ล่าสุดเมื่อวันอังคาร (14 ก.ค.) จีนประกาศลงโทษบริษัท ล็อกฮีด มาร์ติน ของสหรัฐที่ขายอาวุธให้ไต้หวัน โดยไม่ได้ให้รายละเอียดมากนักเกี่ยวกับบทลงโทษที่ล็อกฮีด มาร์ติน จะได้รับ แต่ย้ำว่า “ถ้าหากไม่ต้องการให้ความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างจีน-สหรัฐเสื่อมทรามลงไปมากกว่านี้ สหรัฐจะต้องเลิกขายอาวุธให้ไต้หวันรวมทั้งให้ความสนับสนุนทางการทหารแก่ไต้หวัน” ทั้งนี้ สำนักข่าวซีเอ็นเอ สื่อใหญ่ของไต้หวันรายงานว่า ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐได้อนุมัติคำขอของรัฐบาลไต้หวัน ที่จะซื้อขีปนาวุธมูลค่าถึง 620 ล้านดอลลาร์
โดยข้อเท็จจริง ความสัมพันธ์ระหว่างจีน-สหรัฐนั้นได้ทรุดลงสู่ระดับต่ำสุดอีกครั้ง โดยทั้งสองฝ่ายได้นำ มาตรการตอบโต้ มาใช้สาดกันไปมาได้ระยะหนึ่งแล้ว ก่อนหน้านี้ สหรัฐได้เพิ่มมาตรการกดดันบริษัทหัวเว่ย ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีของจีน รวมทั้งบริษัทอื่น ๆ ในเครือ ขณะที่จีนเองก็เพิ่มการคว่ำบาตรเจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐซึ่งรวมถึงบรรดาวุฒิสมาชิก โทษฐานแทรกแซงกิจการภายในของจีนซึ่งรวมถึงฮ่องกง
กระทรวงการต่างประเทศของจีนแถลงย้ำวานนี้ (15 ก.ค.) ว่า รัฐบาลปักกิ่งจะออกมาตรการตอบโต้ต่อ “บุคคลและสถาบัน” ในสหรัฐเพื่อตอบโต้ที่สหรัฐออกกฎหมายที่พุ่งเป้าไปยังบรรดาธนาคารที่ทำธุรกรรมกับเจ้าหน้าที่จีน ถ้อยแถลงครั้งนี้มีขึ้นหลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ลงนามในคำสั่งของฝ่ายบริหารว่า จะยุติการปฏิบัติทางเศรษฐกิจเป็นพิเศษแก่ฮ่องกง นอกจากนี้ ทรัมป์ยังได้ลงนามในกฎหมายที่สภาคองเกรสอนุมัติให้ลงโทษธนาคารที่ทำธุรกรรมกับเจ้าหน้าที่จีนที่เกี่ยวข้องกับการออกกฎหมายความมั่นคงใหม่ในฮ่องกง
ทั้งนี้ ตามคำสั่งของฝ่ายบริหาร (Executive Order) ที่ทรัมป์ลงนามนั้น จะให้มีการระงับทรัพย์สินในสหรัฐของบุคคลที่ต้องรับผิดชอบหรือเกี่ยวข้องต่อการกระทำ หรือนโยบายที่บั่นทอนกระบวนการทางประชาธิปไตยหรือสถาบันในฮ่องกง นอกจากนี้ ยังสั่งให้เจ้าหน้าที่ยกเลิกข้อยกเว้นในการอนุญาตให้ส่งออกไปยังฮ่องกง รวมถึงยกเลิกการปฏิบัติเป็นพิเศษแก่ผู้ถือหนังสือเดินทางฮ่องกงด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
"ทรัมป์"ลงนามคว่ำบาตรจีน-ยกเลิกสถานะพิเศษฮ่องกง อย่างเป็นทางการแล้ววันนี้
จีนไฟเขียว ใช้กฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่ในฮ่องกง
ไม่เพียงเท่านั้น ในอีกด้านหนึ่งสหรัฐและจีนกำลังเผชิญหน้ากันเกี่ยวกับการที่จีนพยายามประกาศกรรมสิทธิ์การถือครองพื้นที่ในทะเลจีนใต้อีกด้วย ซึ่งสหรัฐพยายามสร้างแรงกดดันต่อจีนด้วยการให้ความสนับสนุนประเทศที่มีข้อพิพาทกับจีนในเรื่องนี้และดึงนานาประเทศเข้ามาเป็นแนวร่วมกดดันจีน การเผชิญหน้าดังกล่าวยังเกิดขึ้นท่ามกลางบริบทของความสัมพันธ์ที่สหรัฐกล่าวหาจีนเป็นต้นเหตุของการระบาดไปทั่วโลกของไวรัสโคโรนา “โควิด-19” และจีนก็ตอบโต้ด้วยการออกข่าวว่า ไวรัสดังกล่าวอาจมาจากแล็บทดลองทางวิทยาศาสตร์ของสหรัฐเองที่กระจายอยู่ในหลายประเทศ
นักวิเคราะห์กล่าวว่า การยกเลิกสถานะพิเศษของฮ่องกงอาจจะส่งผลกระทบต่อสหรัฐเองด้วยเช่นกัน เนื่องจากข้อมูลของสำนักมโนประชากรสหรัฐชี้ว่า ฮ่องกงนั้นเป็นดินแดนที่ทำให้สหรัฐได้ดุลการค้าสินค้าในระดับทวิภาคีมากสุดในปีที่ผ่านมาถึง 26,100 ล้านดอลลาร์
นอกจากนี้ ข้อมูลของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐยังชี้ว่า ผู้ที่มีสัญชาติอเมริกันอาศัยอยู่ในฮ่องกง 85,000 คน (ข้อมูลปี 2561) และมีบริษัทสหรัฐทำธุรกิจในฮ่องกงมากกว่า 1,300 บริษัทซึ่งรวมถึงบริษัทการเงินรายใหญ่ของสหรัฐเกือบทุกบริษัท และฮ่องกงยังเป็นจุดหมายปลายทางที่สำคัญสำหรับบริการทางกฎหมายและบัญชีของสหรัฐ ดังนั้น การยกเลิกสิทธิและสถานะพิเศษที่เคยให้กับฮ่องกงย่อมจะส่งผลกระทบต่อพลเมืองและบริษัทเอกชนของสหรัฐเองด้วยอย่างแน่นอน แต่ขณะเดียวกัน ความเคลื่อนไหวก็สหรัฐในเรื่องนี้ ก็จะส่งผลต่อสถานะของฮ่องกงในฐานะเมืองท่าศูนย์กลางการค้าและศูนย์กลางการเงินของโลก
ก่อนหน้านี้ช่วงที่จีนเตรียมบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่ในฮ่องกง สหรัฐได้เริ่มตัดสถานะพิเศษของฮ่องกงตามกฎหมายสหรัฐเมื่อปลายเดือนมิ.ย. และหยุดส่งออกยุทโธปกรณ์ รวมทั้งจำกัดการเข้าถึงสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูงของฮ่องกง
ระดับของความสัมพันธ์ที่ถดถอยซึ่งสวนทางกับความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้น ทำให้เอกชนสหรัฐเริ่มขยับตัวในเรื่องนี้แล้ว โดยการสำรวจล่าสุด(เดือนก.ค. 2563) ของหอการค้าอเมริกันพบว่า มากกว่า 30% ของบริษัทอเมริกันที่ทำธุรกิจอยู่ในฮ่องกงยอมรับว่ากำลังมีแผนโยกย้ายธุรกิจออกจากฮ่องกงทั้งในระยะสั้นถึงระยะยาว และล่าสุดวานนี้ “นิวยอร์ก ไทม์ส” ประกาศเตรียมย้ายสำนักงานในฮ่องกงบางส่วนไปยังกรุงโซล เพราะเกรงว่ากฎหมายความมั่นคงในฮ่องกงฉบับใหม่ จะควบคุมและลิดรอนเสรีภาพของสื่อ
ทั้งนี้ นิวยอร์ก ไทมส์ เปิดเผยว่า พนักงานได้พบกับปัญหาในการขอใบอนุญาตการทำงานและจะย้ายทีมนักข่าวดิจิทัล ซึ่งมีประมาณหนึ่งในสามของพนักงานในฮ่องกง ไปยังกรุงโซลในปีหน้า
การเคลื่อนไหวดังกล่าวนับว่ากระทบต่อสถานะของฮ่องกงในฐานะที่เป็นศูนย์กลางการสื่อสารมวลชนในเอเชียและมีขึ้นในขณะที่จีนและสหรัฐได้เปิดศึกกันด้านการทำงานของสื่อ โดยเมื่อต้นปีนี้ จีนกล่าวว่านักข่าวที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ทำงานในจีนแผ่นดินใหญ่จะไม่สามารถทำงานในฮ่องกงได้อีกต่อไปเช่นกัน ขณะที่สหรัฐเองก็กดดันการทำงานของสื่อจีนในสหรัฐ โดยเมื่อเร็ว ๆนี้ ได้ประกาศกำหนดให้ บริษัทสื่อของจีน 4 ราย มีสถานะเป็น "คณะผู้แทนต่างชาติ" หรือ "foreign mission" ตามกฎหมาย ทำให้สื่อจีนต้องอยู่ภายใต้ข้อกำหนดหลายประการ รวมทั้งต้องยื่นข้อมูลเกี่ยวกับพนักงานและทรัพย์สินที่ถือครองอยู่ในสหรัฐด้วย
กล่าวได้ว่าแนวรบจีน-สหรัฐนั้นเริ่มร้อนระอุขึ้นในทุก ๆ ด้าน และคาดว่าจะร้อนแรงขึ้นเรื่อย ๆไปจนกว่าจะถึงวันเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐที่กำลังจะมีขึ้นในเดือนพ.ย.นี้
ข้อมูลอ้างอิง
China vows retaliation after Trump ends preferential status for Hong Kong
New York Times moving some staff out of Hong Kong as security law brings media chill