นายนิวัฒน์ รุ่งสาคร ผวจ.ลพบุรี เผยถึงการรับมือภัยแล้งในพื้นที่ ภายหลังได้มีการประกาศเข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเต็มตัว ว่า ขณะนี้ได้มีการตั้งศูนย์ป้องกันบรรเทาสาธารณภัย (ศูนย์บัญชาการภัยแล้ง) ตามข้อสั่งการของ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย พร้อมได้สั่งการไปยังองค์กรปกครองท้องถิ่น(อปท.) ทั้งเทศบาล อบต. เตรียมให้การช่วยเหลือประชาชน เตรียมพาหนะ รถน้ำ กำลังพล และดูแลบ่อน้ำบาดาลในพื้นที่
โดยดำเนินการควบคู่กับการควบคุมมลพิษ PM2.5 โดยประชาสัมพันธ์ทุกช่องทางแก่ประชาชน ในการ ห้ามเผาป่า หญ้า เศษไม้ ในที่โล่ง ซึ่งเป็นความผิด แบ่งความรับผิดชอบ เช่น กรมทางหลวงดูแลห้ามเผาในเขตทางหลวง พื้นที่ป่า ดูแลโดยกรมป่าไม้ ที่สาธารณะอื่น ๆ เป็นความรับผิดชอบของ อปท. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน
เนื่องจากตัวเมืองลพบุรี ต้องพึ่งพาน้ำจากคลองชัยนาท-ป่าสักเป็นหลัก ดังนั้น จึงมีการประชุมคณะกรรมการจัดการน้ำ เพื่อจัดเตรียมความพร้อม โดยพบว่าปกติในแต่ละปีการปล่อยน้ำในคลองของชลประทานสามารถรองรับการอุปโภคบริโภคได้ แต่ปีนี้มีการทำนาปรังกว่า 2 แสนไร่ ซึ่งมากกว่าเดิมถึงแสนไร่ และระยะทางจากต้นทางแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ อ.มโนรมย์ จ.ชัยนาท มาถึงลพบุรีเป็นระยะทางถึง 90 กม. ตลอดระยะทางมีการสูบน้ำไปใช้เหมือนกัน
จึงต้องมีการบริหารจัดการกลุ่มผู้ใช้น้ำ ทำความตกลงกับเกษตรกรในพื้นที่ ตั้งแต่อำเภอบ้านหมี่ อำเภอเมือง ที่จะมีการสูบน้ำโดยให้แบ่งรอบวันการสูบน้ำ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบ พร้อมมีการมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ชลประทาน และผู้นำชุมชน คอยตรวจสอบการสูบน้ำของเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่น้ำประปาซึ่งมีปัญหาน้ำดิบที่จะผลิตน้ำประปาไม่เพียงพอเกือบทุกปี ได้มอบหมายให้การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) สาขาลพบุรี ทำแผนเผชิญเหตุ พร้อมคอยวัดระดับน้ำ กรณีน้ำในคลองต่ำกว่า 2.5 เมตร ต้องสูบทอยน้ำ กั้นกักน้ำเพื่อให้เพียงพอต่อการสูบ พร้อมหาแหล่งน้ำสำรอง
ซึ่งขณะนี้มีอ่างเก็บน้ำห้วยใหญ่ ปริมาณความจุน้ำ 4 ล้าน ลบ.เมตร แต่ต้องใช้กับพื้นที่เกษตรกรรมโดยรอบด้วย โดยได้มีการขอน้ำใช้ผลิตประปาจากอ่างดังกล่าว 1 ล้าน ลบ.เมตร เพราะการผลิตน้ำประปา จะใช้น้ำประมาณ 8 หมื่น ลบ.เมตร/ วัน ดังนั้น จะมีน้ำสำรองฉุกเฉินใช้ได้ประมาณ 10 วัน
รวมการกักกั้นน้ำในคลองชลประทาน และแหล่งน้ำจากอ่างห้วยใหญ่ ก็จะสามารถมีน้ำหล่อเลี้ยงคนลพบุรี ได้ถึง 15 วัน ซึ่งจะทันต่อการผันน้ำจากแม่น้ำป่าสัก บริเวณเขื่อนพระรามหก ในคลองชัยนาท-ป่าสัก เข้ามาสมทบได้ทันท่วงที
นอกจากนี้หากเกิดสภาวะวิกฤตจริง ๆ ได้ให้ กปภ.หาแหล่งน้ำสำรองไว้ และประสานงาน เทศบาล อบต.ในพื้นที่ได้รับผลกระทบ ว่ามีรถน้ำเท่าไร จะได้นำน้ำไปแจกจ่ายให้แก่ประชาชนถึงบ้าน
ส่วนแผนระยะยาว นั้น กปภ.จัดหาบ่อบาดาล จำนวน 15 บ่อ ซึ่งต้องขออนุญาตจากหน่วยงานเกี่ยวข้อง ให้ใช้พื้นที่ ซึ่งได้รับอนุญาตเพียง 3 บ่อเท่านั้น จึงได้เร่งรัดให้ประสานงานโดยเร็ว หรือจัดหาบ่อบาดาลให้ได้ครบ 15 บ่อ ตามความต้องการใช้น้ำในยามฉุกเฉิน
นอกจากนี้ยังให้มีการบริหารจัดการการจ่ายน้ำในพื้นที่สูง เช่น พื้นที่ ต.นิคมสร้างตนเอง ต.กกโก จะต้องมีการสร้างจุดส่งต่อน้ำ เพราะกว่าน้ำจะไหลไปถึง ใช้เวลานาน ซึ่งขณะนี้จัดเตรียมไว้ที่อ่างซับเหล็ก ต.นิคมสร้างตนเอง อ.เมืองลพบุรี
พร้อมกันนี้ได้มีการเจรจาขอใช้พื้นที่ ในกองบิน 2 กองทัพอากาศ เพื่อขุดบ่อที่จะเก็บน้ำได้ราว 5 แสน ลบ.เมตร ผนวกกับมีบ่อน้ำเดิมขนาด 3 แสน ลบ.เมตร จำนวน 4 บ่อ จึงสามารถมีแหล่งต้นทุนน้ำกว่า 1 ล้าน ลบ.เมตร ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำบันทึกข้อตกลง (MOU) โดยอยู่ระหว่างการพิจารณาของกองทัพอากาศ
ขณะที่แผนระยะยาวของ กปภ. เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำดิบอีกโครงการ คือ การต่อท่อจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่ จ.สิงห์บุรี เพื่อเข้าสู่ลพบุรีโดยตรง ส่วนในพื้นที่อื่น เราให้แต่ละอำเภอมีการสำรวจพื้นที่แล้งซ้ำซาก โดยให้วางมาตรการว่าในช่วง มี.ค.-เม.ย. จะแก้ไขปัญหาอย่างไร
สำหรับจุดบริเวณโรงสูบน้ำเข้าคลองชัยนาท-ป่าสัก ที่ อ.มโนรมย์ ตามแผนของกรมชลประทาน ระยะยาว ได้มีการออกแบบสถานีสูบน้ำให้เป็นรูปแบบลอยน้ำเสร็จแล้ว โดยรอการจัดสรรงบประมาณ ทั้งนี้ ลพบุรีมีปัญหาทั้งแล้งซ้ำซากและท่วมซ้ำซากทั้งหมด 6 จุด ซึ่งสำนักงานชลประทานที่ 10 ได้ดำเนินการสำรวจและออกแบบโครงการต่าง ๆ เรียบร้อยแล้ว และมีการดำเนินงานตามงบประมาณที่ได้รับไปบ้างแล้ว คาดว่าจะสามารถลดปัญหาไปได้บ้าง