การชุมนุมครั้งใหญ่ของชาวเลบานอน ซึ่งสื่อรายงานว่ามีจำนวน 5,000-10,000 คนกลางกรุงเบรุตเมื่อวันเสาร์ (8 ส.ค.) และต่อเนื่องถึงวันอาทิตย์ เพื่อประท้วงรัฐบาล กรณีหละหลวมต่อหน้าที่ ทำให้เกิด การระเบิดครั้งรุนแรงที่โกดังเก็บสารเคมี “แอมโมเนียมไนเตรท” บริเวณ ท่าเรือกรุงเบรุต เมื่อวันที่ 4 ส.ค.ที่ผ่านมา แม้จะจบด้วยการที่กองทัพใช้แก๊สน้ำตาและกระสุนยางเข้าสลายการชุมนุมหลังผู้ประท้วงบางส่วนบุกเข้ายึดพื้นที่อาคารของหลายกระทรวงสำคัญ แต่ก็เห็นได้ชัดว่า “ความโกรธแค้น” ของประชาชนครั้งนี้ ส่อเค้าไม่ยุติลงง่ายๆ มีการส่งต่อข้อความทางสื่อโซเชียลมีเดียนัดหมายชุมนุมกันอีกจนกว่าจะกดดันให้รัฐบาลลาออกเป็นผลสำเร็จ “เตรียมตะแลงแกงประหารไว้ได้เลย ความโกรธแค้นของพวกเราไม่ได้จบลงในวันเดียว” หนึ่งในข้อความที่ถูกส่งต่อกันระบุ
เจ้าหน้าที่กาชาดในกรุงเบรุตเปิดเผยว่า มีผู้บาดเจ็บจากการปะทะเมื่อวันเสาร์ (8 ส.ค.) ระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่กองกำลังความมั่นคงของเลบานอนจำนวน 117 คน และมีอีก 55 คนถูกนำส่งโรงพยาบาล อย่างไรก็ตาม ต่อมามีรายงานจำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บเพิ่มเติมเป็น 238 คน ขณะที่สำนักข่าวอัลจาซีรารายงานมีผู้บาดเจ็บจากการปะทะกันเมื่อวันเสาร์มากกว่า 700 คน นอกจากนี้ ยังมีรายงานยืนยันการเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่ตำรวจ 1 นาย ที่ถูกผู้ชุมนุมไล่ทำร้ายทำให้เขาต้องหนีและตกลงไปในช่องลิฟท์ของโรงแรมแห่งหนึ่งและเสียชีวิตในเวลาต่อมา
ข่าวที่เกี่ยวเนื่อง
ราบเป็นหน้ากลอง ซากอาคารริมท่าเรือในกรุงเบรุต
ปชช.ชาวเลบานอนประท้วงต้านรัฐบาล ปม"เหตุระเบิด"เขย่าเบรุต
เศรษฐกิจเลบานอนย่อยยับไปกับแรงระเบิด รัฐบาลประกาศภาวะฉุกเฉินกรุงเบรุต
ตั้งแต่เมื่อเดือนต.ค.ปีที่ผ่านมา รัฐบาลเลบานอนต้องเผชิญกับการประท้วงบนท้องถนนมาหลายระลอกแล้ว ชาวเลบานอนที่ต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ เงินเฟ้อพุ่ง และสวัสดิการที่ย่ำแย่ตั้งแต่ก่อนที่การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะมาตอกย้ำซ้ำเติมให้ทุกอย่างเลวร้ายลงไปกว่าเดิม พากันมารวมตัวบนท้องถนนระบายความโกรธแค้นที่มีต่อรัฐบาลที่พวกเขาเห็นว่า มีแต่ชนชั้นปกครองที่เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์และตักตวงความร่ำรวยบนความทุกข์ยากของประชาชนส่วนใหญ่
ดังนั้น เมื่อเกิดเหตุการณ์ระเบิดครั้งรุนแรงที่ท่าเรือเบรุตเมื่อวันอังคารพร้อมกับข่าวว่า ต้นเหตุมาจากความหละหลวมของเจ้าหน้าที่ในการจัดเก็บสารเคมีอันตรายจำนวนมหาศาลเป็นเวลาเนิ่นนานกว่า 6 ปีเอาไว้ที่คลังสินค้าของท่าเรือซึ่งแรงระเบิดนั้นเทียบเท่าความรุนแรงของแผ่นดินไหว ทำให้จุดศูนย์กลางของการระเบิดพังราบเป็นหน้ากลอง แรงอัดของระเบิดยังทำให้เกิดหลุมลึกถึง 43 เมตรในบริเวณท่าเรือเบรุต มีรายงานผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนี้เกือบ 160 คน บาดเจ็บอีกกว่า 6,000 คน และสูญหายตามที่ได้รับแจ้งราว 60 คน ก็ยิ่งเติมเชื้อความโกรธแค้นทำให้ประชาชนลุกฮือออกมาเดินขบวนขับไล่รัฐบาล
โดยเหตุการณ์เมื่อวันเสาร์ (8 ส.ค.) สื่อต่างประเทศรายงานว่า ประชาชนหลายพันคนรวมตัวชุมนุมกันที่จัตุรัสนิจเมห์ เพื่อบุกเข้าสู่อาคารรัฐสภา นอกจากนี้ ผู้ชุมนุมส่วนหนึ่งยังบุกเข้าไปในอาคารของหลายกระทรวงสำคัญซึ่งรวมถึงกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงเศรษฐกิจและการค้า กระทรวงพลังงานและทรัพยากรน้ำ รวมถึงที่ทำการสมาคมธนาคาร ก่อนที่จะถูกกองกำลังความมั่นคงเข้าควบคุมสถานการณ์
เห็นได้ชัดว่า ถึงแม้รัฐบาลเลบานอนจะให้คำมั่นว่าจะเร่งสอบสวนหาสาเหตุการระเบิดครั้งใหญ่นี้อย่างโปร่งใสภายในเวลา 5 วัน และหาตัวผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อโศกนาฏกรรมครั้งนี้มาลงโทษขั้นสูงสุด มีการจับกุมตัวเจ้าหน้าที่แล้ว 21 คนซึ่งรวมถึงผู้อำนวยการท่าเรือเบรุตและอธิบดีกรมศุลกากร แต่ประชาชนก็ทนไม่ไหวอีกต่อไปแล้ว
นางมานาล อับเดล ซามัด รัฐมนตรีกระทรวงข้อมูลข่าวสาร เป็นรัฐมนตรีคนแรกในคณะรัฐมนตรีเลบานอนที่ประกาศลาออกเมื่อวานนี้ (9 ส.ค.) เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อความรู้สึกผิดหวังของประชาชน ตามมาด้วยนายดามิเอนอส แคตทาร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมที่ประกาศลาออกเป็นคนที่สอง นอกจากนี้ ยังมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรลาออกแล้ว 7 คนเพื่อแสดงจุดยืนเคียงข้างประชาชนหลังเกิดเหตุระเบิดครั้งใหญ่ที่ท่าเรือเบรุตเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา
แรงกดดันที่เกิดขึ้นในช่วงสุดสัปดาห์ทำให้ นายฮัสซัน ดิแอ็บ นายกรัฐมนตรีเลบานอน ออกมาประกาศให้คำมั่นว่า จะเสนอให้มีการเลือกตั้งเร็วขึ้นกว่ากำหนดเดิมเพื่อผ่าทางตันให้กับปัญหาต่าง ๆที่กำลังรุมเร้าเลบานอนในเวลานี้และเพื่อไม่ให้ประเทศต้องถลำลึกสู่วิกฤติทางการเมืองและเศรษฐกิจมากไปกว่าที่เป็นอยู่ โดยจะมีการนำเรื่องดังกล่าวเข้าหารือในคณะรัฐมนตรีในวันจันทร์นี้ (10 ส.ค.)
ข้อมูลอ้างอิง
Beirut explosion: Angry protesters storm government ministries
Second day of protests as anger over Beirut explosion grows: Live
Number of injuries in Beirut's protests rises to 238