วันที่ 23 พฤษภาคม 2565 คณะกรรม การนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) ที่มี พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ มีมติเห็นชอบให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการบริหารจัดการสมดุลน้ำมันปาล์มตามข้อเสนอของคณะอนุกรรมการเพื่อบริหารจัดการปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มด้านการตลาด ที่มี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน เพื่อติดตามสถานการณ์ด้านการผลิต การตลาด ราคา รวมถึงปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลกระทบต่อราคาผลปาล์มและน้ำมันปาล์ม การค้า และการบริโภคในประเทศ พร้อมกำหนดมาตรการเกี่ยวกับการจัดสมดุลน้ำมันปาล์มในประเทศให้มีเพียงพอ และมีปริมาณคงเหลืออยู่ในระดับที่เหมาะสมนั้น
นายพันศักดิ์ จิตรรัตน์ ประธานคณะกรรมการด้านปาล์มน้ำมันและพืชพลังงาน สภาเกษตรกรแห่งชาติ และกรรมการ กนป. เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงข้อดีในการตั้งคณะอนุกรรมการบริหารจัดการสมดุลน้ำมันปาล์ม ว่า จะเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องเกษตรกรและวงการปาล์มน้ำมัน เพราะจะมีการบริหารจัดการเพื่อนำเสนอคณะอนุกรรมการเพื่อบริหารจัดการปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มด้านการตลาด เพื่อให้เกิดความสมดุล และรายงานผ่าน กนป.ต่อไป ทำให้การบริหารจัดการมีความรวดเร็วและทันต่อสถานการณ์มากขึ้น
นอกจากนี้ในที่ประชุมระบุจากราคาผลปาล์มที่เวลานี้ราคาดีมาก ทำให้เกษตรกรต้องการขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันเพิ่มขึ้น แต่เวลานี้มีความน่าเป็นห่วง จากมีท่อนพันธุ์กล้า และเมล็ดกล้าปาล์มเถื่อนที่ไม่ผ่านการรับรองจากกรมวิชาการเกษตรทะลักเข้ามาจากมาเลเซีย ปัญหาดังกล่าวส่วนหนึ่งเกิดจากศูนย์วิจัยที่ผลิตเมล็ดพันธุ์ ไม่มีงบประมาณที่จะขยายพันธุ์ ทำให้ของขาดตลาด และราคาแพง ทำให้มีสินค้าที่ไม่มีคุณภาพเข้ามาแทรกในตลาด
ซึ่งอยากให้ ทาง กนป.ตั้งงบช่วยเหลือเร่งด่วน เพราะในอนาคตเกรงผลปาล์มที่ได้จะมีคุณภาพต่ำ และขายได้ราคาต่ำตามเปอร์เซ็นต์การให้น้ำมัน ทำให้เกษตรกรมีรายได้ลดลงและจะเป็นภาระหนักของรัฐบาลที่ต้องเอาเงินไปอุดหนุนให้โค่นทิ้ง ดังนั้นต้องเร่งตัดไฟแต่ต้นลม
ขณะที่แหล่งข่าว กนป.ระบุ การตั้งคณะอนุกรรมการบริหารจัดการสมดุลน้ำมันปาล์มมองว่ามีความไม่ชอบมาพากล เพราะดูมีอำนาจหน้าที่ใหญ่กว่า กนป. เช่น 1. กำหนดสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบและบริหารจัดการการส่งออก และ 2. กำหนดให้ขออนุญาตส่งออกน้ำมันปาล์ม (น้ำมันปาล์มดิบ และน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์) ตามอำนาจแห่ง พ.ร.บ.การส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ. 2522
“ทั้ง 2 ข้อนี้ กนป. ไม่มีอำนาจ ที่น่าแปลกในข้อดังกล่าวนี้มีหน่วยงานที่มีอำนาจตามกฎหมายอยู่แล้ว ทำไมต้องมาใช้คณะอนุฯชุดนี้ ทำให้มีความห่วงเกษตรกรที่จะเข้าไปเป็นตรายาง เนื่องจากสัดส่วนมีแค่ 2 คนในอนุกรรมการดังกล่าว ในขณะภาคส่วนอื่นทั้งราชการ/เอกชน นั่งร่วม 10 คน ซึ่งในคณะอนุฯชุดดังกล่าวนี้ในเอกสาร กนป. "
ล่าสุดมีการสอดไส้กรอบการทำงานไว้แล้วว่า เช่น เห็นควรให้คงระดับสต๊อกน้ำมันปาล์มไม่น้อยกว่า 2 แสนตัน ซึ่งเป็นปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศ และพิจารณาปรับให้มีปริมาณสต๊อกคงเหลือ ณ สิ้นปีสอดคล้องกับมติ กนป. (12 เม.ย. 55) ที่กำหนดไว้ 1.5 เท่าของความต้องการใช้หรือ 3 แสนตัน
ด้าน ดร.บุรินทร์ สุขพิศาล กรรมการ กนป. เผยว่า การบริหารปาล์มมีการทำสถิติทางคณิตศาสตร์ ในช่วง 5 ปี ที่ผ่านในส่วนของมาเลเซีย และไทย โดยเฉพาะราคาในไทย ทุก ๆ การเพิ่มขึ้นของสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบ (ซีพีโอ) 1 แสนตัน จะทำให้ราคาซีพีโอ ปรับตัวลง 5.8 บาทต่อกิโลกรัม ราคาปาล์มทะลายลดลงกว่า 1 บาทต่อกิโลกรัม มองว่าคณะอนุฯชุดนี้จะสำคัญยิ่งกว่าบทบาทของคณะกรรมการระดับชาติอย่าง กนป. เสียอีก เพราะคือคณะที่จะกำหนดทิศทางสต๊อกและราคาที่แท้จริงของราคาปาล์มในประเทศ
แหล่งข่าว กนป. ยังกล่าวถึงปริมาณสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบคงเหลือจากการตรวจของคณะทำงานตรวจสอบสต๊อกน้ำมันปาล์มคงเหลือทั้งระบบระดับจังหวัด ระหว่างวันที่ 27 - 29 เม.ย.2565 มีจำนวน 180,835 ตัน เพิ่มขึ้นจากการตรวจในเดือนที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 29-31 มี.ค. 2565 ซึ่งมีจำนวน 178,025 ตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.58
โดยผลผลิตจะออกสู่ตลาดมากในเดือนมีนาคมถึงเดือนมิถุนายน เคลื่อนไหวเฉลี่ยอยู่ระหว่างเดือนละ 1.665 - 1.823 ล้านตัน และผลผลิตจะเริ่มปรับตัวลดลงในช่วงไตรมาสที่ 3 โดยผลผลิตปาล์มน้ำมันจะออกสู่ตลาดเฉลี่ยเดือนละ 1.494 ล้านตัน สำหรับไตรมาสที่ 4 คาดว่ามีผลผลิตออกสู่ตลาด 4.001 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 3.461 ล้านตัน ในช่วงเดียวกันของปี 2564 ร้อยละ 15.60
“ราคาปาล์มที่ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงนี้ เกิดจากภาวะสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนซึ่งเป็นแหล่งผลิตพืชน้ำมันรายใหญ่ของโลกยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติลงโดยง่าย ส่งผลให้สินค้าพลังงานและพืชน้ำมันอยู่ในเกณฑ์สูง ซึ่งจะส่งผลให้ราคาน้ำมันปาล์มดิบในตลาดโลกและในประเทศอยู่ในเกณฑ์สูงเช่นเดียวกัน (กราฟิกประกอบ)”
อนึ่ง นับตั้งแต่ ม.ค. - เม.ย. 65 ไทยส่งออกน้ำมันปาล์มดิบไปแล้วประมาณ 0.245 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 0.079 ล้านตัน (+210%) จากการส่งออกดังกล่าวทำให้ประเทศไทยมีรายได้ไม่น้อยกว่า 13,000 ล้านบาท
หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,787 วันที่ 29 พฤษภาคม - 1 มิถุนายน 2565