เหตุการณ์ประท้วงต้านเผด็จการทหารในเมียนมาส่อเค้าบานปลาย หวั่นนองเลือด

10 ก.พ. 2564 | 04:14 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ก.พ. 2564 | 04:24 น.

แม้ว่ารัฐบาลทหารเมียนมาจะประกาศเคอร์ฟิว ห้ามการชุมนุมเกิน 5 คน ในหลายพื้นที่รวมทั้งเมืองใหญ่ที่เป็นศูนย์กลางด้านเศรษฐกิจอย่างย่างกุ้งและมัณฑะเลย์เมื่อวันที่ 8 ก.พ.ที่ผ่านมา  แต่การประท้วงก็ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยวันนี้ (10 ก.พ.) ย่างเข้าสู่วันที่ห้าแล้ว

ผู้ชุมนุมประท้วงในเมียนมา ยังคงเรียกร้องให้มีการปล่อยตัว นางอองซาน ซูจี อดีตที่ปรึกษาแห่งรัฐ และหัวหน้าพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ตลอดจนพลพรรคที่ถูกควบคุมตัวตั้งแต่มีการรัฐประหารโดยกองทัพเมียนมาเมื่อเช้าตรู่วันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา นอกจากนี้ผู้ชุมนุมยังรวมตัวกัน แสดงพลังอารยะขัดขืน ซึ่งรวมถึงการหยุดงานของบุคลากรวิชาชีพสาขาต่างๆ เช่น แพทย์พยาบาล ครู และวิศวกร ตลอดจนการเคาะตีภาชนะต่างๆ-บีบแตรรถเพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ แม้ว่าจะเป็นการละเมิด ประกาศเคอร์ฟิว ของทางการก็ตาม

 

   แม้จะมีประกาศเคอร์ฟิวแต่ผู้คนยังออกมาประท้วงเต็มท้องถนน

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานการประเมินสถานการณ์ในเมียนมา โดยกระทรวงการต่างประเทศของอังกฤษ ซึ่งเป็นอดีตเจ้าอาณานิคม ระบุว่า พรรค NLD ของนางซูจีซึ่งเป็นพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลพลเรือน กำลังอยู่ในภาวะเปราะบางและสุ่มเสี่ยงแพแตก เนื่องจากขาดผู้นำ เพราะทั้งนางออง ซาน ซูจี และนายอู วิน มินท์ อดีตประธานาธิบดี และแกนนำหลายคนยังคงถูกควบคุมตัว เมื่อเป็นเช่นนี้ การขาดเสถียรภาพภายในพรรค NLD จึงเป็นผลดีสำหรับกองทัพที่ให้การสนับสนุนพรรคฝ่ายค้านอย่างพรรคสามัคคีและการพัฒนา ( USDP ) ที่คาดว่าจะได้รับการผลักดันอย่างเต็มที่ในการเลือกตั้งครั้งใหม่ที่ทางคณะรัฐประหารให้คำมั่นว่าจะจัดขึ้นในช่วงปลายปีหน้า (2565) หรือหลังครบการบังคับใช้สถานการณ์ฉุกเฉินในประเทศแล้วเป็นเวลา 1 ปีนั่นเอง ซึ่งในระหว่างนี้ ก็เชื่อว่าพล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเมียนมาจะเตรียมการปูทางสะดวกไว้สำหรับการให้กองทัพเข้ามีบทบาทและอิทธิพลในรัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้งเอาไว้แล้ว ซึ่งหนึ่งในมาตรการปูทางที่กำลังจะเกิดขึ้น คือการปฏิรูปคณะกรรมการการเลือกตั้ง

 

ขณะเดียวกัน รายงานฉบับนี้ยังวิเคราะห์สถานการณ์ประท้วงต่อต้านเผด็จการในเมียนมา ซึ่งมีความรุนแรงมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยคาดการณ์แนวโน้มว่า “มีโอกาสบานปลายเป็นการนองเลือด" และทิ้งท้ายว่า มาตรการกดดันจากภายนอกโดยเฉพาะจากกลุ่มประเทศตะวันตกนั้น จะไม่สามารถทำอะไรรัฐบาลทหารเมียนมาได้มากไปกว่าการคว่ำบาตร แต่นั่นก็น่าจะทำให้เมียนมาหันไปคบค้าและใกล้ชิดกับจีนมากขึ้น

 

 ด้านนายเน็ด ไพรซ์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ได้ออกมาแสดงความกังวลวานนี้ (9 ก.พ.) ภายหลังจากที่กองทัพเมียนมาประกาศมาตรการเคอร์ฟิวและสั่งห้ามประชาชนรวมตัวกันโดยอ้างเหตุผลด้านเสถียรภาพและความมั่นคงภายในประเทศ โดยนายไพรซ์ยังคงเน้นว่า สหรัฐให้ความสำคัญอย่างมากกับความเคลื่อนไหวที่กำลังเกิดขึ้นในเมียนมา และกำลังพิจารณาโครงการความช่วยเหลือทั้งหมดที่มีอยู่ พร้อมทั้ง ขอรับประกันว่ากลุ่มบุคคลซึ่งเป็นผู้ก่อรัฐประหารครั้งนี้จะต้อง “ได้รับผลจากการกระทำของตัวเอง”  แต่ยังปฏิเสธที่จะให้รายละเอียดว่า สหรัฐจะใช้มาตรการลงโทษคณะรัฐประหารของเมียนมาอย่างไร แต่หลายฝ่ายเชื่อว่า มาตรการที่รัฐบาลสหรัฐจะเลือกใช้ คือการคว่ำบาตรและจำกัดการเดินของนายทหารระดับสูงในกองทัพเมียนมา รวมทั้งการระงับความช่วยเหลือทางการเงินบางส่วนที่เคยให้แก่รัฐบาลเมียนมา

 

"สหรัฐจะยืนหยัดเคียงข้างประชาชนชาวเมียนมา สนับสนุนการชุมนุมโดยสงบ และการประท้วงอย่างสันติเพื่อสนับสนุนรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย" นายไพรซ์กล่าวย้ำในแถลงการณ์

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

มียนมางัด “มาตรการเคอร์ฟิว” รับมือม็อบมวลชน

เปิดไทม์ไลน์ 1 สัปดาห์เต็มหลังรัฐประหาร เกิดอะไรขึ้นบ้างในเมียนมา

เมียนมาขู่ใช้กระสุนจริง ประกาศกฎอัยการศึกเมืองมัณฑะเลย์

คณะรัฐประหารเมียนมา ประกาศภาวะฉุกเฉินเป็นเวลา 1 ปี

ม็อบเมียนมายังล้น ไม่ยั่นเคอร์ฟิวแม้กองทัพประกาศห้ามชุมนุม