แหล่งข่าวรัฐสภา เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า นายณัฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณ ประธานคณะกรรมาธิการแก้ไขปัญหาราคาผลิตผลเกษตรกรรม ส่งหนังสือเลขที่ สผ 0017.10/4795 ถึงนายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะรัฐมนตรีที่กำกับดูแล กรมการข้าว เรื่องการดำเนินโครงการลดต้นทุนการผลิต ประจำปีงบประมาณ 2566 วงเงินงบประมาณ จำนวน 15,366.1835 ล้านบาท ของกรมการข้าว และการยกเลิกโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว
ตามที่คณะกรรมาธิการแก้ไขปัญหาราคาผลิตผลเกษตรกรรม สภาผู้แทนราษฎร ได้มีการประชุมและพิจารณาเรื่อง แนวทางการดำเนินโครงการลดต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ซึ่งมีการประชุมร่วมกับส่วนราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง มีการจัดสรรงบประมาณประจำปี 2566 จำนวน 15,366.1835 ล้านบาท ให้กับกรมการข้าวเพื่อดำเนินการโครงการลดต้นทุนการผลิต
ทั้งนี้ ในการประชุมคณะกรรมาธิการดังกล่าว ได้มีการรับฟังข้อชี้แจงจากส่วนราชการต่างๆที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งศูนย์ข้าวชุมชนที่ได้เข้าร่วมชี้แจงให้ข้อมูล ข้อเท็จจริงแล้ว คณะกรรมาธิการเห็นด้วยในหลักการที่จะดำเนินการตามโครงการลดต้นทุนการผลิต ซึ้งจะเป็นประโยชน์ทั้งต่อกระบวนการพิจารณางบประมาณ การประเมินผล และเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรชาวนาได้อย่างยั่งยืน
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมาธิการมีความเห็นว่า ความชัดเจนในการปฏิบัติตามโครงการดังกล่าวภายใต้การบริหารจัดการของกรมการข้าว อาจจะไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ที่เกี่ยวกับการลดต้นทุนการผลิต และยังอาจส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโดยตรงอีกด้วย นอกจากนั้นยังพบว่าเมื่อมีการดำเนินตามโครงการลดต้นทุนการผลิตแล้ว
โดยจะมีการยกเลิกโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ไร่ละ 1,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่ (รวม 20,000 บาท/ครัวเรือน) เนื่องจากจะซ้ำช้อนกับโครงการลดต้นทุนการผลิต ซึ่งจะเป็นการซ้ำเติมให้ชาวนาเดือดร้อนมากยิ่งขึ้นไปอีก ขณะที่สถานการณ์ปุ๋ยมีราคาแพงราคาน้ำมัน และค่าครองชีพต่าง มีราคาสูงขึ้นเป็นอย่างมาก วัตถุดิบที่เป็นปัจจัยการผลิตมีราคาสูงขึ้นหลายเท่าตัว
อนึ่ง คณะกรรมาธิการได้ตระหนักถึงความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวนาเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว จึงได้เคยมีหนังสือขอความอนุเคราะห์กระทรวงพาณิชย์ โดยขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เพิ่มเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวนาเป็นไร่ละ 1,200 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่ (รวม 24,000 บาท/ครัวเรือน)
ในการนี้ คณะกรรมาธิการจึงขอความอนุเคราะห์หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีการทบทวนโครงการลดต้นทุนการผลิตที่จัดสรรจากงบประมาณประจำปี 2566 จำนวน 15,366.1835 ล้านบาท โดยขอให้ยังคงดำเนินโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าวต่อไป จนกว่าโครงการลดต้นทุนการผลิตจะสามารถดำเนินการได้อย่างขัดเจน และสามารถช่วยเหลือเกษตรกรชาวนาได้อย่างแท้จริงแล้ว จึงค่อยดำเนินการทบทวนโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ต่อไป
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาโดยเร่งด่วน และเมื่อได้ผลการพิจารณาเป็นประการใดโปรดแจ้งให้คณะกรรมาธิการทราบด้วย
ขณะที่นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงหนังสือด่วนที่สุด ลงวันที่ 11 กรกฎาคม 2565 เรื่องเร่งรัดข้อมูลกาเสนอของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ของกรมการข้าว ถึง ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ได้จัดส่งเอกสารชี้แจงข้อมูลการจัดทำและเสนองบประมาณดังกล่าวพร้อมมอบหมายให้รองเลขาธิการเข้าแจงข้อมูลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
"แต่ในส่วนของกรมการข้าวยังไม่ได้จัดส่งเอกสารชี้แจงข้อมูลตามที่ร้องขอและยังไม่ได้รับการประสำนงานจากอธิบดีกรมการข้าวเพื่อเข้าชี้แจงข้อมูล ข้อเท็จจริงตามที่ท่านได้มอบหมายไว้แต่อย่างใด ดังนั้น จึงขอให้ท่านแจ้งอธิบดีกรมการข้าวดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องภายในวันที่ 18 กรกฎาคม 2565 นี้"
แหล่งข่าวกรมการข้าว เผยว่า หลักเกณฑ์การคัดเลือกศูนย์ข้าวชุมชน ต้องเป็นศูนย์ข้าวชุมชนที่ขึ้นทะเบียนกับกรมการข้าว ไม่เกินวันที่ 15 ตุลาคม 2565 ต้องจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชนกับกรมส่งเสริมการเกษตร ไม่เกินวันที่ 15 ตุลาคม 2565 เป้าหมาย 5,000 ศูนย์ ต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย ภายในเดือนตุลาคม 2565
หลักเกณฑ์กำหนดวงเงินงบประมาณต่อ "ศูนย์ข้าวชุมชน" พิจารณาตามพื้นที่ให้บริการ คือ
พื้นที่ทำนาปลูกข้าวในเขตการให้บริการของศูนย์ข้าวชุมชน - พื้นที่ให้บริการต่ำกว่า 2,000 ไร่ สนับสนุน 1 ล้านบาท
พื้นที่ให้บริการมากกว่า 2,000 ไร่ สนับสนุน 2 ล้านบาท - พื้นที่ให้บริการมากกว่า 4,000 ไร่ สนับสนุน 3 ล้านบาท
พื้นที่ให้บริการมากกว่า 6,000 ไร่ สนับสนุน 4 ล้านบาท
ทั้งนี้หลักเกณฑ์การสนับสนุนเครื่องจักรกลการเกษตร เครื่องจักรกลการเกษตร ที่เกี่ยวข้องกับการปลูกข้าวตั้งแต่การผลิต การแปรรูป
อาทิ 1.การเตรียมดิน เช่น รถแทรกเตอร์ทุกขนาด อุปกรณ์ไถนาเตรียมดิน อุปกรณ์การปรับระดับ พื้นที่ (laser land leveling)
2. การปลูก เช่น เครื่องปลูก เครื่องหยอด เครื่องปักดำ
3.การอารักขา เช่น เครื่องพ่นปุ๋ยและสารอารักขาพืช (โดรน) เครื่องผสมปุ๋ยสั่งตัด
4.การเก็บเกี่ยว เช่น เครื่องเก็บเกี่ยว เครื่องเกี่ยวนวด
5.การแปรรูป เช่น เครื่องอัดฟาง เครื่องทำความสะอาดเมล็ดพันธุ์ อุปกรณ์การแปรรูป และผลิตภัณฑ์ข้าว อุปกรณ์บรรจุภัณฑ์
6.อุปกรณ์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องที่เกษตรกรต้องการ (ตามที่คณะกรรมการศูนย์ข้าวชุมชน ให้ความเห็นชอบ)
หรือ ค่าซ่อมแซมเครื่องจักรกลการเกษตรที่ศูนย์ข้าวชุมชนมีอยู่แล้ว และต้องดำเนินการจัดทำ ทะเบียนเครื่องจักรกลการเกษตรให้คณะกรรมการศูนย์ข้าวชุมชนเห็นชอบก่อนเสนอแผนซ่อมศูนย์วิจัยข้าว ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว และสถาบันวิทยาศาสตร์ข้าวแห่งชาติในพื้นที่ที่รับผิดชอบ และสำนักส่งเสริมการผลิตข้าว เป็นพี่เลี้ยงในการจัดทำแผนความต้องการเครื่องจักรกล การเกษตรและแผนปฏิบัติงานอื่นๆ
หากศูนย์ข้าวชุมชนแผนความต้องการที่ไม่ผ่านการอนุมัติของ คภป. ให้ศูนย์ข้าวชุมชนทบทวน แผนความต้องการใหม่ แล้วเสนอให้คณะกรรมการ 4 ระดับ พิจารณาตามขั้นตอนอนุมัติให้เสร็จสิ้น ภายใน 1 เดือน นับแต่วันที่ศูนย์ข้าวชุมชนรับเรื่องแจ้งจากหน่วยงานของกรมการข้าว ทั้งนี้ หากศูนย์ข้าวชุมชนใดๆ ที่แผนความต้องการเครื่องจักรกลการเกษตรไม่ผ่านการพิจารณาใน ขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการศูนย์ข้าวชุมชนระดับจังหวัด หรือคณะกรรมการภาคีเครือข่าย ศูนย์ข้าวชุมชนและกรมการข้าวระดับจังหวัด (คภจ.) ก็ให้กลับไปทบทวนแผนการดำเนินงานมา
การดำเนินงานจัดซื้อจัดจ้างของศูนย์ข้าวชุมชนตามระเบียบกระทรวงการคลัง ให้คณะกรรมการศูนย์ข้าวชุมชนต้องพิจารณาอนุมัติการจัดซื้อจัดจ้างของศูนย์ข้าวชุมชน แล้ว ให้คณะกรรมการศูนย์ข้าวชุมชนดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบกระทรวงการคลัง (ภาคผนวกที่3, 4 และ 5) โดยมีวงเงินในการพิจารณา ดังนี้
(1) วงเงินไม่เกิน 500,000 บาท ดำเนินการโดยวิธีเฉพาะเจาะจง
(2) วงเงินเกิน 500,000 บาท ดำเนินการโดยวิธีคัดเลือก
ส่วนการเบิกจ่ายเงินงบประมาณของศูนย์ข้าวชุมชน เมื่อศูนย์ข้าวชุมชนจัดซื้อจัดจ้างเครื่องจักรกลการเกษตรแล้วเสร็จ ให้ศูนย์ข้าวชุมชน แจ้งหน่วยงานของกรมการข้าวในพื้นที่จัดทำหนังสือยืนยันการดำเนินงานจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อนำไปแนบเรื่องการยืนยันการขอเบิกจ่ายงบประมาณจาก ธ.ก.ส. ตามวงเงินการ จัดซื้อจัดจ้าง