วันที่ 22 กรกฎาคม 2565 คณะอนุกรรมาธิการฝึกอบรม สัมมนา ประชาสัมพันธ์ ค่าจ้างเหมาบริการ ค่าจ้างที่ปรึกษา ค่าเช่า ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการต่างประเทศ งบดำเนินงาน งบเงินอุดหนุน และงบรายจ่ายอื่น ได้เรียก นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว เข้ามาชี้แจงเรื่อง โครงการสนับสนุนลดต้นทุนการผลิตด้านการเกษตรสำหรับเกษตรผู้ปลูกข้าว ในปี 2566 เพื่อสนับสนุนลดต้นทุนการผลิตให้กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวศูนย์ข้าวชุมชนผ่านงบประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ในหลักเกณฑ์ และเหตุผลในโครงการดังกล่าวนี้ ก็มีการเกริ่นนำรายละเอียดดังนี้ “ข้าว” เป็นสินค้าที่สำคัญของประเทศในหลายมิติในด้านเศรษฐกิจ ประเทศไทยส่งออกข้าวมีมูลค่ากว่าแสนล้านบาทต่อปีเป็นอันดับสองรองจากยางพารา ในด้านสังคมมีเกษตรกรที่ปลูกข้าวกว่า 4 ล้านครอบครัวหรือประมาณ 16 ล้านคน ประชาชนคนไทยทุกคนบริโภคข้าวเป็นอาหารหลัก การปลูกข้าวทำให้ประเทศไทยมั่นคงทางอาหาร
นอกจากนี้การปลูกข้าวยังเป็นแหล่งกำเนิดวัฒนธรรมของชาติมากมาย ในด้านสิ่งแวดล้อมการปลูกข้าวทำให้มีภูมิทัศน์ที่สวยงามในช่วงฤดูปลูกไปจนถึงการเก็บเกี่ยวข้าว เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่สำคัญ การปลูกข้าวของไทยที่ผ่านมายังประสบปัญหาหลายประการ โดยเฉพาะความสามารถในการแข่งขันของข้าวไทยในตลาดโลกลดน้อยถอยลงตามลำดับ ในอดีตประเทศไทยสามารถส่งออกข้าว คิดเป็นร้อยละ 40 ของการส่งออกของโลก และเป็นผู้ส่งออกอันดับหนึ่งของโลกกว่า 30 ปี โดยมีมูลค่าสูงกว่า 200,000 ล้านบาทต่อปี
แต่ในปัจจุบันมีสัดส่วนการตลาดประมาณร้อยละ 15 และอยู่ในลำดับที่ 2-3 ของการส่งออกข้าวของโลก ทั้งนี้เนื่องจากต้นทุนการผลิตสูงกว่าประเทศคู่แข่ง เช่น อินเดีย และ เวียดนาม ในภาคเกษตรกรผู้ปลูกข้าวจำนวน 4.60 ล้านครัวเรือน ซึ่งส่วนใหญ่ยังมีฐานะยากจน เนื่องจากราคาผลผลิตแปรปรวนมาก บางครั้งต่ำกว่าต้นทุน และปัจจัยการผลิตมีราคาแพง
เช่น ปุ๋ยเคมี เกือบทั้งหมดต้องนำเข้าจากต่างประเทศ นอกจากนี้เกษตรกรยังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากสมาชิกในครอบครัวไปประกอบอาชีพอื่นในเมืองหรือกรุงเทพฯ แต่ไม่สามารถจะจัดหาเครื่องจักรมาทดแทนแรงงานได้ เนื่องจากขาดแคลนเงินทุน และมีพื้นที่ขนาดเล็กไม่คุ้มกับการลงทุน รวมทั้งยังประสบกับภัยธรรมชาติทั้งฝนแล้ง น้ำท่วม โรคแมลงศัตรูข้าวระบาดอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ภาครัฐก็ได้พยายามให้การช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวมาโดยตลอด ซึ่งในแต่ละปีรัฐบาลต้องใช้งบประมาณเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวหลายหมื่นล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการช่วยเหลือที่ปลายน้ำ และช่วยเหลือเป็นรายบุคคล อีกทั้งที่ผ่านมาพื้นที่ทำนาประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ ทั้งอุทกภัย ภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วง และการระบาดของโรคและแมลง ทำให้ผลผลิตเสียหายเป็นจำนวนมาก ต้นทุนการผลิตข้าวสูงขึ้น ประกอบกับราคาที่เกษตรกรจำหน่ายผลผลิตข้าวมีความผันผวน รัฐบาลจึงมีนโยบายมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวมาโดยตลอด ทั้งทางตรงและทางอ้อม
เช่น การดำเนินงานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว และมาตรการคู่ขนานเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโดยการดึงอุปทานส่วนเกินของผลผลิตข้าว ชะลอการขายข้าวโดยเก็บข้าวไว้ก่อนในช่วงผลผลิตข้าวออกสู่ตลาดมาก เก็บไว้ขายในช่วงที่ข้าวมีราคาสูง รวมทั้งรัฐได้ดำเนินโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว มาตั้งแต่ปี 2560 – ปัจจุบัน เมื่อรวมค่าใช้จ่ายในการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวแต่ละปีไม่ต่ำกว่าประมาณ 100,000 ล้านบาท
โดยเฉพาะปี 2564 ที่ราคาข้าวที่เกษตรกรจำหน่ายได้ต่ำมาก รัฐบาลต้องใช้งบประมาณในการชดเชยส่วนต่างจำนวนมากกว่า 86,163 ล้านบาท เมื่อรวมงบประมาณโครงการคู่ขนานต่าง ๆ ของรัฐบาล ได้แก่ โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร และโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต๊อก รวมทั้งยังมีการสนับสนุนการลดต้นทุนการผลิตข้าวและค่าเก็บเกี่ยวข้าวให้กับเกษตรกรผู้ปูลปลูกข้าว ไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่
โดยการจ่ายเงินสนับสนุนให้กับเกษตรกรโดยตรงโดยไม่ต้องมีการติดตามว่าเกษตรกรจะนำไปใช้จ่ายที่ตรงเป้าหมายที่รัฐกำหนดหรือไม่ ซึ่งต้องใช้งบประมาณจำนวนมากตลอดระยะเวลา ที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่าโครงการและมาตรการต่าง ๆ ทำให้เกษตรกรไม่ได้รับการพัฒนา “ศูนย์ข้าวชุมชน” ไม่เข้มแข็ง และเป็นภาระด้านงบประมาณของภาครัฐไม่สิ้นสุดทำให้ไม่เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ไม่สามารถแก้ไขปัญหาและเพิ่มศักยภาพระบบการผลิตข้าว รวมถึงสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรได้อย่างยั่งยืน
ในทางตรงข้ามยังทำให้พฤติกรรมและศักยภาพของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวอ่อนแอลงด้วย ดังนั้นการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา และการสร้างความเข้มแข็งจากการมีส่วนร่วมของเกษตรกรในพื้นที่จึงมีความสำคัญ และจะก่อให้เกิดความยั่งยืนในการขับเคลื่อนระบบการผลิตข้าวในระยะยาว เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การปรับตัวภายใต้การเปลี่ยนแปลงทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว รุนแรงที่กำลังประสบอยู่ในขณะนี้
ที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่าโครงการและมาตรการต่าง ๆ ของรัฐบาล ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวไม่ได้รับการพัฒนา การรวมกลุ่มของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวไม่เข้มแข็ง และเป็นภาระด้านงบประมาณของประเทศไม่สิ้นสุดทำให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวไม่เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ไม่สามารถแก้ไขปัญหาและเพิ่มศักยภาพระบบการผลิตข้าวได้ในทางตรงข้ามยังทำให้พฤติกรรมและศักยภาพของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวอ่อนแอลงด้วย
ดังนั้นการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา และการสร้างความเข้มแข็งของเกษตรกรในพื้นที่จึงมีความสำคัญมาก และจะก่อให้เกิดความยั่งยืนในการขับเคลื่อนระบบการผลิตข้าวในระยะยาว การร่วมกันแก้ปัญหาด้านการพัฒนาการผลิตข้าวที่จะทำให้เกษตรกรมีรายได้ดีและอยู่ด้วยตนเองได้ต้องเริ่มจากการพัฒนากลุ่มเกษตรกรให้เข้มแข็งอย่างจริงจัง ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวพึ่งพาตนเองได้
ซึ่งในปัจจุบันเกษตรกรผู้ปลูกข้าวมีการรวมกลุ่มเกษตรกรเป็นศูนย์ข้าวชุมชนซึ่งมีภารกิจในการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์ดีอย่างเดียวเท่านั้น เนื่องจากกรมการข้าวเป็นหน่วยงานขนาดเล็กมีบุคลากรน้อย และไม่มีหน่วยงานในส่วนภูมิภาค มีเพียงหน่วยงานส่วนกลางที่ตั้งอยู่ในส่วนภูมิภาคและมีไม่ครบทุกจังหวัด ดังนั้น ในอนาคตกรมการข้าวจะใช้ศูนย์ข้าวชุมชนเป็นกลไกกลไกการขับเคลื่อนแนวทางการพัฒนาข้าวของกรมการข้าวในพื้นพื้นที่เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าว
โดยมีภารกิจในการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านข้าวแล้วยังมีความจำเป็นที่จะต้องให้การสนับสนุนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในด้านอื่น ๆ อีกด้วย เช่น การสนับสนุนเครื่องจักรกลการเกษตร การแปรรูป การรวบรวมผลผลิต การสร้างมูลค่าเพิ่ม การให้บริการวิชาการ การถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตข้าวและนวัตกรรมใหม่อย่างต่อเนื่อง เพื่อลดต้นทุนการผลิต เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการแก่กลุ่มเกษตรกร พัฒนารูปแบบการผลิตข้าวคุณภาพดี สร้างอำนาจในการต่อรองราคา เรียนรู้นวัตกรรมใหม่ ๆ วางแผนในการผลิตพันธุ์ข้าวให้มีความเหมาะสมสอดคล้องกับช่วงเวลา ความต้องการของตลาด ลดภาระด้านงบประมาณของรัฐ ส่งผลให้การประกอบอาชีพทำนาของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวมีมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน
ดังนั้น เพื่อให้การช่วยเหลือเกษตรกรผู้ผลิตข้าว หรือกลุ่มเกษตรกรให้มีความเข้มแข็งยั่งยืน อีกทั้งให้มีการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การปรับตัวภายใต้การเปลี่ยนแปลงทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม และเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของข้าวไทยในตลาดโลก ซึ่งจะทำให้รายได้ของเกษตรกรเพิ่มขึ้น กรมการข้าวจึงได้จัดทำโครงการสนับสนุนลดต้นทุนการผลิตด้านการเกษตรสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว โดยใช้งบประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท (งบดำเนินงาน 35 ล้านบาท และงบอุดหนุนเกษตรกร 15,225 ล้านบาท) โดยมีเป้า ดำเนินการในศูนย์ข้าวชุมชน 5,000 ศูนย์ เกษตรกรผู้ได้รับประโยชน์ 4.60 ล้านครัวเรือน ครอบคลุมพื้นที่ให้บริการ 62 ล้านไร่
เปิด 3 เงื่อนไขการเข้าร่วมโครงการฯ
-ต้องเป็นศูนย์ข้าวชุมชนที่ขึ้นทะเบียนกับกรมการข้าว ไม่เกินวันที่ 15 ตุลาคม 2565
-ต้องจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชนกับกรมส่งเสริมการเกษตร ไม่เกินวันที่ 15 ตุลาคม 2565
-ต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย ภายในเดือนตุลาคม 2565
ต่อกรณีนายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรและเกษตรกรไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ผมไม่ยอม ผมค้านเต็มที่ แล้วไม่ยอมฟังเสียงชาวนา ยกเลิก การจ่ายเงินไร่ ละ 1,000 บาท สูงสุดได้รับเงิน 2 หมื่นบาท ในนามของสมาคม ชาวนาจะลุกฮือทั้งประเทศ ตอนนี้ได้ติดต่อไปหลายจังหวัดแล้ว คนพร้อมที่จะเข้าร่วมกันเพื่อคว่ำร่างงบประมาณ 1.5 หมื่นล้าน ผ่านศูนย์ข้าวชุม
สมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง เพราะเกษตรกรที่ได้รับประโยชน์เป็นเพียงกลุ่มเล็ก หากเทียบกับโครงการเดิมที่ให้แก่เกษตรรวม 4.6 ล้านครัวเรือน หรือประมาณ 16 ล้านคน จะเชื่อได้อย่างไรว่าแนวทางที่จะปรับเปลี่ยนนี้เกษตรกรทั้ง 4.6 ล้านครัวเรือนจะได้รับประโยชน์อย่าวทั่วถึงจริง แต่หากต้องการสนับสนุนโครงการ ศูนย์ข้าวชุมชนจำนวน 5,000 ศูนย์นี้ ก็ควรที่จะต้องแยกงบประมาณ จากโครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ ให้ชัดเจน
“ศูนย์ข้าวชุมชน” ปัจจุบันดำเนินการอยู่จดแจ้งกับกรมการข้าว 2,470 กว่าศูนย์ ที่สำคัญที่ผ่านมาได้มีการตรวจสอบประเมินผลหรือไม่ ถึงความคุ้มค่า และผลการตอบรับจากเกษตรกรทั่วไปว่าเกิดประโยชน์เพียงใด และที่ผ่านมาดำเนินการประสบความสำเร็จจำนวนกี่ศูนย์ จาก 2,470 ศูนย์ การจะจัดตั้งหรือเพิ่มศูนย์แต่ละศูนย์ต้องพิจารณาให้ดี แม้ปัจจุบันมีดำเนินการอยู่ประมาณ 2,470 ศูนย์
แต่มีการเข้าไปเก็บข้อมูลหรือไม่ว่าแต่ละศูนย์มีประสิทธิภาพในการดำเนินงานมากเพียงใด และหากจะเพิ่มถึง 5,000 ศูนย์นั้น มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน เพราะบางพื้นที่เกษตรกรบางส่วนก็อาจจะไม่ต้องการหรือไม่พร้อมที่จะเข้าร่วมเป็นศูนย์ข้าวชุมชน การเร่งให้เกิดเป็นศูนย์ฯมากเกินไปก็อาจจะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์โดยรวม โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยรายเล็กที่มีพื้นที่ 5-10 ไร่
อาจจะยิ่งเสียประโยชน์หากถูกบังคับให้เข้าร่วม โดยจำกัดสิทธิ์ต่างๆ หรือไม่ จะเป็นการยัดเยียดให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการโดยรับๆกันไปเถอะ คือไม่ได้ต้องการเข้าร่วมอย่างสมัครใจแท้จริง แต่เข้าร่วมเพียงเพราะเหตุผลว่าเขาให้มาแล้วก็รับไปเถอะ เพราะถ้าแบบนี้ก็จะทำให้ศูนย์เสียงบประมาณโดยใช่เหตุและไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างที่ควร ทั้งนี้ถ้าจะต้องทำอย่างเกิดประโยชน์สูงสุดก็ควรทำแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่องบประมาณ การจะเลือกใช้อุปกรณ์เครื่องจักรต่างๆต้องให้กลุ่มเกษตรกรเป็นผู้ตัดสินใจเลือกใช้และจัดหาเองตามวัตถุประสงค์ความต้องการ หรือความสมัครใจ มิใช่เฉพาะกิจ
นายปราโมทย์ กล่าวว่า การตั้งเป้าจะต้นทุนการผลิต จะต้องทำให้เกษตรกร สามารถลดต้นทุนในการใช้ปัจจัยการผลิตเรื่องพันธุ์ข้าว ปุ๋ย ยาต่างๆ และเครื่องจักรกลการเกษตรได้อย่างแท้จริง ไม่ใช่ลดได้แค่เพียงนิดๆหน่อยๆ สามร้อย-สี่ร้อยบาทเท่านั้น แต่อย่างน้อยต้องลดลงได้ถึงไร่ละ 1,000 บาทเป็นอย่างต่ำ ถึงจะคุ้มค่า ไม่เสียงบประมาณโดยเปล่าประโยชน์ และต้องควบคุมไม่ให้เกิดช่องว่างในการจัดซื้อจัดจ้าง เครื่องจักร ต่างๆมิฉะนั้นเท่ากับเป็นแค่นายหน้าขายเครื่องมือการเกษตรเท่านั้น โดยเอาการช่วยเหลือชาวนาเป็นข้ออ้างเท่านั้น
ที่สำคัญต้องไม่กระทบต่อโครงสร้างที่มีอยู่ เช่น เกษตรกรที่ได้ลงทุนรถเกี่ยวข้าวเพื่อรับจ้างเกี่ยวข้าวเพิ่ม รวมถึงเกษตรกรที่ทำอาชีพรับจ้างทำนาโดยมีการลงทุนเครื่องมือเครื่องจักรต่างๆด้วยทุนส่วนตัว หากเกษตรกรกลุ่มนี้ได้รับผลกระทบ อาจต้องล้มหายตายจาก เป็นหนี้เป็นสินจากการที่กู้มาลงทุนหรือไม่ เพราะอะไรที่มากเกินไปย่อมมีผลเสีย จึงขอฝากไปยังคณะกรรมาธิการ ที่เกี่ยวข้อง ที่กำลังพิจารณาช่วยพิจารณาอย่าง รอบคอบ ถึงความคุ้มค่า สมเหตุสมผล และนำขอมูลในอดีตที่ได้มีการดำเนินการไปแล้วว่ามีผลสัมฤทธิ์อย่างไร
ร่างโครงการที่ "กรมการข้าว" เสนอ งบประมาณผ่านศูนย์ข้าวชุมชน