WHO แถลงจัดชั้น “โควิดสายพันธุ์อินเดีย” เป็นภัยคุกคามสุขภาพระดับโลกแล้ว

10 พ.ค. 2564 | 23:51 น.
อัปเดตล่าสุด :11 พ.ค. 2564 | 07:04 น.

องค์การอนามัยโลก (WHO) จัดชั้นไวรัสโควิดกลายพันธุ์สายพันธุ์อินเดีย (B.1.617) เป็น “สายพันธุ์ที่สร้างความวิตกกังวล” ซึ่งบ่งชี้ว่าไวรัสดังกล่าวได้กลายเป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพในระดับโลกแล้ว

ขณะที่ประเทศไทย ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แถลงข่าววานนี้ (10 พ.ค.) มีการตรวจพบผู้ติดเชื้อ ไวรัสโควิดสายพันธุ์อินเดีย เป็นรายแรก โดยเป็นหญิงไทยที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ (ปากีสถาน) ในวันเดียวกันนั้น (10 พ.ค.) ทางด้าน องค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) ได้มีการแถลงข่าว ระบุว่า ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์อินเดีย หรือไวรัส B.1.617 ได้ถูกจัดชั้นให้เป็นไวรัส "สายพันธุ์ที่สร้างความวิตกกังวล"  (variant of concern) ซึ่งบ่งชี้ว่าไวรัสดังกล่าวได้กลายเป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพในระดับโลก เนื่องจากไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์อินเดีย มีการแพร่ระบาดรวดเร็วกว่าไวรัสโควิดสายพันธุ์ดั้งเดิม และมีหลักฐานแสดงว่าไวรัสชนิดนี้อาจจะสามารถหลบเลี่ยงวัคซีนต้านโควิด

อย่างไรก็ตาม WHO ย้ำว่า การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด ยังคงเป็นเรื่องจำเป็นและเป็นอาวุธที่มีประสิทธิภาพในการต่อสู้กับโควิด-19

“เนื่องจากการติดเชื้อเกิดขึ้นได้ง่าย ดังนั้น ไม่ว่าเราจะอาศัยอยู่ที่ไหน และไม่ว่าไวรัสที่กระจายอยู่รอบตัวเราจะเป็นสายพันธุ์ใด เราต้องมั่นใจว่าได้ทำทุกวิถีทางที่มีอยู่ในการป้องกันตัวเองไม่ให้ติดเชื้อโรคนี้” มาเรีย ฟาน เคิร์กโคฟ เจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคโควิด-19 ของ WHO กล่าว   

แบบไหนถึงเรียก “สายพันธุ์ที่สร้างความวิตกกังวล”

รายงานข่าวระบุว่า ก่อนหน้านี้ WHO จัดชั้นไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์อินเดียว่าเป็นเพียงไวรัส "สายพันธุ์ที่น่าสนใจ" (variant of interest) เนื่องจากจำเป็นต้องมีการศึกษามากขึ้นเพื่อให้เข้าใจไวรัสดังกล่าวได้อย่างสมบูรณ์ การที่ WHO จัดชั้นให้ไวรัสโควิดกลายพันธุ์สายพันธุ์อินเดีย (เนื่องจากมีการตรวจพบครั้งแรกในประเทศอินเดีย) เป็น “สายพันธุ์ที่สร้างความวิตกกังวล” (variant of concern) นั่นหมายความว่า มันสามารถแพร่ระบาดได้ง่ายขึ้น เป็นอันตรายถึงชีวิตได้มากขึ้น หรืออาจจะดื้อมากขึ้นต่อวัคซีนและการรักษาที่มีอยู่ในปัจจุบัน

ทั้งนี้ WHO ได้ระบุไวรัสโควิด-19 จำนวน 3 สายพันธุ์ก่อนหน้านี้ เป็นสายพันธุ์ที่สร้างความวิตกกังวล  ได้แก่ ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์อังกฤษ (B.1.1.7) เนื่องจากมีการตรวจพบครั้งแรกในเมืองเคนท์ ประเทศอังกฤษ และเป็นสายพันธุ์ที่แพร่ระบาดทั่วสหรัฐอเมริกาในขณะนี้, ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์แอฟริกาใต้ (B.1.351) และไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์บราซิล (P.1)

WHO จะให้รายละเอียดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เพิ่มเติมในการแถลงประจำสัปดาห์ที่จะมีขึ้นในวันอังคารนี้ (11 พ.ค. เวลาท้องถิ่น) 

ทำความรู้จักไวรัสโควิดกลายพันธุ์สายพันธุ์อินเดียกันอีกครั้ง

ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีรายงานการพบเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์คู่ (Double mutant) หรือเรียกว่าไวรัส B.1.617 นักวิจัยพบว่า ไวรัสดังกล่าวมีการกลายพันธุ์ร่วมที่ตำแหน่ง E484Q และ L452R (จึงถูกเรียกว่าไวรัสกลายพันธุ์คู่) ซึ่งเชื่อว่าลักษณะดังกล่าวทำให้เชื้อไวรัสมีความสามารถในการหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้ดีขึ้น มีรายงานการตรวจพบครั้งแรกในอินเดียเมื่อช่วงปลายปี 2563 และมีความเป็นไปได้ว่า ไวรัสดังกล่าวจะเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการระบาดใหญ่ระลอกใหม่ในประเทศอินเดีย ณ  ขณะนี้

ต่อมาล่าสุด นักวิทยาศาสตร์ได้ตรวจพบเชื้อกลายพันธุ์ใหม่แบบ Triple Mutant ซึ่งเกิดการเปลี่ยนแปลงใน 3 ตำแหน่ง เรียกว่า B.1.618 หรือ สายพันธุ์เบงกอล (Bengal strain) เนื่องจากพบการแพร่กระจายส่วนใหญ่ในพื้นที่รัฐเบงกอลตะวันตก ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา และยังพบในการสุ่มตรวจที่เมืองหลวงกรุงเดลี และรัฐมหาราษฏระ

เชื้อกลายพันธุ์แบบ Triple Mutant เกิดจากการเปลี่ยนแปลงโปรตีนตรงส่วนหนาม (spike protein) บนผิวของไวรัส โดยตำแหน่ง H146 และ Y145 หายไป และเกิดการกลายพันธุ์ในตำแหน่ง E484K และ D614G แม้ว่าในขณะนี้ ทางผู้เชี่ยวชาญเผยว่ายังไม่มีหลักฐานสรุปแน่ชัดเกี่ยวกับเชื้อกลายพันธุ์ใหม่ดังกล่าว แต่ความน่ากังวลคือ มีการกลายพันธุ์ที่สำคัญในตำแหน่ง E484K ที่เป็นจุดสำคัญในการหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกัน ซึ่งพบในสายพันธุ์บราซิลและแอฟริกาใต้ด้วยเช่นกัน นั่นหมายความว่า เชื้อกลายพันธุ์นี้ อาจส่งผลให้ประสิทธิภาพของวัคซีนลดลง

ข้อมูลอ้างอิง

WHO classifies triple-mutant Covid variant from India as global health risk

ข่าวที่เกี่ยวข้อง