วันที่ 9 มี.ค. 2565 นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ พร้อมคณะเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ เจ้าหน้าที่กรมประมง ได้ประชุมผ่านระบบออนไลน์ร่วมกับสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย และสมาคมส่งเสริมผู้ใช้วัตถุดิบอาหารสัตว์ เพื่อหารือถึงผลกระทบและแนวทางแก้ไขเพื่อบริหารจัดการวัตถุดิบอาหารสัตว์ในสถานการณ์ปัจจุบันที่ขาดแคลนและมีราคาสูงขึ้น โดยทางสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยแจ้งว่า โรงงานอาหารสัตว์ได้รับผลกระทบด้านต้นทุนจากราคาวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปี 2563 ตลอดจนกระทั่งปัจจุบัน คิดเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้น 25-30%
สำหรับปัจจัยที่ส่งผลต่อราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์เวลานี้มาจาก 2 ส่วน 1.สถานการณ์ราคาวัตถุดิบในตลาดโลก รวมถึงค่าบริหารจัดการและการขนส่ง ซึ่งเป็นปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ 2.นโยบายภาครัฐที่ต้องการดูแลราคาพืชอาหารสัตว์ในประเทศ เช่น มาตรการควบคุมการนำเข้าข้าวสาลีโดยจะต้องรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ภายในประเทศ 3 ส่วนก่อนนำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วน(มาตรการ 3 : 1) การจำกัดช่วงเวลานำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากประเทศเพื่อนบ้าน
มาตรการด้านภาษีอาทิ ภาษีนำเข้ากากถั่วเหลือง 2% รวมถึงที่ผ่านมาประเทศสหรัฐอเมริกาและอาร์เจนตินา ซึ่งเป็นแหล่งผลิตถั่วเหลืองที่สำคัญของโลกประสบภาวะภัยแล้งส่งผลให้ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยลง ประกอบกับสถานการณ์ปัจจุบันมีความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ซึ่งทั้งสองประเทศเป็นแหล่งส่งออกวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่สำคัญต่อประเทศไทยรวมถึงทั่วโลก โดยเฉพาะข้าวสาลีสำหรับเลี้ยงสัตว์ ทำให้การส่งออกวัตถุดิบอาหารสัตว์หยุดชะงักเกิดการขาดแคลนวัตถุดิบอาหารสัตว์และทำให้มีราคาสูงขึ้น
ทั้งนี้ที่ประชุมมีข้อสรุปถึงแนวทางมีในการแก้ปัญหาในระยะสั้น ได้แก่ 1.ยกเลิกมาตรการ 3 : 1 เพื่อเปิดโอกาสให้มีการนำเข้าข้าวสาลีได้โดยเสรี จากหลายแหล่งทั่วโลก ส่งผลให้ราคาการซื้อขายเป็นไปตามกลไกตลาดโลก 2.ยกเลิกภาษีนำเข้ากากถั่วเหลือง 2% เพื่อเป็นการลดต้นทุนในการผลิต และ 3.เปิดให้นำเข้าข้าวโพดภายใต้กรอบ WTO, AFTA ยกเลิกโควต้า ภาษีและค่าธรรมเนียม ในปริมาณที่ขาดแคลนในปี 2565 เพื่อขยายโอกาสในการเข้าถึงแหล่งวัตถุดิบทำให้สามารถนำมาใช้ได้อย่างเพียงพอตลอดปี และลดต้นทุนในการผลิตอาหารสัตว์
ขณะที่ล่าสุดผู้ผลิตอาหารสัตว์ตั้งข้อสังเกตอาจมีการกักตุนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของพ่อค้าคนกลาง และปั่นราคาสูง (ณ ปัจจุบันสูงถึง 13 บาทต่อกิโลกรัม) เนื่องจากเวลานี้ผลผลิตข้าวโพดในมือเกษตรกรไม่มีแล้ว แต่อยู่ในมือพ่อค้า
ทั้งนี้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้รับลูกในเรื่องนี้ และได้สั่งการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ ลงพื้นที่ตรวจสอบสต๊อกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของพ่อค้าคนกลางทั่วประเทศโดยด่วนเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและรายงานให้ทราบ
นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ถือเป็นเรื่องที่ดีที่ภาครัฐได้ลงตรวจสอบในครั้งนี้เพื่อทำความจริงให้ปรากฎว่าเป็นเช่นไร อย่างไรก็ตามเพื่อช่วยโรงงานผลิตอาหารสัตว์ให้มีวัตถุดิบในการผลิต ไม่ให้ถึงขั้นต้องปิดไลน์ผลิต และส่งผลกระทบต่อภาคผู้เลี้ยงสัตว์ รวมถึงห่วงโซ่ความมั่นคงอาหารของประเทศ ที่ล่าสุดกรมปศุสัตว์ได้เห็นด้วยในการเร่งแก้ไขปัญหาในระยะสั้นข้างต้น
“มาตรการต่าง ๆ ข้างต้นที่เรามีการประชุมร่วมกันเมื่อวันก่อน ซึ่งกรมปศุสัตว์ และกรมประมงได้เห็นด้วยเรื่องนี้คาดหวังว่าจะได้มีการนำเสนอกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มีอำนาจในการตัดสินใจคือกระทรวงพาณิชย์ที่เป็นผู้กำหนดมาตรการ 3: 1 และกระทรวงการคลังที่ดูแลเรื่องภาษี หากได้รับการพิจารณาและนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบจะสามารถช่วยแก้ไขวิกฤติในเรื่องอาหารสัตว์ได้ และห่วงโซ่อาหารที่เกี่ยวข้องได้”
ทั้งนี้อยากให้ภาครัฐได้เร่งพิจารณาและตัดสินใจ โดยจะช่วยแบบเป็นมาตรการชั่วคราว มีกำหนดระยะเวลา หรือเป็นมาตรการถาวรอย่างไรก็ได้ แต่ขอให้มีผลบังคับใช้โดยเร็วที่สุด เพราะเวลานี้ผู้ผลิตอาหารสัตว์ขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิต และราคาวัตถุดิบทุกตัวมีราคาสูงมาก จากทั้งปัจจัยในประเทศและจากนอกประเทศที่ไม่สามารถควบคุมได้
“การยกเลิกมาตรการ 3:1 ไม่กระทบกับเกษตรกรในช่วงนี้เพราะข้าวโพดในมือเกษตรกรมีน้อยมาก หากมีผลผลผลิตออกมาในช่วงต่อไป หากราคาลดลงบ้างรัฐบาลก็มีโครงการประกันรายได้ข้าวโพดให้เกษตรกรอยู่แล้ว แต่การยกเลิกมาตรการ 3:1 อาจถูกต่อต้านจากพ่อค้าคนกลางบางรายที่ตุนสต๊อก ส่วนการลดภาษีนำเข้ากากถั่วเหลือจาก 2% ให้เป็นศูนย์ ไม่กระทบเกษตรกรผู้ปลูกถั่วเหลืองในประเทศ เพราะแต่ละปีเกษตรกรมีผลผลิตรวมกันเพียง 3.5 หมื่นตัน ที่ผ่านมาทางโรงงานก็ช่วยซื้อราคาสูงอยู่แล้ว” นายพรศิลป์ กล่าว