องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศ เลื่อนการรับรองวัคซีน “ซิโนแวค” ของจีน โดยให้เหตุผลว่า จำเป็นต้องตรวจสอบและขอข้อมูลเพิ่มเติม ว่ากระบวนการผลิตวัคซีนตัวนี้ มีความปลอดภัย และเป็นไปตามมาตรฐานสากลหรือไม่ เบื้องต้นคาดว่า WHO อาจต้องใช้เวลาอีกนานเป็นเดือนในการพิจารณาอนุมัติให้ใช้วัคซีนตัวนี้ได้ ซึ่งเร็วสุดอาจเป็นภายในเดือน มิ.ย.นี้
เดอะ วอลล์ สตรีท เจอร์นัล รายงานว่า WHO ได้ขอให้ทางบริษัท ซิโนแวค ไบโอเทค ผู้ผลิตวัคซีนโคโรนาแวค (CoronaVac) ซึ่งเป็นวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของบริษัท ส่งข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อพิจารณา โดยเป็นข้อมูลด้านความปลอดภัยและกระบวนการผลิตของวัคซีนตัวนี้ว่าเป็นไปตามมาตรฐานของ WHO หรือไม่ ก่อนที่จะมีการพิจารณาอนุมัติ รับรองให้ใช้วัคซีนโควิดตัวนี้ในกรณีฉุกเฉินอย่างเป็นทางการ
ทั้งนี้ แหล่งข่าวใกล้ชิดในกระบวนการพิจารณาดังกล่าวเปิดเผยว่า เป็นไปได้ที่ WHO จะเลื่อนการรับรองไปเป็นเดือนมิ.ย.
หากวัคซีนโคโรนาแวคได้รับการรับรองโดย WHO ก็จะเป็นวัคซีนป้องกันโควิด-19 ตัวที่สองของจีน ที่ได้รับการรับรอง โดยตัวแรกที่ WHO รับรองให้ใช้ในกรณีฉุกเฉินได้แล้วตั้งแต่เมื่อต้นเดือนพ.ค.นั้นได้แก่วัคซีนต้านโควิด-19 ของบริษัท ซิโนฟาร์ม (Sinopharm) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของจีน
แหล่งข่าวยังระบุด้วยว่า การรับรองวัคซีนของโคโรนาแวคเพิ่มขึ้นยังจะทำให้ WHO มีความสามารถในการกระจายวัคซีนป้องกันโควิดให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาผ่านทางโครงการ “โคแวกซ์” (COVAX) ที่ WHO ให้การสนับสนุนอยู่ ได้อย่างทั่วถึงมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ ซิโนแวคยังไม่ได้เปิดเผยว่าจะสามารถส่งมอบวัคซีนให้โครงการ COVAX ของ WHO ได้มากน้อยเพียงใด แหล่งข่าวเปิดเผยกับเดอะ วอลล์ สตรีท เจอร์นัลว่า เจ้าหน้าที่ของโครงการ COVAX กำลังเจรจาหารือกับซิโนแวคเกี่ยวกับราคา ปริมาณ และกำหนดส่งมอบที่ซิโนแวคสามารถเสนอให้กับโครงการ
ทั้งนี้ วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของบริษัทผู้ผลิตในประเทศตะวันตก เช่น แอสตร้าเซนเนก้า , จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน (J&J) และไฟเซอร์ ต่างได้รับการรับรองโดย WHO แล้ว และเป็นวัคซีนในโครงการ COVAX แล้วเช่นกัน
ในส่วนของวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของบริษัท ซิโนแวค นั้น แม้จะยังไม่ได้รับการรับรองโดย WHO แต่ก็มีการใช้งานแล้วในหลายประเทศแถบเอเชีย รวมทั้งไทย โดยในเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ซิโนแวคเปิดเผยว่า มีการส่งมอบวัคซีนให้กับประเทศต่าง ๆแล้วจำนวน 300 ล้านโดส ซึ่งทางบริษัทตั้งเป้าจะผลิตวัคซีนให้ได้ราว 2,000 ล้านโดสต่อปี และมีแผนตั้งโรงงานผลิตวัคซีนในบราซิลและอียิปต์
ข้อมูลอ้างอิง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง