จากความสำเร็จที่เกิดจากหลายเหตุปัจจัยประกอบกัน ทั้ง ความสามารถในการควบคุมการแพร่ระบาด และ ความคืบหน้าของโครงการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ที่สามารถฉีดให้ประชาชนจำนวนมากได้ในเวลาอันรวดเร็ว ทำให้ “สิงคโปร์” ไต่ขึ้นไปอยู่ใน อันดับที่1 ของ Bloomberg Covid Resilience Ranking ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา แซงหน้าแชมป์เก่าอย่างนิวซีแลนด์ที่หล่นลงมาอยู่ในอันดับ2 แทน ตามมาด้วยออสเตรเลีย อิสราเอล และไต้หวัน อันดับที่ 3 , 4 และ 5 ตามลำดับ
ส่วนไทยนั้น ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ได้หล่นลง 4 อันดับ จากอันดับที่ 9 มาอยู่อันดับที่ 13
การจัดอับดับของบลูมเบิร์กดังกล่าวนี้จะถือเป็นตัวชี้วัดของประเทศที่น่าอยู่ (อันดับตัวเลขจะต่ำ เช่น อันดับ 1 หมายถึงน่าอยู่มากที่สุด) หรือไม่น่าอยู่ (อันดับตัวเลขจะสูง เช่น อันดับที่ 53 ประเทศบราซิล ไม่น่าอยู่มากที่สุด) ในยุคที่โควิดกำลังแพร่ระบาดอยู่ก็ว่าได้
ทั้งนี้ การพิจารณาจัดอันดับมาจากปัจจัยต่าง ๆ ที่หลากหลาย เช่น อัตราการตายจากโควิด-19 ความสามารถในการตรวจหาเชื้อ ความยาก-ง่ายในการเข้าถึงวัคซีน และอิสระเสรีในการเดินทางไปไหนมาไหน เป็นต้น เพื่อดูว่าประเทศนั้น ๆ ดูแลด้านใดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด ทำให้การใช้ชีวิตของประชาชนทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด
บลูมเบิร์ก บอกว่าเหตุผลสำคัญที่สิงคโปร์แซงหน้านิวซีแลนด์ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา คือ โครงการฉีดวัคซีนให้ประชาชนที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพกว่า โดยสิงคโปร์สามารถฉีดวัคซีนให้ประชาชนไปแล้วประมาณ 1 ใน 5 ของประชากรทั้งประเทศ ( ณ สิ้นเดือนเม.ย.2564) ทำให้อัตราการติดเชื้อใหม่รายวันลดลงมาจนแทบจะเหลือ 0 เนื่องจากมีมาตรการเข้มงวดในการปิดประเทศและการกักตัว ทำให้ผู้คนทั่วไปส่วนใหญ่สามารถเดินทางไปไหนมาไหนได้เป็นปกติ แม้กระทั่งไปดูคอนเสิร์ต หรือท่องเรือสำราญ ซึ่งทั้งความไวและประสิทธิภาพในการฉีดวัคซีนของสิงคโปร์นั้น ทั้งนิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย และไต้หวันก็ยังสู้ไม่ได้
รายงานการจัดอันดับในเดือนเมษายนของบลูมเบิร์กระบุว่า การฉีดวัคซีนเพียงอย่างเดียวไม่สามารถสยบการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ เพราะในกรณีของฝรั่งเศสและชิลี แม้ประชาชนจะเข้าถึงวัคซีนได้ง่าย ก็ยังหล่นอันดับใน Bloomberg Covid Resilience Ranking ได้ นั่นเป็นเพราะมีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดกลายพันธุ์สายพันธุ์ใหม่ ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อใหม่รายวันพุ่งขึ้น แม้จะมีการฉีดวัคซีนไปมากแล้วก็ตาม
นอกจากนี้ ในประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศ ยังพบปัญหาวัคซีนขาดแคลน ทำให้การกลายพันธุ์ของไวรัสโควิดเป็นสายพันธุ์ใหม่ ยิ่งกลายเป็นเรื่องใหญ่มากขึ้น เช่นอินเดีย ที่ยอดผู้ติดเชื้อใหม่รายวันทุบสถิติใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่า (อินเดียอยู่ในอันดับที่ 30)
กรณีปัญหาดังกล่าวข้างต้น น่าวิตกมากที่สุดในโปแลนด์และบราซิล ซึ่งหล่นลงมาอยู่ในอันดับที่ 52 และ 53 ตามลำดับ (เป็นสองอันดับสุดท้ายในการจัดอันดับของบลูมเบิร์ก) ขณะที่เม็กซิโกที่เคยเป็นประเทศรั้งท้ายที่สุด สามารถพัฒนาตัวเองขึ้นไปอยู่ในอันดับที่ 48 (พัฒนาขึ้น 5 อันดับ ซึ่งเป็นการขยับขึ้นครั้งแรกของเม็กซิโก นับตั้งแต่ที่มีการจัดอันดับครั้งแรกในเดือน พ.ย. 2563) เนื่องจากมีการตรวจหาเชื้อเชิงรุกมากขึ้นส่งผลต่อการจัดทำมาตรการป้องกันที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นตามไปด้วย
ไม่กล่าวถึงไม่ได้ คือสหรัฐอเมริกา ที่ปรับอันดับดีขึ้นมาอยู่ที่อันดับ 17 (สูงขึ้น 4 อันดับ) เนื่องจากโครงการฉีดวัคซีนขับเคลื่อนได้เร็ว ทำให้เห็นชัดว่าอัตราการตายจากโควิดลดน้อยลง แม้ว่าอัตราการติดเชื้อใหม่จะยังขยับสูงขึ้นเนื่องจากหลายพื้นที่เริ่มการ์ดตกและผ่อนคลายล็อกดาวน์
ส่วนอังกฤษก็เป็นตัวอย่างที่ดี มีพัฒนาการเชิงบวกขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 18 เพราะแม้ว่าจะมีการลด-เลิกมาตรการล็อกดาวน์ในวงกว้าง แต่สถานการณ์ดีขึ้นเนื่องจากมีการฉีดวัคซีนให้ประชาชนจำนวนมากอย่างรวดเร็ว ควบคุมการเข้า-ออกชายแดนอย่างเข้มข้นเพื่อสกัดกั้นไวรัสกลายพันธุ์ โดยล่าสุดอังกฤษได้ระงับการเดินทางเข้าประเทศของผู้ที่มาจากอินเดีย ซึ่งมีการตรวจพบไวรัสโควิดที่กลายพันธุ์ถึง 2 จุดและแพร่ระบาดได้ไวขึ้น เป็นต้น (ขณะที่อังกฤษไต่อันดับดีขึ้น อินเดียกลับหล่นลงถึง 10 อันดับไปอยู่ที่อันดับ 30 เนื่องจากยอดผู้ติดเชื้อใหม่จากไวรัสสายพันธุ์ใหม่ (B.1.617) พุ่งทะลุวันละ 300,000 รายติดต่อกันหลายวัน
รายงานของบลูมเบิร์กให้บทเรียนน่าคิดอย่างหนึ่งว่า ขณะที่โครงการฉีดวัคซีนให้ประชาชนวงกว้างมีความคืบหน้า บางประเทศก็เริ่มชะล่าใจ และทิ้งการ์ดตกเร็วเกินไป ขณะที่ไวรัสโควิดกลายพันธ์สายพันธุ์ต่าง ๆแพร่ระบาดหนักส่งผลให้เกิดการระบาดระลอกใหม่ และอัตราการติดเชื้อก็พุ่งสูงเนื่องจากวัคซีนที่ฉีดไปแล้วยังสร้างภูมิต้านทานให้ประชาชนได้ไม่ทันการ ยกตัวอย่างเช่นในประเทศโปแลนด์ ซึ่งในเดือนเม.ย. มีอัตราการฉีดวัคซีนสูงถึง 13% ของจำนวนประชากร แต่เนื่องจากมีไวรัสโควิดกลายพันธุ์สายพันธุ์อังกฤษเข้าจู่โจม (เป็นสาเหตุการติดเชื้อราว 90% ของผู้ติดเชื้อโควิดระลอกใหม่) ทำให้ทั้งยอดผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตพุ่งขึ้นมากเป็นประวัติการณ์
เหตุการณ์คล้าย ๆกันนี้เกิดขึ้นในชิลี ซึ่งฉีดวัคซีนครบโดสให้ประชาชนแล้วเกือบ 1 ใน 3 ของประชากรทั้งประเทศและถูกจู่โจมโดยไวรัสโควิดกลายพันธุ์สายพันธุ์บราซิล
บางประเทศเช่น อิสราเอล เริ่มโครงการวัคซีนได้เร็วกว่าประเทศอื่น และขณะนี้ประชากรมากกว่า 55% ก็ได้รับการฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว ทำให้อัตราการติดเชื้อใหม่ลดลงอย่างมาก และทำให้ไต่อันดับสูงขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 4 ในการจัดอันดับของบลูมเบิร์ก แต่นักวิเคราะห์ก็ได้ออกมาเตือนว่า แม้แนวโน้มจะเป็นบวกก็อย่าได้ชะล่าใจ
เพราะการฉีดวัคซีนไม่ได้หมายความว่าทุกอย่างจะจบลง ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขจากมหาวิทยาลัยวอชิงตันในสหรัฐอเมริกา ให้ความเห็นว่า การฉีดวัคซีนให้ประชาชนวงกว้างนั้นยิ่งทำได้เร็วก็ยิ่งดี เพราะหากชักช้า ก็จะเปิดโอกาสให้ไวรัสกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ใหม่ ๆ ที่อาจทำให้ต้องพัฒนาวัคซีนตัวใหม่ ๆออกมากำราบ หรือไม่ก็ต้องมีวัคซีนเสริมประสิทธิภาพของวัคซีนตัวเก่า (vaccine booster) ออกมาใช้คู่กันเพื่อให้สามารถป้องกันไวรัสสายพันธุ์ใหม่ “นั่นหมายถึงเราอาจต้องเริ่มใหม่กันไปเรื่อย ๆ” Ali Mokdad จากมหาวิทยาลัยวอชิงตันกล่าว
มาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่สอดคล้องกับการเริ่มเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวและการเปิดเศรษฐกิจใหม่อีกครั้งของหลาย ๆประเทศ รวมทั้งความสามารถในการฉีดวัคซีนให้ประชาชนได้ทันกับการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ๆ จะเป็นปัจจัยสำคัญในการเปลี่ยนแปลงอันดับสำหรับ Bloomberg Covid Resilience Ranking ครั้งต่อไปในเดือนพฤษภาคม
คลิกที่นี่ ดูอันดับของ Bloomberg Covid Resilience Ranking ทั้ง 53 ประเทศ
ที่มา Bloomberg Covid Resilience Ranking