กมธ.วิสามัญฯ ตีกลับ “กรมการข้าว” ชี้แจง งบ 1.5 หมื่นล้าน ใหม่

10 ก.ค. 2565 | 11:33 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ก.ค. 2565 | 18:33 น.

ปมร้อน “เงินช่วยเหลือชาวนา” กมธ.วิสามัญฯ ตีกลับ “กรมการข้าว” ชี้แจง งบ 1.5 หมื่นล้าน ผ่านศูนย์ข้าวชุมชน ใหม่ กังขาซื้อเครื่องจักร ให้ชาวนาใช้ ช่วยพลิกพัฒนาเรื่องข้าวประเทศไทยได้จริงหรือ

กมธ.วิสามัญฯ ตีกลับ “กรมการข้าว” ชี้แจง งบ 1.5 หมื่นล้าน ใหม่

 

นางสาวสกุณา สาระนันท์ รองประธานคณะอนุกรรมาธิการคนที่สี่ คณะอนุกรรมาธิการฝึกอบรม สัมมนา ประชาสัมพันธ์ ค่าจ้างเหมาบริการ ค่าจ้างที่ปรึกษา ค่าเช่า ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการต่างประเทศ งบดำเนินงาน งบเงินอุดหนุน และงบรายจ่ายอื่น เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า มีข้อกังวลของคณะอนุฯ ว่า งบประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาทจะเกิดประโยชน์กับประชาชน จะปฏิบัติได้ตามเป้าหมายอย่างไร

 

“ตนเองไม่เชื่อในเรื่องของการที่ว่าถ้าเราจะพัฒนาเรื่องข้าว สร้างรายได้ให้กับชาวนาจะทำได้แค่การซื้อเครื่องมือ ไม่ได้ง่ายขนาดนั้น หรือจะเป็นเรื่องของการปรับปรุงพันธุ์ ไม่ควรจะตูมเดียวด้วยงบ 1.5 หมื่นล้าน เพราะมองจากศักยภาพบุคลากร และขัดกับหลักการของตัวเองด้วย เพราะว่าวันนี้ประเทศไทยไม่ควรจะแข่งขันเรื่องข้าวด้วยการขายน้ำหนัก ไม่ควรจะไปคิดในแค่มิติแค่พัฒนาผลผลิต เพิ่มยิวต่อพื้นที่ แล้วจบ และประเทศไทยควรจะมองให้ละเอียดในเรื่องของการเพิ่มช่องทางตลาดใหม่ถ้าจะขายต้องทำให้สินค้าข้าวไม่ใช่เป็นสินค้าโภคภัณฑ์ต้องเปลี่ยนให้เป็นผลิตภัณฑ์ ซึ่งสามารถทำได้ แต่มีรายละเอียด แต่ว่าโครงโครงการสนับสนุนลดต้นทุนการผลิตด้านการเกษตรสำหรับเกษตรผู้ปลูกข้าว ในปี 2566 ไม่ตอบโจทย์ มีโอกาสสำเร็จได้น้อยมาก”

 

สำหรับหลักวัตถุประสงค์สำคัญก็คือ ต้องการทำให้ชาวนามีรายได้ เพื่อแก้ปัญหาหนี้สินของชาวนา การทำให้มีรายได้ก็ไม่ใช่การวิ่งไปชนฝาผนัง การแข่งขันในเรื่องข้าว อาจจะเรียกว่า บลูโอเชี่ยน (Blue Ocean) ดังนั้นจะต้องมีวิธีแข่ง แต่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องผลิตจำนวนมาก อย่างข้าว มีคุณสมบัติ ไม่ใช่มีแค่แป้ง น้ำหนัก แต่มีกลิ่น มีรสชาติ มีผิวสัมผัส ประเทศไทยมีข้อได้เปรียบเรื่องสายพันธุ์นับ 1,000 สายพันธุ์ในประเทศไทย แค่จังหวัดเดียวในสกลนครก็มีหลายร้อยสายพันธุ์แล้ว

 

 

แต่ละสายพันธุ์ก็มีคุณลักษณะที่แตกต่าง ดังนั้นกรมการข้าวจะต้องทำงานให้ละเอียด อย่าทำง่าย แต่ละพื้นที่ไหนจะเป็น นิช มาร์เก็ต(Niche Market) ในด้านไหนของแต่ละพื้นที่ ให้ทำเป็นข้าวปลอดภัย อินทรีย์ อย่างนี้ยังมีโอกาสที่จะแข่งขันได้ และความรู้ในเรื่องเทคโนโลยีชีวภาพก็เยอะ เช่น ข้าวสายพันธุ์นี้ มีสารสำคัญอย่างไร สามารถสกัดเปลือก หรือ ต้นข้าว ออกมาได้หรือไม่

 

กมธ.วิสามัญฯ ตีกลับ “กรมการข้าว” ชี้แจง งบ 1.5 หมื่นล้าน ใหม่

 

ต้องใช้ความรู้ ไม่ใช่สู้ไปแบบทื่อๆ คิดจะซื้อแค่เครื่องมือแล้วนำลงไปให้เกษตรกร ก็อย่างที่ทราบเกษตรกรรวมกลุ่มกันยาก ผู้นำยังมีไม่เพียงพอ รวมถึงบุคลากรของกรมเองก็มีน้อย แล้วถ้าจะสำเร็จก็น่าที่จะสำเร็จมีให้เห็นแล้วในบางส่วน อยู่ก็จะขอเงิน 1.5 หมื่นล้านทีเดียว แล้วจะของบประมาณแล้วจะให้เชื่อได้อย่างไรว่าจะทำสำเร็จได้จริง

 

"นี่คือประเด็นที่ทางคณะกรรมาธิการฯ กังวลเลยให้กรมการข้าวกลับไปทำใหม่ เพราะเห็นว่ามีความสำเร็จที่จะเกิดขึ้นได้น้อยมาก อีกด้านหนึ่งทางคณะอนุใหญ่ฯ ให้ข้อสังเกตว่าเรื่องดังกล่าวนี้มีข้อร้องเรียนด้วย  โดยกรมการข้าว จะต้องแจ้งมาว่าจะมาชี้แจงกับคณะอนุฯ ได้เมื่อไร"

 

กมธ.วิสามัญฯ ตีกลับ “กรมการข้าว” ชี้แจง งบ 1.5 หมื่นล้าน ใหม่

 

แหล่งข่าวกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยว่า ล่าสุด นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ส่งหนังสือ เลขที่ กษ 1304/2666  ลงวันที่ 1 กรกฎาคม 2565 เรื่อง ขอเสนอเพิ่มงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบประมาณ พ.ศ. 2566  เรียน ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ระบุเนื้อหาว่ากรมการข้าวมีความจำเป็นจะต้องเสนอขอเพิ่มงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวน 2 โครงการรวม  8,000 ล้านบาท ทั้งนี้ถ้ารวมกับงบประมาณที่ขอก่อนหน้านั้น  17,000 ล้านบาท รวมของใหม่ 8,000 ล้านบาท รวมที่ของบทั้งสิ้น 25,000 ล้านบาท

 

อีกด้านหนึ่ง บริษัทต่างๆ ที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการใช้เครื่องจักรกล ก็ได้มีการลงนำเครื่องไปให้เกษตรกรทดลองใช้กันแล้ว 

 

กมธ.วิสามัญฯ ตีกลับ “กรมการข้าว” ชี้แจง งบ 1.5 หมื่นล้าน ใหม่