นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ถึงกรณีที่ธนาคารกลางเมียนมา เมื่อวันที่ 13 ก.ค. 2565 แจ้งให้คำสั่งให้ธนาคารพาณิชย์ในเมียนมาระงับการชำระหนี้เงินกู้ด้วยเงินสกุลต่างประเทศ โดยให้ธนาคารพาณิชย์ในเมียนมาประสานแจ้งบริษัทที่ต้องชำระเงินกู้ด้วยเงินสกุลต่างประเทศ
ให้ดำเนินการต่อรองการผ่อนผันหรือขยายการชำระหนี้เงินกู้ต่างประเทศออกไป โดยให้เหตุผลว่าต้องการสงวนเงินสกุลต่างประเทศไว้ เพื่อรักษาเสถียรภาพของการอ่อนค่าของเงินเมียนมาจ๊าตที่อ่อนค่าไปมาก
แน่นอนว่าผลกระทบจากประกาศดังกล่าวส่งผลต่อการลงทุนใหม่ในเมียนมา ที่จำเป็นต้องใช้เงินกู้จากต่างประเทศ รวมถึงบริษัททั้งในและต่างประเทศในเมียนมาที่มีเงินกู้เป็นเงินสกุลต่างประเทศที่จะต้องชำระเจ้าหนี้ในต่างประเทศ ซึ่งจะไม่สามารถชำระหนี้เงินสกุลต่างประเทศผ่านธนาคารพาณิชย์ในเมียนมาได้
อย่างไรก็ตามกรมได้ติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด ซึ่งหากประกาศดังกล่าวมีผลบังคับใช้แล้ว ครอบคลุมทุกบริษัทที่มีเงินกู้สกุลเงินต่างประเทศในเมียนมาที่จะไม่สามารถชำระหนี้เงินกู้ได้จากธนาคารพาณิชย์ในเมียนมาไปยังเจ้าหนี้ที่อยู่ในต่างประเทศผู้ประกอบการ นักลงทุน จำเป็นที่ต้องสรรหาแหล่งเงินจากต่างประเทศ เพื่อใช้ในการชำระหนี้เงินกู้แทนการชำระจากเมียนมา เพื่อป้องกันการผิดนัดชำระหนี้
“ในส่วนของผู้ประกอบการไทยที่มีธุรกิจในเมียนมาและมีการกู้เงินเป็นสกุลต่างประเทศที่ได้รับผลกระทบจากประกาศดังกล่าว จำเป็นต้องหาแหล่งเงินกู้จากธนาคารพาณิชย์ในไทยหรือต่างประเทศ เพื่อใช้ในการชำระเงินกู้สกุลต่างประเทศ แทนการชำระคืนเงินกู้โดยใช้ธนาคารพาณิชย์ในเมียนมา เพื่อป้องกันการผิดนัดชำระหนี้”
สำหรับแนวทางของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ โดยสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงย่างกุ้ง สามารถเป็นตัวกลางในการประสานกับธนาคารพาณิชย์ของไทย ในการจัดหาวงเงินกู้เพิ่มเติม เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยในเมียนมาที่จำเป็นต้องชำระเงินกู้ต่างประเทศ สามารถใช้วงเงินกู้จากไทยหรือต่างประเทศ ในการนำไปชำระหนี้ต่างประเทศ แทนการใช้ธนาคารพาณิชย์ของเมียนมาได้ เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบจากการผิดนัดชำระหนี้ที่อาจเกิดขึ้น