"ประกันรายได้ข้าว" ปี 3 เข้าสู่โค้งสุดท้าย มีเกษตรกรตกหล่นที่ยังคงทยอยเก็บเกี่ยวข้าวจนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2565 โดยให้ใช้ประกาศราคาเกณฑ์กลางอ้างอิง เป็นงวดสุดท้าย เมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2565 อ้างอิงเป็นการจ่ายเงินข้าวเปลือก 5 ชนิด ได้แก่ 1.ข้าวเปลือกหอมมะลิ สิ้นสุดฤดูเก็บเกี่ยว 2.ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ตันละ 380 บาท 3.ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ราคาสูงกว่าเป้าหมาย 4.ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 395.86 บาท และ 5.ข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 925.17 บาท ล่าสุด มีความคืบหน้าประกันรายได้ข้าว ปี 4 แล้ว
นายสุเทพ คงมาก กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า โครงการประกันรายได้ข้าวปี 4 คาด นบข. จะเรียกประชุมในเร็วๆ นี้ โดยตามไทม์ไลน์ ประมาณเดือนกรกฎาคมนี้ หรืออย่างช้าต้นเดือนสิงหาคม ขอให้ชาวนาคอยฟังข่าว หากรัฐบาลชุดปัจจุบันยังอยู่ คาดจะยังคงมีโครงการประกันรายได้ข้าว
ทั้งนี้ส่วนตัวเห็นสมควรที่จะปรับเพิ่มราคาประกันรายได้ข้าวให้กับชาวนาที่ปลูกข้าวทุกชนิด ตามต้นทุนการผลิตที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นในเวลานี้ ทั้งจากราคาน้ำมัน ปุ๋ย และต้นทุนอื่น ๆ ที่เพิ่มขึ้นมาก นอกจากนี้ยังคงโครงการคู่ขนานต่าง ๆ ไว้ตามเดิม โดยในภาวะการณ์เช่นนี้ในการคำนวณราคาประกัน จะใช้ต้นทุนบวกกำไรให้ชาวนา ส่วนเงินช่วยเหลือชาวนา ไร่ละ 1,000 บาท จ่ายสูงสุด 20 ไร่ (ปี 2564/65 ใช้งบกว่า 5.5 หมื่นล้านบาท) ในความเห็นส่วนตัว เป็นคนละโครงการกับเงิน 1.5 หมื่นล้านบาทที่จะจ่ายให้ชาวนาผ่านศูนย์ข้าวชุมชน
ขณะที่ นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ และนายกสมาคมสถาบันชาวนาไทย กล่าวว่า กำลังรอฟังผลสอบจากนายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำกับดูแลกรมการข้าว ถึงการที่กรมการข้าว มีแผนจ่ายเงินให้เกษตรกรไร่ละ 1,000 บาท ผ่านศูนย์ข้าวชุมชน (ค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพการผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว อัตราไร่ละ 1,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 20 ไร่ หรือไม่เกิน 20,000 บาทต่อครัวเรือน) เพื่อให้นำไปใช้จัดซื้อเครื่องจักรกลการเกษตร และอื่น ๆ ทั้งนี้มีการตั้งข้อสังเกตว่า การจ่ายเงินในลักษณะนี้ประโยชน์จะตกกับบุคคลบางกลุ่มเท่านั้น ดังนั้นมองว่าน่าจะจ่ายเงินให้เกษตรกรในรูปแบบเดิมคือผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ดีกว่า
ด้านนายธีร์วริศ พรพันธวิศ นายกสมาคมส่งเสริมเกษตรกรชาวนาอีสาน กล่าวว่า เงินช่วยเหลือชาวนาจะไปผ่านศูนย์ข้าวชุมชุมยังนึกไม่ออกว่าเงินจะไปถึงมือชาวนาอย่างไร สุดท้ายผ่านหลายทอดอาจจะมีเรื่องเงินทอนอีก ดังนั้นจึงไม่เห็นด้วย ขณะที่ในโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2564/2565 ที่ชาวนาร้องว่า ถูก ธ.ก.ส.บีบให้ทำประกันภัยข้าวด้วย ซึ่งในโครงการประกันรายได้ไม่มีเงื่อนไขตรงนี้ไม่ควรนำมาเกี่ยวข้องเด็ดขาด
นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ตั้งคำถามว่า มีเหตุผลอะไรที่เงินช่วยเหลือชาวนา ต้องไปผ่านศูนย์ข้าวชุมชน เพราะต้องเสียเวลาบริหารจัดการในขั้นตอนต่างๆ ซึ่งหากเกรงชาวนาจะนำเงินไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ก็ไม่ต้องให้ และถ้าจะให้ก็ไม่ต้องไปคิดแทนว่าชาวนาจะเอาไปทำอะไร ชาวนารู้ว่าเงินทุกบาทมีค่ายิ่งใกล้เลือกตั้ง ถ้าจะแจกเงินแล้วไปเรื่องมาก แทนที่จะได้คะแนนอาจจะเสียคะแนนมากกว่า
ด้านนายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า ทราบข่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีกำหนดการเดินทางไปที่โครงการขาณุโมเดล จังหวัดกำแพงเพชร ภายใต้ สมาคมพัฒนาเศรษฐกิจเกษตรรักษ์โลก ในวันที่ 7 ก.ค.นี้ ซึ่งทางสมาคมฯ จะไปยื่นหนังสือคัดค้านเงินช่วยเหลือชาวนาผ่านศูนย์ข้าวชุมชน
ขณะที่หากมีการตัดงบโครงการประกันรายได้ข้าว เกษตรกรจำนวน 4.6 ล้านครัวเรือน ที่เป็นชาวนาผู้ปลูกข้าวรายย่อยทั่วประเทศ ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร (กราฟิกประกอบ) จะเสียประโยชน์อย่างมาก ดังนั้นขอให้โครงการฯ ยังคงมีอยู่ต่อไป
ขณะที่ รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) มองต่างมุมว่า เห็นด้วยที่จะปรับเปลี่ยนเงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท ผ่านศูนย์ข้าวชุมชน เนื่องจากซํ้าซ้อนกับโครงการประกันรายได้ ซึ่งไม่ควรจะได้ เพราะโครงการฯก็มีการคำนวณเพื่อช่วยในเรื่องต้นทุนอยู่แล้ว และเป็นเงินฟรีที่ให้เพิ่มขึ้น ซึ่งต้องเข้าใจว่าฐานะการคลังของประเทศเวลานี้ยํ่าแย่ เป็นเงินกู้จาก ธ.ก.ส. มาใช้ดำเนินโครงการดังนั้นต้องช่วยเหลือแค่พอสมควร
ข่าวหน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,798 วันที่ 7-9 กรกฎาคม พ.ศ.2565