการซื้อสิ่งของมาอัพเกรดความสามารถให้กับตัวละครในเกม เช่น ซื้ออาวุธหายากที่ไม่สามารถหาได้ด้วยการเล่นเกมตามปกติ หรือซื้อของเพิ่มพลังชีวิตให้ตัวละครสามารถอยู่ในเกมได้นานขึ้น เป็นต้น การใช้จ่ายเหล่านี้ แอปเปิลเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากบริษัทเจ้าของแอปในอัตรา 30%  หรือกรณีแอปที่ต้องสมัครสมาชิก แอปเปิลหักค่าสมาชิกปีแรก 30% จากนั้นจึงหัก 15% ในปีถัดไป เป็นต้น

 

ผู้พัฒนาแอปพลิเคชันหลายรายร้องเรียนว่า กฎเกณฑ์ของแอปเปิลบีบรัดและไม่เป็นธรรม ทำให้ผู้พัฒนาแอปพลิเคชันต้องตั้งราคาสินค้าและเรียกเก็บค่าบริการจากลูกค้าสูงขึ้นด้วย

อ่านเพิ่มเติม เอกซเรย์ปัจจัยลบทำแอปเปิลหุ้นร่วง-รายได้หลุดเป้า

 

“สปอทิฟาย” (Spotify) และ “โคโบ” (Kobo) เป็นบริษัทแรก ๆ ที่ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อหน่วยงานกำกับดูแลของอียู โดยระบุว่าแอปเปิลอาจเข้าข่ายการผูกขาดทางธุรกิจจากการกำหนดข้อจำกัดต่าง ๆ ในการซื้อเนื้อหาออนไลน์ไม่ว่าจะเป็นเพลงหรืออี-บุ๊ก (หนังสืออิเล็กทรอนิกส์) สำหรับผู้ใช้งานโทรศัพท์ไอโฟน และแท็บเล็ตไอแพด ซึ่งเป็นอุปกรณ์ของแอปเปิล นอกจากนี้ ยังมีการร้องเรียนว่าแอปเปิลปิดกั้นการแจ้งเตือนต่อผู้ใช้งาน ให้ทราบถึงช่องทางการซื้อเนื้อหาที่มีราคาต่ำกว่าหรือมีคุณภาพที่ดีกว่าในแอปพลิเคชั่นอื่น ๆ ด้วย

 

นางมาร์เกรธ เวสทาเกอร์ รองประธานบริหารฝ่ายกำกับดูแลนโยบายด้านการแข่งขันทางธุรกิจของคณะกรรมาธิการยุโรป แถลงว่า แอปเปิ้ลเข้ามามีบทบาทเป็น “ผู้ควบคุมประตู” ที่มีอำนาจในการจัดจำหน่ายแอปพลิเคชันและเนื้อหาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเพลงหรืออี-บุ๊ก ไปยังผู้ใช้งานไอโฟนและไอแพด ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่เป็นผลิตภัณฑ์ของแอปเปิล

 

“เราจำเป็นต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่ากฎเกณฑ์ของแอปเปิลไม่ได้บิดเบือนการแข่งขันทางการค้า ในตลาดที่แอปเปิลเองก็เป็นผู้แข่งขันกับผู้พัฒนาแอปพลิเคชันรายอื่น อย่างเช่นในตลาดสื่อเพลง แอปเปิลมีบริการดาวน์โหลดเพลงอย่าง “แอปเปิลมิวสิค” (Apple Music) และมี“แอปเปิลบุ๊กส์” (Apple Books) สำหรับตลาดอี-บุ๊ก”

อียูเริ่มการไต่สวน “แอปเปิล” กรณีผูกขาด-เอาเปรียบคู่แข่ง

ในเดือน มี.ค. ปีที่ผ่านมา (2562) สปอทิฟาย ซึ่งเป็นผู้ให้บริการเพลงสตรีมมิ่งได้ยื่นเรื่องร้องเรียนว่า แอปเปิลทำให้คู่แข่งเสียเปรียบโดยการกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ให้บริการคอนเทนต์รายอื่นต้องเสียค่าธรรมเนียม 30% แต่แอปเปิลมิวสิคไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมดังกล่าว ต่อมาในเดือนมี.ค. ปีนี้ โคโบก็ได้ยื่นร้องเรียนในลักษณะเดียวกันว่า แอปเปิ้ลลดราคาอีบุ๊กและหนังสือเสียงที่ขายผ่านแอปสโตร์ลงถึง 30% เพื่อสร้างความได้เปรียบให้กับบริการด้านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ของตนเอง

คณะกรรมาธิการยุโรปยังเปิดเผยถึงการไต่สวนระบบการชำระเงิน “แอปเปิ้ลเพย์” เกี่ยวกับข้อกำหนดและเงื่อนไขที่อาจส่งผลต่อการบิดเบือนการแข่งขันทางการค้า รวมถึงการตัดโอกาสและทางเลือกของผู้บริโภคในการซื้อสินค้าและการเข้าถึงนวัตกรรมในการชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือด้วย โดยยกตัวอย่าง การที่แอปเปิลจำกัดการเข้าถึงฟังก์ชั่น “tap and go” บนไอโฟน อาจจะเป็นการปิดกั้นการเข้าถึงทางเลือกบริการชำระเงินของลูกค้า เป็นต้น

 

ทั้งนี้ หากมีการตรวจสอบแล้วพบว่าแอปเปิลมีพฤติกรรมที่เข้าข่ายผูกขาดหรือก่อให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมจริง แอปเปิลก็อาจจะถูกอียูลงโทษตั้งแต่สั่งปิดการให้บริการ ไปจนถึงการปรับในอัตราสูงถึง 10% ของรายได้รายปี

 

ด้านโฆษกของแอปเปิลออกมาระบุว่า การดำเนินการดังกล่าวของคณะกรรมาธิการยุโรปเป็นเรื่องน่าผิดหวัง เนื่องจากการร้องเรียนเหล่านั้น “ไม่มีมูลความจริง” และเป็นการร้องเรียนของบริษัทเพียงไม่กี่รายเท่านั้น ในแถลงการณ์ของแอปเปิลระบุว่า ตลอดระยะเวลายาวนานที่บริษัทก่อตั้งมา แอปเปิลได้สร้างผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ ๆ ออกมาสู่ตลาดที่มีการแข่งขันอย่างดุเดือดมากที่สุด โดยทุกอย่างที่ทำก็เป็นไปตามกฎหมาย และไม่เคยกีดกันการแข่งขัน เพราะเชื่อว่าการแข่งขันจะเป็นแรงผลักดันให้บริษัทพัฒนาขึ้นไปอีกเรื่อย ๆ

 

“เป้าหมายของเรา 2 ประการในการพัฒนาแอปสโตร์ คือการทำให้ลูกค้าของเราสามารถค้นหาและดาวน์โหลดแอปพลิเคชันภายใต้สถาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและเชื่อถือได้ ขณะเดียวกันก็เป็นการเปิดโอกาสทางธุรกิจอันมหาศาลให้แก่ผู้ประกอบการและผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน ซึ่งเป็นที่น่ายินดีและภาคภูมิใจที่หลายรายประสบความสำเร็จบนแพลตฟอร์มของเรา และเติบโตไปด้วยกันกับเรา เช่นเดียวกับแอปเปิลเพย์ เป็นบริการที่เยี่ยมยอดที่มอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้แก่ลูกค้าของเรา ให้พวกเขาได้รับมาตรฐานชั้นยอดทั้งในแง่ความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัย”  

 

ทั้งนี้ แอปเปิลกำลังเผชิญกับแรงกดดันจากหน่วยงานกำกับดูแลการผูกขาดทั่วโลก โดยในเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่กำกับดูแลการแข่งขันทางการค้าของฝรั่งเศสได้สั่งปรับแอปเปิลเงินถึง 1,100 ล้านยูโรจากพฤติกรรมปิดกั้นการแข่งขันทางการค้า เช่นเดียวกับทางการสหรัฐที่กำลังดำเนินการไต่สวนการผูกขาดของแอปเปิล

 

นอกจากกรณีของแอปเปิลแล้ว อียูยังกำลังทำการไต่สวนเกี่ยวกับกรณีการผูกขาดทางธุรกิจของบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่อีกหลายรายจากสหรัฐ ซึ่งรวมถึงแอมะซอน เฟซบุ๊ก และกูเกิล  


ข้อมูลอ้างอิง

EU launches antitrust probes into Apple’s App Store and Apple Pay

Apple faces new complaints from app makers as EU launches antitrust probes