ลุ้น“แพ็กซ์โลวิด-โมลนูพิราเวียร์”รักษาโควิดฟื้นโลก-น้ำมันแพงถ่วงศก.ไทย

20 พ.ย. 2564 | 04:13 น.
อัปเดตล่าสุด :20 พ.ย. 2564 | 11:38 น.

เปิดปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจไทยปี 65 น้ำมันแพง ค่าขนส่ง โลจิสติกส์พุ่ง เงินเฟ้อขยับ ฉุดเศรษฐกิจ-กำลังซื้อผู้บริโภค สภาอุตฯ คาดจีดีพีปีหน้าได้ 3-4% ภายใต้สมมุติฐานโควิดไม่กลับมาระบาด ลุ้น“แพ็กซ์โลวิด-โมลนูพิราเวียร์”ยารักษาโควิดช่วยฟื้นโลกกลับมาสดใส

 

เรื่องน้ำมันแพง ดันต้นทุนค่าขนส่งและราคาสินค้าจ่อปรับขึ้น กำลังเป็นอีก 1 ประเด็นร้อนที่ทุกคนจับตามอง โดยสมาพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทยได้เรียกร้องให้รัฐบาลโดยกระทวงพลังงานพิจารณาข้อเรียกร้อง ตรึงราคาน้ำมันดีเซลลิตรละ 25 บาท ลดภาษีสรรพสามิตลง 5 บาท และยกเลิกการเก็บเงินเข้ากองทุนพลังงาน 1 ปี โดยชี้แจงให้เห็นถึงความเดือดร้อนจากน้ำมันแพง

 

ปัจจุบันรถขนส่งในไทยมีจำนวน 1.4 ล้านคัน ผลกระทบจาก โควิด-19 ทำให้งานและรายได้ลดลงกว่า 50% รถกว่า 400,000 คัน ต้องจอดนิ่ง ส่งผลให้แรงงานตกงานแล้วราว 400,000 คน หากรัฐบาลเมินข้อเสนอจะยกระดับทั้งหยุดเดินรถ หรือเติมน้ำมันรถขนส่งคันละ 20 ลิตร วิ่งจนน้ำมันหมดที่ไหนก็จอดที่นั่น

 

ลุ้น“แพ็กซ์โลวิด-โมลนูพิราเวียร์”รักษาโควิดฟื้นโลก-น้ำมันแพงถ่วงศก.ไทย

 

หากยังไม่ได้รับการตอบสนอง ภายในวันที่ 1 ธันวาคม 2564 ทางสหพันธ์ฯจะยกระดับการเรียกร้องโดยจะพิจารณาปรับขึ้นราคาค่าขนส่งของรถบรรทุกที่เป็นสมาชิกสมาพันธ์ฯขึ้นอีก 10% รวมถึงจะเคลื่อนขบวนรถบรรทุกไปกดดันที่รัฐสภาด้วย ขณะที่ฟากฝั่งรัฐบาลระบุได้ช่วยเหลือในการตรึงราคาน้ำม้นดีเซลไว้ที่ 30 บาทต่อลิตรแล้วในเวลานี้ และมีส่งสัญญาณชัดจะไม่ปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันลง แต่จะเลือกใช้วิธีกู้เงินเพิ่มอีก 2 หมื่นล้านบาทเพื่อใช้ตรึงราคาดีเซลแทน พร้อมทั้งจะนำรถทหารมาให้บริการขนส่งสินค้าแทน ทำให้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมามากมาย

 

ลุ้น“แพ็กซ์โลวิด-โมลนูพิราเวียร์”รักษาโควิดฟื้นโลก-น้ำมันแพงถ่วงศก.ไทย

 

นายเกรียงไกร  เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่าขณะนี้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 79-82 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล จากก่อนหน้านี้ขึ้นไปที่ 83-85 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ซึ่งการอ่อนตัวลงมาจากก่อนหน้านี้จีนผู้ใช้น้ำมันรายใหญ่ของโลกมีการนำน้ำมันในคลังสำรองออกมาใช้เพื่อทุเลาปัญหา กดดันทำให้ราคาน้ำมัน ราคาก๊าซ รวมทั้งราคาถ่านหินเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงอ่อนตัวลงมา แต่แนวโน้มก็ยังอยู่ในราคาที่สูง

 

ฉะนั้นไทยในฐานะประเทศผู้นำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ (9 เดือนแรกปี 2564 ไทยนำเข้าสินค้าน้ำมันเชื้อเพลิง ทั้งน้ำมันสำเร็จรูป น้ำมันดิบ ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ มูลค่ารวม 9.01 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 38%  เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน) โดยพลังงานทุกอย่างขึ้นราคาหมด ถือเป็นเด้งที่ 1

 

ส่วนเด้งที่ 2 คือ อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทอ่อน ส่งผลทำให้ราคาพลังงาน เช่นราคาน้ำมันดีเซล และน้ำมันทุกชนิดที่นำเข้ามาปรับตัวสูงขึ้นตามเงินบาทที่อ่อนค่า เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ภาคการขนส่งออกมาประท้วงและเรียกร้องให้ภาครัฐตรึงราคาดีเซลไมให้เกิน 25 บาทเป็นเวลา 1 ปี แต่ภาครัฐยังไม่ตอบรับ แต่จะใช้วิธีตรึงราคาดีเซลไว้ไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตรแทน

 

 “สิ่งที่จะเกิดขึ้นจากนี้ไปคือ ค่าขนส่งทุกประเภทจะแพงขึ้น ค่าโลจิสติกส์ก็แพงขึ้น รวมถึงค่าพลังงานที่จะต้องผันแปรตามราคาพลังงานเช่น ค่าไฟฟ้าที่ส่งผลกับภาคการผลิตกำลังมีแนวโน้มราคาสูงขึ้น ค่าครองชีพของประชาชนก็จะต้องสูงขึ้น เงินเฟ้อจะสูงขึ้น ทำให้กำลังซื้อของประชานที่กำลังจะฟื้น ก็ฟื้นตัวไม่ได้เต็มที่ ทั้งที่เราเปิดประเทศแล้ว ก็มีเรื่องของต้นทุนที่แพงขึ้น เงินเฟ้อสูงขึ้น กดดันกำลังซื้อไมให้เติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพ หรือได้อย่างที่ควรจะเป็น”

 

อย่างไรก็ดีแม้เงินบาทอ่อนค่า(ล่าสุดเริ่มแข็งค่าขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯแม้จะยังส่งผลดีต่อภาคการส่งออกที่ทำให้มีความสามารถในการแข่งขันด้านราคาที่ดีขึ้น แต่ในขณะเดียวกันภาคการส่งออกก็ยังมีปัญหาเดิม ๆ อยู่ เช่น ค่าระวางเรือที่ยังอยู่ในระดับสูง การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ในการส่งออก ทำให้สินค้าบางรายการที่มีมูลค่าต่ำ หรือว่ามีกำไรน้อยขาดทุนเลย โดยเฉพาะสินค้าภาคการเกษตรทั้งหลาย จากค่าขนส่งแพงกว่าราคาสินค้าหลายเท่า สินค้าเหล่านี้กำไรไม่มากทำให้ขาดทุน แต่ถ้าสินค้าที่มีมูลค่าสูง หรือมีมูลค่าเพิ่มสูง เช่น อิเล็กทรอนิกส์ พวกฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ เครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์ ก็ยังพอไปได้

 

ลุ้น“แพ็กซ์โลวิด-โมลนูพิราเวียร์”รักษาโควิดฟื้นโลก-น้ำมันแพงถ่วงศก.ไทย

 

ขณะที่การเปิดประเทศของไทย แม้จะเป็นโอกาสในการฟื้นและกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่จากประสบการณ์ของหลายประเทศที่เป็นคู่ค้าของไทยที่ได้มีการเปิดประเทศแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา ยุโรป จีน ญี่ปุ่นก็มีการกลับมาระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ ซึ่งเวลานี้ทั่วโลกต่างมุ่งหวังที่จะมีรักษาโควิด ทดแทนวัคซีนที่ช่วยสร้างภูมิต้านทานโรค แต่ก็ยังมีโอกาสติดเชื้อได้ โดยที่มีข่าวออกมาคือมียาเม็ดต้านไวรัสโควิดของไฟเซอร์ที่ชื่อว่า “แพ็กซ์โลวิด” หลังจากที่บริษัทเมอร์คฯ ประกาศมียาต้านไวรัสชื่อ “โมลนูพิราเวียร์” ทำให้โลกมีความหวังว่าถ้าได้ผลจริง และผลิตออกมาได้มากในปีหน้าน่าจะสามารถเอาโควิดอยู่ทั่วโลกรวมทั้งไทยด้วย

 

“แต่ถ้าเกิดเอาไม่อยู่ และในต่างประเทศโควิดมีการระบาดเพิ่มขึ้นและนำไปสู่การล็อกดาวน์อีกก็จะทำให้ความไม่แน่นอนของการส่งออกของเราในบางประเทศก็อาจจะได้รับผลกระทบด้วย เพราะเศรษฐกิจและกำลังซื้อเขาจะแย่ลง อย่างไรก็ดีในปีนี้คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)คาดการส่งออกของไทยจะขยายตัวได้ 12-14% ส่วนปี 2565 ทาง กกร.คงมีการคาดการณ์กันช่วงปลายปีนี้ถึงต้นเอนมกราคมปีหน้า เพราะคงต้องสถานการณ์และปัจจัยหลาย ๆ ด้านก่อน อย่างไรก็ดีส่วนตัวคาดว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือจีดีพีของไทยในปี 2565 จะขยายตัวได้ที่ระดับ 3-4% ภายใต้สมมุติฐานโควิดไม่กลับมาระบาดรอบที่ 4 หรือ 5 เพราะจะได้ภาคท่องเที่ยว บริการ ลงทุน การบริโภคมาช่วย” นายเกรียงไกร กล่าวทิ้งท้าย