สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) หรือทูตพาณิชย์ ณ กรุงย่างกุ้ง สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา รายงานสถานการณ์ในเมียนมา ณ วันที่ 18 มีนาคม 2564 ว่า องค์กรอาหารของสหประชาชาติ (UN Food Agency) รายงานว่า ตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของเมียนมาในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 จนเกิดการหยุดงานประท้วงที่ลุกลามไปทั่วประเทศเมียนมา ทำให้เริ่มเห็นสัญญาณของสินค้าอาหารและเชื้อเพลิงพลังงานที่เป็นปัจจัยสำคัญต่อการดำรงชีพมีราคาเพิ่มสูงขึ้น(จากมีการซื้อกักตุน) โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ เช่น ย่างกุ้งและมัณฑะเลย์
ธนาคารเอกชนของเมียนมา เช่น KBZ Bank และ CB Bank บาง สาขาได้เปิดทำการเพื่อให้บริการธุรกรรมทางการเงินตามประกาศของธนาคารกลางเมียนมาที่มีคำสั่งให้ธนาคารพาณิชย์เปิดให้บริการ แต่ก็ยังไม่สามารถเปิดทำการได้ทั้งหมด ในส่วนสาขาที่เปิดบริการสามารถเปิดทำการได้เพียงชั่วขณะก็ต้องปิดลง เนื่องจากมีประชาชนต่อคิวถอนเงินเป็นแถวยาว รวมถึงความกังวลในความปลอดภัยของ พนักงานธนาคาร
จากเหตุการณ์การประท้วงและการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในเมียนมา ส่งผลให้ราคาสินค้าและเชื้อเพลิงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น จนอาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคชาวเมียนมา อีกทั้งรัฐบาลทหารเมียนมายังไม่ได้มีนโยบายด้านเศรษฐกิจออกมา ให้ความช่วยเหลือภาคธุรกิจและประชาชนชาวเมียนมาอย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม ประกอบกับเม็ดเงินที่ขาดหายไปในระบบเศรษฐกิจจากการปิดทำการของธนาคารเอกชนและการขาดรายได้ของภาคแรงงานที่หยุดงาน อาจส่งผลให้เศรษฐกิจของเมียนมาต้องเผชิญกับการชะลอตัวในอนาคตได้
สคต. ณ กรุงย่างกุ้งระบุว่า ยังคงต้องติดตามสภาวะเศรษฐกิจของเมียนมาว่าจะมีการชะลอตัวลงมากน้อยเพียงใด ซึ่งอุปสรรคที่สำคัญยังคงอยู่ที่ปัญหาการหยุดงานประท้วงและความขัดแย้งระหว่างกลุ่มผู้ประท้วงกับรัฐบาลทหาร ที่หาก คลี่คลายได้เร็วเท่าใดก็จะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจเมียนมาได้มากเท่านั้น
จากข้อมูลของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร การค้าไทย-เมียนมา ในเดือนมกราคม 2564 มีมูลค่ารวม 16,625 ล้านบาท ขยายตัวลดลง 3.4% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยไทยส่งออก 11,069 ล้านบาท (-0.32%) นำเข้า 5,556 ล้านบาท (-9.04%) โดยสินค้าส่งออก 5 อันดับแรกของไทยไปเมียนมา ประกอบด้วย น้ำมันสำเร็จรูป มูลค่า 839 ล้านบาท (-40%), เครื่องดื่ม 831 ล้านบาท (-9%), รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ 639 ล้านบาท (+132%), เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ 553 ล้านบาท (-11%) และเคมีภัณฑ์ 552 ล้านบาท (+21%)
ส่วนการนำเข้าของไทยจากเมียนมา 5 อันดับแรกในเดือนมกราคม 2564 ประกอบด้วย ก๊าซธรรมชาติ มูลค่า 3,436 ล้านบาท (-10%), สินแร่โลหะอื่น ๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ 775 ล้านบาท (+26%), เนื้อสัตว์สำหรับการบริโภค 324 ล้านบาท (-26%), พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช 184 ล้านบาท (+11%) และเครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ 142 ล้านบาท (+46%)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
รง.จีนถูกเผา จี้“เมียนมา”คุมเข้ม 136 นักธุรกิจไทย Go Home
“เมียนมา”โกลาหลแห่ซื้อของตุน ห้างฯปิด 4 โมงเย็น-สินค้าไทยเฮ
ญี่ปุ่นไม่มั่นใจ“เมียนมา” สั่งงดปล่อยกู้สร้างสนามบิน 3 หมื่นล้าน
“เมียนมา”ฟาดหาง H&M หยุดสั่งผลิตเสื้อผ้า 56 โรงงาน
“เมียนมา”ปลดล็อก 72 สินค้าเฮ ไม่ต้องขอใบอนุญาตนำเข้า