ผลของการเลือกตั้งดังกล่าว ยังจะต้องถูกส่งไปยังประธานวุฒิสภาเพื่อเปิดและนับคะแนนในที่ประชุมร่วมกันของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาในวันที่ 6 มกราคม 2564 เมื่อถึงตอนนั้นจึงจะมีประกาศอย่างเป็นทางการว่าผู้สมัครคนใดได้เป็นประธานาธิบดีและรองฯ
กว่าจะไปถึงจุดดังกล่าว เรามาดูกันว่า มีประเด็นน่าสนใจและเรื่องน่าตื่นเต้นอะไรบ้างเกี่ยวกับการเลือกตั้งครั้งนี้
1) ไม่ว่าใครชนะ ไทยและอาเซียนต้องตั้งรับให้ดี
ในงานเสวนา “จับตาเลือกตั้งสหรัฐฯ 2020 : จุดติดการเมืองพญาอินทรี X จุดพลิกระเบียบการเมืองโลก” ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) เมื่อวันที่ 26 ต.ค.ที่ผ่านมา รศ.ดร.กิตติ ประเสริฐสุข อาจารย์สาขาวิชาการระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ วิเคราะห์ไว้ว่า ในการเลือกตั้งวันที่ 3 พ.ย. นี้ ถ้าหากโจ ไบเดน จากพรรคเดโมแครต สามารถคว้าชัยชนะ แต่นโยบายของสหรัฐที่จะกดดันจีนก็คงไม่เปลี่ยน เพราะสังคมชาวอเมริกันมีความหวั่นเกรงการผงาดขึ้นของจีนแล้ว และไบเดนเองก็เคยกล่าวไว้ชัดเจนว่า สหรัฐต้องชนะการแข่งขันกับจีนเพื่ออนาคตของประเทศชาติ เพียงแต่ความแตกต่างจากทรัมป์ ก็คือเชื่อว่า ไบเดนจะใช้วิถีทางของการเจรจากับจีนมากกว่าทรัมป์ ไม่แข็งกร้าวแบบทรัมป์ แต่ด้วยโครงสร้างการค้าของสหรัฐที่ขาดดุลให้กับจีนอย่างมาก ไม่ว่าใครชนะการเลือกตั้งก็ต้องพยายามแก้ไขเรื่องนี้
สิ่งที่ต้องจับตามองคือหากไบเดนได้เป็นปธน.สหรัฐ เชื่อว่าสหรัฐจะชักชวนประเทศอื่นที่เป็นพันธมิตรสำคัญ ไม่ว่าญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และชาติสมาชิกอาเซียน อย่างฟิลิปปินส์ สิงคโปร์และไทย ให้ช่วยสหรัฐฯ กดดันจีนอีกทางหนึ่ง เช่น กดดันไม่ให้ใช้เทคโนโลยีจากจีน ฉะนั้น ชาติเหล่านี้ก็ต้องเตรียมพร้อมรับมือการกดดันจากสหรัฐให้มาเลือกข้าง ซึ่งเป็นเรื่องยาก เพราะจีนเองก็เป็นอีกประเทศที่มีความสำคัญทั้งต่อไทยและอาเซียน
บทบาทของไทยในฐานะประธานอาเซียนเมื่อปีที่แล้ว (2562) นั้น มีผลงานที่ดีที่สามารถผลักดัน ASEAN Outlook Asia-Pacific (AOIP) ออกมาได้ คือสามารถทำให้ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Strategy) ที่สหรัฐให้ความสำคัญกลายเป็นความร่วมมือที่เน้นด้านเศรษฐกิจ ซึ่งรศ.ดร.กิตติ มองว่าต้องให้เครดิตไทยกับอินโดนีเซีย ที่ช่วยกันให้อาเซียนเห็นพ้องต้องกันในประเด็นเหล่านี้ “เพราะมุมมองต่อมหาอำนาจมันไม่เหมือนกันทุกประเทศ แต่อย่างไรก็ตาม ผมยังเชื่อว่าอาเซียนหลายประเทศคงจะต้องเล็งเห็นว่ามันไม่เป็นผลดีกับใครในการเลือกข้างอย่างชัดเจน อย่างไรอาเซียนก็จะต้องมีจุดยืนไม่เลือกข้าง และเน้นความร่วมมือกับทั้งอเมริกาและจีน” รศ.ดร.กิตติ กล่าว
2)ไม่ว่าใครชนะ เรื่องยุ่งวุ่นวายก็เกิดขึ้นได้หลังเลือกตั้ง
โดยเฉพาะเมื่อทรัมป์เคยแสดงท่าทีก่อนหน้านี้ว่าเขาจะไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งหากเขาเป็นฝ่าย “พ่ายแพ้” ทรัมป์ยืนยันว่าเขาต้องการถ่ายโอนอำนาจอย่างสันติ แต่ก็ไม่คิดว่าตัวเองจะเป็นฝ่ายแพ้การเลือกตั้ง
ไม่มีใครรู้ได้ว่า ผลการเลือกตั้งจะออกมาเป็นอย่างไร แต่หากดูจากโพลและอุปสรรคต่าง ๆที่ทุบความนิยมในตัวทรัมป์ ไม่ว่าจะเป็นการรับมือวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 หรือการแก้ปัญหาการแบ่งแยกเชื้อชาติและสีผิวที่ก่อให้เกิดกระแสประท้วง “ Black Lives Matter” ไปทั่วประเทศ ก็ทำให้หลายฝ่ายมองถึงความเป็นไปได้ที่สูงขึ้นว่าทรัมป์อาจเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งครั้งนี้
นักวิเคราะห์กล่าวว่า มีความเป็นไปได้หลายทางในกรณีที่ทรัมป์แพ้และไม่ยอมรับผล ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการกล่าวหาว่า “มีการโกงเลือกตั้ง” เหมือนกับที่เขาเคยกล่าวหาเดโมแครตมาตลอด รวมทั้งการออกมากล่าวหาในช่วงหลัง ๆนี้ว่า การโหวตทางไปรษณีย์ (mail-in voting) จะยิ่งเพิ่มโอกาสในการโกงการเลือกตั้ง และถ้าหากผลการนับคะแนนมีการแพ้ชนะแบบ “สูสี” ทรัมป์อาจเลือกใช้กระบวนการทางกฎหมายในการต่อสู้ โดยนำเรื่องให้ศาลพิจารณาเพื่อนับคะแนนใหม่ในบางรัฐ ซึ่งเหตุการณ์เช่นนี้ก็เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต
ผู้เชี่ยวชาญการเมืองหลายคนเชื่อว่า หากไบเดนเอาชนะทรัมป์ในการเลือกตั้งได้อย่างขาดลอยโดยมีคะแนนโหวตจากคณะผู้เลือกตั้งเกิน 270 เสียง ฝ่ายทรัมป์เองจะเผชิญแรงกดดันภายในจากสมาชิกพรรครีพับลิกัน ทำให้ต้องยอมรับความพ่ายแพ้โดยปริยาย
นอกจากนี้ ความวุ่นวายยืดเยื้อหลังการเลือกตั้ง ยังอาจเกิดจากบรรดาผู้สนับสนุนของทั้งสองฝ่าย ซึ่งจากการสำรวจโดยรอยเตอร์/อิปซอส ที่จัดทำระหว่างวันที่ 13-20 ต.ค. ที่ผ่านมาพบว่า ผู้สนับสนุนไบเดน 43% ตอบว่าจะไม่ยอมรับชัยชนะของทรัมป์ ในขณะที่ผู้สนับสนุนทรัมป์ ราว 41% ก็จะไม่ยอมรับชัยชนะของไบเดน เช่นกัน สิ่งที่อาจจะก่อให้เกิดปัญหาก็คือ ผลสำรวจชี้ว่า มีชาวอเมริกันบางส่วน แม้จะเป็นเพียงส่วนน้อย ที่กล่าวว่าพวกเขาเตรียมจะออกมาประท้วงหรือใช้ความรุนแรง หากผู้สมัครที่พวกเขาชื่นชอบไม่ได้เป็นประธานาธิบดี โดยแบ่งออกเป็นแฟนคลับไบเดน 22% และแฟนคลับทรัมป์ 16% ที่ขู่เช่นนี้
เจ้าหน้าที่ดูแลการเลือกตั้งสหรัฐฯ ยอมรับว่า แนวโน้มปัญหาจะเกิดขึ้นได้มากหากผู้คนเริ่มวิกตกมากขึ้นว่า ผลการเลือกตั้งนั้นขาดความน่าเชื่อถือหรือไม่ โดยเฉพาะเมื่อระยะหลัง ๆ มีข่าวการแทรกแซงของต่างชาติในระบบการเลือกตั้งของสหรัฐมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการแทรกแซงของรัสเซีย อิหร่าน หรือจีน ซึ่งข่าวเช่นนี้เป็นการบ่อนทำลายความน่าเชื่อถือของการเลือกตั้ง
3) ไบเดนยังมีคะแนนนิยมเหนือทรัมป์ แต่ไม่ได้เป็นหลักประกันชัยชนะ
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานผลสำรวจโพลรอยเตอร์/อิปซอสปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาพบว่า ไบเดนยังมีคะแนนนิยมเหนือกว่าทรัมป์ราว 8% ในระดับประเทศ ซึ่งตีความได้ว่าผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง 51% น่าจะโหวตเลือกไบเดน เป็นประธานาธิบดีคนใหม่ และมีเพียง 43% เท่านั้นที่จะเลือกทรัมป์
ไบเดน ยังมีคะแนนนิยมนำห่าง ทรัมป์ ในรัฐวิสคอนซินและมิชิแกน ทว่าคะแนนของทั้ง 2 ฝ่ายยังค่อนข้างสูสีในรัฐสำคัญอื่น ๆ เช่น เพนซิลเวเนีย, ฟลอริดา, แอริโซนา และนอร์ทแคโรไลนา
โพลฉบับนี้สรุปจากการสอบถามชาวอเมริกันวัยผู้ใหญ่ 2,649 คนทั่วสหรัฐอเมริกา แบ่งออกเป็นผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่ได้โหวตล่วงหน้าหรือเตรียมจะโหวตเลือกทรัมป์ 1,039 คน และฝ่ายที่โหวตหรือจะโหวตเลือกไบเดน 1,153 คน โดยมีค่าความผิดพลาดบวกลบไม่เกิน 4%
4) ส่องนโยบายเศรษฐกิจของไบเดน
4 ปีที่ผ่านมา เราได้เห็นผลงานของปธน.ทรัมป์กันมาแล้ว ถ้าหากการเลือกตั้งครั้งนี้ ชาวอเมริกันเลือกนายโจ ไบเดน จากพรรคเดโมแครตขึ้นมาเป็นปธน. คนใหม่ สิ่งที่เขาหาเสียงเอาไว้ก็จะถูกผลักดันออกมาเป็นนโยบาย ซึ่งนโยบายที่โดดเด่นของไบเดนนั้นก็คือ Buy Americans ที่มีเป้าหมายกระตุ้นเศรษฐกิจที่ซบเซาจากการระบาดของโควิด-19 ด้วยการอัดฉีดเงินจากรัฐบาลกลาง
ไบเดนเสนอให้รัฐบาลกลางอัดฉีดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ 700,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐลงไปในระบบ โดยเขาจะใช้เงินก้อนใหญ่ก้อนนี้ไปลงทุนกับโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น ถนน สะพาน ระบบราง ฯลฯ โดยมีข้อกำหนดว่า อุปกรณ์ เครื่องมือ วัตถุดิบที่ใช้ทั้งหมดต้องซื้อภายในประเทศ เพื่อกระตุ้นให้มีการจ้างงานและเงินสะพัดในประเทศ นโยบายนี้คล้ายกับที่อดีตประธานาธิบดีแฟรงกลิน ดี. โรสเวล เคยนำมาใช้ สมัยเกิดวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำ (The Great Depression) ในช่วงปี 1930
อีกนโยบายที่สำคัญที่เชื่อว่า ไบเดนจะผลักดันเป็นอันดับแรก ๆ หากได้เป็นปธน.คนใหม่คือ นโยบายสร้างประกันสุขภาพราคาถูกโดยรัฐบาลกลางให้ชาวอเมริกันผู้มีรายได้ต่ำมีสิทธิ์เลือกซื้อที่เรียกกันว่า Public Option แต่เนื่องจากเป็นนโยบายที่ต้องใช้เงินงบประมาณจำนวนมากมาสนับสนุน หากต้องการให้สามารถดำเนินการได้อย่างราบรื่นและลุล่วง รัฐบาลก็จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากคองเกรส นั่นหมายความว่าหากการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคเดโมแครตสามารถกวาดคะแนนเสียงข้างมากได้ทั้งในสภาผู้แทนฯ และวุฒิสภา หรือทั้งสภาล่างและสภาสูง โอกาสที่ไบเดนจะผลักดันนโยบาย Public Option ให้สำเร็จด้วยดี ก็จะเป็นไปได้มากขึ้นด้วย
นอกจากนี้ นักวิเคราะห์ทางการเมืองหลายคนยังเชื่ออีกว่า รัฐบาลของนายไบเดนน่าจะให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านพลังงานสะอาดด้วยไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน หรือยานยนต์ไฟฟ้า เพราะเขาพูดถึงเรื่องนี้มาตลอดในการหาเสียง และฐานเสียงในพรรคเดโมแครตเองก็มีความกังวลต่อประเด็นภาวะโลกร้อนเป็นอย่างมาก
5) ไม่ว่าใครชนะ ก็เป็นผลดีกับจีน
กล่าวกันว่า นโยบายที่แข็งกร้าวของปธน.ทรัมป์ ทำให้อิทธิพลของสหรัฐอเมริกาในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคถดถอยลงไปอย่างมาก แต่สถานการณ์เช่นนั้นก็ทำให้ภาพลักษณ์ของจีนโดดเด่นขึ้นด้วยเช่นกัน
นักรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศพยายามประเมินถึงความเสียหายที่นโยบาย ‘อเมริกาต้องมาก่อน’ หรือ America First ของปธน.ทรัมป์ ที่ยึดผลประโยชน์ของสหรัฐเป็นหลัก มีต่อบทบาทและความสัมพันธ์ของสหรัฐกับประเทศพันธมิตรในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งผลสำรวจความคิดเห็นของนักวิชาการและนักคิดในเอเชียชิ้นหนึ่ง ที่จัดทำโดยสถาบัน ISEAS-Yusof Ishak ในสิงคโปร์เมื่อเร็ว ๆนี้ พบว่า
ผู้ตอบแบบสอบถามถึง 77% เชื่อว่า สหรัฐลดบทบาทในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (กลุ่มประเทศอาเซียน) ลงอย่างมาก เมื่อเทียบกับสมัยปธน. บารัก โอบามา (ดำรงตำแหน่งระหว่างปี 2008-2016) ขณะเดียวกัน ผู้ที่หมดความเชื่อมั่นในสถานะพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์ของสหรัฐ ได้เพิ่มขึ้นเป็น 47% จาก 34% ที่เคยสำรวจไว้ในปี 2019 นอกจากนี้ ยังมีผลสำรวจของศูนย์วิจัยพิว (Pew Research Center) ที่จัดทำโพลคล้ายกัน ๆ เกี่ยวกับประเทศพันธมิตรสำคัญของสหรัฐในภูมิภาคนี้ พบว่า ออสเตรเลียเชื่อมั่นในสหรัฐ เพียง 35% เมื่อเทียบกับ 84% ในปีสุดท้ายของรัฐบาลโอบามา ขณะที่ญี่ปุ่นซึ่งเคยเชื่อมั่นในรัฐบาลสหรัฐ มากถึง 78% มาวันนี้เหลือเพียง 36% ขณะที่เกาหลีใต้ลดความเชื่อมั่นในสหรัฐจาก 88% สมัยรัฐบาลโอบามา เหลือเพียง 46% สมัยรัฐบาลทรัมป์ เป็นต้น
ผลสำรวจเหล่านี้ สะท้อนถึงความเสียหายได้เกิดขึ้นแล้วต่อภาพลักษณ์ในฐานะพันธมิตรของสหรัฐในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งเกิดขึ้นท่ามกลางบทบาทที่โดดเด่นของฝ่ายจีน แม้แต่ประเทศที่เคยมีปมพิพาทกับจีนมาก่อน อย่างเช่นญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ก็ยังหันมากระชับความสัมพันธ์กับจีนมากขึ้นในสมัยของปธน.ทรัมป์
จอห์น ซุดโวธ ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวบีบีซี ประจำกรุงปักกิ่งชี้ว่า ผู้ประกอบการจีนส่วนใหญ่ไม่อยากให้ทรัมป์ชนะการเลือกตั้งครั้งนี้ เพราะภายใต้รัฐบาลทรัมป์ จีนถูกกดดันทางด้านการค้าอย่างหนักทั้งในรูปของการตั้งกำแพงภาษีและการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ ด้วยเหตุผลว่าจีนละเมิดสิทธิมนุษยชนชนกลุ่มน้อยรวมทั้งประเด็นเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกง แต่ศาสตราจารย์หยางซู่ถง ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยชิงหัวในกรุงปักกิ่ง เห็นต่างในเรื่องนี้ โดยเขาระบุว่า ถ้าหากมองถึงผลประโยชน์ของชาติ จีนอยากให้ทรัมป์ชนะ ไม่ใช่ไบเดน ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะ ทรัมป์นั้นเป็นผู้นำที่ทำลายความน่าเชื่อถือของสหรัฐได้มากกว่าไบเดนนั่นเอง
สอดคล้องกันความคิดเห็นของนายหู สีจิ้น บรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์โกลบอล ไทมส์ ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่มองว่า “ยิ่งทรัมป์ทำให้อเมริกาแยกตัวออกจากระบบพหุภาคี และเป็นที่จงเกลียดจงชังของโลก…ทรัมป์ก็ช่วยโปรโมตจีนมากขึ้นเท่านั้น” ดังนั้น หากทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง ภาพลักษณ์ของจีนในเวทีโลกก็จะดูดีขึ้น เหมือนเป็นพระเอกที่โดดเด่นมากขึ้น เพราะสหรัฐหันมาเล่นบทเป็น “ตัวร้าย” นั่นเอง
นโยบาย American First ของทรัมป์ ทำให้สหรัฐถอยห่างจากความร่วมมือระดับพหุภาคี จนแทบไม่เหลือเค้าของความเป็นผู้นำโลกเสรี ไม่ว่าจะการถอนตัวจากความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เอเชียแปซิฟิก ข้อตกลงปารีส หรือองค์การอนามัยโลก ช่องว่างขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นนี้ เปิดโอกาสให้จีนเข้ามาเติมเต็มและเพิ่มบทบาท แม้ว่าสหรัฐจะไม่ได้มีเจตนาให้เป็นเช่นนั้นก็ตาม
6) ไม่ว่าผลการดีเบตจะออกมาเป็นเช่นไร แต่คนส่วนใหญ่ก็ตัดสินใจแล้ว
โพลที่สำรวจผู้รับชมการโต้อภิปรายแสดงวิสัยทัศน์ หรือการดีเบตทางโทรทัศน์ระหว่างทรัมป์และไบเดน ชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า ไบเดนเป็นผู้ชนะในการประชันวิสัยทัศน์ครั้งล่าสุด (เมื่อวันที่ 22 ต.ค.) โดยโพลของ CNN ระบุว่า ไบเดนชนะทรัมป์ 53% ต่อ 39% ในขณะที่โพลของ YouGov ให้ไบเดนชนะที่ 54% ต่อ 35% และโพลขององค์กร Data For Progress ให้ไบเดนชนะที่ 52% ต่อ 41%
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ระบุว่า ตัวเลขของโพลของผู้ชนะดีเบตนั้นใกล้เคียงกับโพลสำรวจคะแนนนิยมของทั้งทรัมป์และไบเดนมาก ซึ่งก็อาจจะเป็นข้อมูลที่ชี้ให้เห็นได้ว่า การดีเบตครั้งนี้น่าจะไม่มีผลต่อการตัดสินใจของคนอเมริกันส่วนใหญ่ เพราะในขณะนี้เหลือเวลาอีกเพียงไม่กี่วันเท่านั้นก็จะถึงวันเลือกตั้งแล้ว และคนส่วนใหญ่ก็คงตัดสินใจได้แล้วว่าจะลงคะแนนเสียงให้ใคร ดังนั้น คนที่ตัดสินใจได้แล้วว่าจะเลือกไบเดนก็คงจะมองว่าไบเดนดีเบตได้ดีกว่า ในขณะที่คนที่ตั้งใจจะเลือกทรัมป์ก็คงมองว่าทรัมป์ตอบคำถามได้เหนือกว่า
7) ชาวอเมริกันตื่นตัวกับการเลือกตั้งครั้งนี้ และไปลงคะแนนล่วงหน้ามากเป็นประวัติการณ์
การเลือกตั้งในปีนี้ มีผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าเป็นจำนวนมาก แซงหน้าสถิติของการเลือกตั้งเมื่อปี 2559 ไปแล้ว โดยโครงการเลือกตั้งสหรัฐ ซึ่งเป็นโครงการอิสระดำเนินการโดยมหาวิทยาลัยฟลอริดา เปิดเผยว่า นับถึงวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (25 ต.ค.) มีผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งแล้วกว่า 59 ล้านคน มากกว่าการเลือกตั้งล่วงหน้าหรือลงคะแนนทางไปรษณีย์เมื่อปี 2559 ที่ 57 ล้านคน
สถานการณ์ดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อพรรคเดโมแครตที่เรียกร้องให้สมาชิกไปลงคะแนนล่วงหน้า
นายไมเคิล แมคโดนัลด์ อาจารย์รัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยฟลอริดา ผู้ทำโครงการเลือกตั้งสหรัฐ ยังคาดการณ์ว่า ปีนี้ผู้มาใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งอาจสูงเกิน 150 ล้านคน เทียบกับปี 2559 ที่ตัวเลขอยู่ที่ประมาณ 137 ล้านคน หลายรัฐมีแนวโน้มผู้มาเลือกตั้งสูงทุบสถิติ เช่น เท็กซัส ที่คนเคยเลือกตั้งเมื่อปี 2559 ลงคะแนนล่วงหน้าแล้ว 80% ทั้งนี้ รัฐเท็กซัสเป็นฐานเสียงของพรรครีพับลิกันมาตั้งแต่ปี 2523 จึงถูกจับตาอย่างใกล้ชิด โพลล์บางสำนักชี้ว่า ไบเดนมีสิทธิชนะทรัมป์ในรัฐดังกล่าว
ข่าวระบุว่า แม้แต่ปธน.ทรัมป์ ก็ยังไปใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าแล้วที่รัฐฟลอริดา โดยเขาหยอกล้ออย่างอารมณ์ดีเมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าลงคะแนนเลือกใคร เขาหัวเราะก่อนจะตอบว่า “ผมเลือกคนที่ชื่อว่าทรัมป์”