ตามที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มอบนโยบายการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงและมาตรฐานความปลอดภัยในเส้นทาง พร้อมให้เร่งดำเนินโครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 3 (ถนนสุขุมวิท) สาย ตราด - หาดเล็ก ที่ยังอยู่ระหว่างการก่อสร้างให้เสร็จสมบูรณ์ตลอดเส้นทาง เพื่อรองรับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดตราด สนับสนุนเขตเศรษฐกิจชายแดน (Special Economic Zone : SEZ) รองรับการขยายตัวของเมืองและแก้ไขปัญหาการจราจร เนื่องจากจังหวัดตราดได้รับการจัดตั้งให้พัฒนาเป็นหนึ่งในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในระยะแรก
ตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางการค้าการขนส่งต่อเนื่องระหว่างประเทศและเป็นศูนย์กลางการบริการด้านการท่องเที่ยวระดับภูมิภาค อีกทั้งยังเป็นประตูการค้าชายแดน มีด่านการค้าบ้านหาดเล็ก ซึ่งมีศักยภาพในการเป็นศูนย์กระจายสินค้า สามารถเชื่อมโยงกับเขตเศรษฐกิจพิเศษเกาะกง ราชอาณาจักรกัมพูชา
ที่ผ่านมากรมทางหลวงได้ขยายเส้นทางดังกล่าวเป็น 4 ช่องจราจรแล้วเสร็จระยะทางรวม 65.550 กิโลเมตร ซึ่งขณะนี้คงเหลือช่วงสุดท้าย ตอน ทางแยกเข้า ต.ไม้รูด - บ.คลองจาก ระยะทางประมาณ 23.450 กิโลเมตร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมจึงผลักดันให้แล้วเสร็จภายในปี 2564 ซึ่งหากโครงการแล้วเสร็จจะเสริมสร้างโครงข่ายทางหลวงให้สมบูรณ์ตลอดเส้นทาง 89 กิโลเมตร
กรมทางหลวง รับมอบนโยบายดังกล่าว โดยสำนักก่อสร้างทางที่ 2 เร่งดำเนินโครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 3 (ถนนสุขุมวิท) สาย ตราด - หาดเล็ก ตอนทางแยกเข้า ต.ไม้รูด - บ.คลองจาก จุดเริ่มต้นโครงการ กม.454+390 (กม.เก่า กม.55+300) – กม.477+840 (กม.เก่า กม.78+750 ) ระยะทางประมาณ 23.450 กิโลเมตร ซึ่งผ่านพื้นที่อำเภอเมืองตราด และอำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด ก่อสร้างเป็นมาตรฐานทางชั้นพิเศษ 4 ช่องจราจร ผิวทาง Asphalt Concrete Surface กว้างช่องละ 3.50 เมตร
ไหล่ทางด้านนอกกว้าง 2.50 เมตร รวมงานก่อสร้างสะพานคอนกรีตอีก 7 แห่ง และก่อสร้างศาลาทางหลวงในบริเวณสองข้างทางเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนจำนวน 11 แห่ง พร้อมติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่างตลอดเส้นทาง งบประมาณ 985,471,490 บาท ปัจจุบันการก่อสร้างคืบหน้าประมาณ 85% คาดว่าจะก่อสร้างจะแล้วเสร็จประมาณเดือน พฤศจิกายน 2564 นี้
ทั้งนี้ เมื่อโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จจะเป็นเส้นทางที่มีความสำคัญด้านการสัญจรของประชาชนในพื้นที่ ส่งเสริมการขนส่งสินค้า การท่องเที่ยว และเป็นเส้นทางที่เชื่อมต่อการเดินทางระหว่างประเทศไทยกับราชอาณาจักรกัมพูชา ที่มีอัตราการเพิ่มของปริมาณรถสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ และสังคมของจังหวัดตราด รวมถึงช่วยสนับสนุนโครงการพัฒนาระเบียบเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ของประเทศไทยอีกด้วย