การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เริ่มขึ้นเมื่อวันอังคารที่ 3 พ.ย.2563 บางคูหาเลือกตั้งนั้นเริ่มการหย่อนบัตรลงคะแนนตั้งแต่หลังเที่ยงคืนเมื่อย่างเข้าวันที่ 3 พ.ย. กันเลยทีเดียว การออกมาใช้สิทธิ์ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งของพลเมืองชาวอเมริกันในปีนี้ถือว่าทำสถิติสูงเป็นประวัติการณ์แม้ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
เป็นเรื่องยากที่นักวิเคราะห์จะฟันธงเกี่ยวกับ ผลแพ้ชนะ ระหว่าง ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ตัวแทนพรรครีพับลิกัน ซึ่งอยู่ในสถานะผู้รักษาตำแหน่ง (หลังจากที่ชนะเลือกตั้งเมื่อปี 2559 และครองตำแหน่งสมัยแรกมาแล้ว 4 ปี) กับ นายโจ ไบเดน ตัวแทนพรรคเดโมแครต อดีตรองประธานาธิบดี 2 สมัย (ยุครัฐบาลประธานาธิบดีบารัก โอบามา) ซึ่งเป็นผู้ท้าชิง ค่อนข้างจะเป็นที่ยอมรับกันแล้วว่าผลลัพธ์สุทธิของการเลือกตั้งอาจจะออกมาล่าช้าเนื่องจากมีการใช้สิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้าไว้แล้วจำนวนมาก ทั้งที่เป็นการใช้สิทธิ์หย่อนบัตร ณ คูหา และการใช้สิทธิ์ทางไปรษณีย์ ซึ่งทำให้ต้องมีการขนส่ง และส่วนใหญ่ต้องรอเริ่มกระบวนการนับพร้อม ๆกับการเลือกตั้งในวันที่ 3 พ.ย. (บางรัฐอนุญาตให้บัตรลงคะแนนที่ส่งมาถึงหลังวันเลือกตั้งถูกนับรวมเข้าไปด้วย ตราบใดที่วันส่งไปรษณีย์อยู่ภายในวันที่ 3 พ.ย.)
อีกทั้งเชื่อว่าจะมีการยื่นฟ้องร้องขอต่อสู้ทางกฎหมายต่าง ๆนานาตามมา เช่น ร้องว่ามีการโกงเลือกตั้ง หรือร้องว่าขอให้มีการนับคะแนนใหม่ ซึ่งจะทำให้การสรุปผลล่าช้าออกไปหลายวันหรือเป็นสัปดาห์
สำหรับกระบวนการนับคะแนนนั้น รัฐต่าง ๆ จะเริ่มทยอยปิดหีบเลือกตั้ง ตั้งแต่เวลา 18.00 น. ของวันที่ 3 พ.ย. และบางรัฐก็ยืดเวลาให้ถึง 01.00 น. ของวันถัดไป ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐ ( หรือเท่ากับ 06.00 น. ถึง 13.00 น. ของวันพุธที่ 4 พ.ย. ตามเวลาไทย) โดยจะเริ่มนับคะแนนโหวตในทันทีหลังปิดหีบ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
แม้ส่วนใหญ่จะนับไม่เสร็จภายในคืนวันเลือกตั้ง แต่ตามปกติจะนับคะแนนได้มากพอที่เห็นผลการลงคะแนนในเบื้องต้นว่าใครเป็นผู้ชนะ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการเลือกตั้งในปีนี้ มีผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้ามากกว่าครั้งก่อน ๆ ที่เคยมีมา จึงคาดว่ากระบวนการนับคะแนนจะต้องใช้เวลานับนานขึ้น เพราะต้องผ่านกระบวนการตรวจยืนยันความถูกต้องต่าง ๆ เพิ่มเข้ามา เช่น การตรวจพิสูจน์ลายเซ็นและวันที่ส่ง เป็นต้น
ในแต่ละมลรัฐ ยังมีขั้นตอนการนับคะแนนบัตรเลือกตั้งล่วงหน้าแตกต่างกัน บางรัฐอนุญาตให้นับก่อนถึงวันเลือกตั้งได้ ก็จะทำให้การนับเสร็จเร็ว ซึ่งผลเบื้องต้นจะเทไปทางนายไบเดนค่อนข้างมาก เนื่องจากสมาชิกพรรคเดโมแครตมีอัตราส่วนผู้ใช้สิทธิ์ล่วงหน้ามากกว่าพรรครีพับลิกัน ขณะที่บางรัฐจะเริ่มนับคะแนนบัตรเลือกตั้งล่วงหน้าในวันเลือกตั้ง(3 พ.ย.) ทำให้ผลเบื้องต้นเทไปทางนายทรัมป์มากกว่า เพราะคะแนนของเดโมแครตไปอยู่ที่บัตรเลือกตั้งล่วงหน้า เป็นต้น
ฉะนั้น ผู้เชี่ยวชาญการเลือกตั้งสหรัฐจึงออกมาเตือนว่า ผลนับคะแนนขั้นต้นของการเลือกตั้งในครั้งนี้ อาจจะไม่สะท้อนภาพรวมที่แท้จริง นอกจากนี้ ยังมีอีกปัจจัยที่น่าจะก่อให้เกิดความล่าช้าในการสรุปผล นั่นคือ แนวโน้มการฟ้องร้องเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ซึ่งจนถึงขณะนี้ มีมาแล้วกว่า 300 คดีใน 44 รัฐ
ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ในการเลือกตั้งครั้งนี้ มีประเด็นความท้าทายทางกฎหมายในแทบจะทุกด้าน นับตั้งแต่การยืนยันตัวผู้โหวตทางไปรษณีย์ ไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงระบบเลือกตั้งในบางพื้นที่สืบเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19
ทั้งนี้ แต่ละรัฐจะมีเวลาจนถึงวันที่ 8 ธ.ค. ในการแก้ปัญหาความขัดแย้งต่าง ๆ เกี่ยวกับผลคะแนนโหวตทั้งหมด รวมถึงการยืนยันผู้ชนะ หากรัฐใดสรุปผลการนับคะแนนขั้นสุดท้ายไม่ได้ สภาคองแกรสก็ไม่จำเป็นต้องยอมรับผลเลือกตั้งในรัฐนี้ไปคิดคะแนนคณะผู้เลือกตั้ง (Electoral College) ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญในลำดับต่อไป เนื่องจากคณะผู้เลือกตั้งมีกำหนดลงคะแนนเสียงเลือกประธานาธิบดีสหรัฐ ในวันที่ 14 ธ.ค.ที่จะถึงนี้ ซึ่งภายใต้ระบบเลือกตั้งของสหรัฐนั้น ผู้ชนะการเลือกตั้งโดยประชาชน หรือที่เรียกว่า ป๊อปปูลาร์โหวต ในวันเลือกตั้งทั่วประเทศในแต่ละรัฐ จะได้คะแนนเสียงจากคณะผู้เลือกตั้งในรัฐนั้น ๆ ไปทั้งหมด ซึ่ง ผู้สมัครที่ได้คะแนนจากคณะผู้เลือกตั้งเกินกึ่งหนึ่ง หรือ 270 คะแนนขึ้นไป จะได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐคนต่อไป
หลังจากนั้น ในวันที่ 6 ม.ค. 2564 สภาคองเกรสจะจัดประชุมในเวลา 13.00 น. ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เพื่อนับคะแนนคณะผู้เลือกตั้ง และจะมีการประกาศตัวผู้ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการ
ผู้ได้รับการประกาศเป็นผู้ชนะและคู่หูที่ร่วมชิงชัย จะเข้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา ที่อาคารรัฐสภา ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ในวันที่ 20 ม.ค. 2564 ตามธรรมเนียมปฏิบัติที่สืบทอดกันมา