เป็นข่าวใหญ่คึกโครมวงการโคนม เมื่อ บริษัทฟรีสแลนด์คัมพิน่า (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิต และจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมพร้อมดื่มตรา “โฟรโมสต์” ในเครือรอยัลฟรีสแลนด์คัมพิน่า ที่มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้ประกาศยุติการผลิตและการจัดจำหน่ายนมพาสเจอร์ไรซ์ในประเทศไทย ส่วนผลิตภัณฑ์อื่นๆ ยังสามารถหาซื้อได้ตามร้านค้าและห้างสรรพสินค้าทั่วไปได้ตามปกติ หลายฝ่ายตั้งข้อสงสัยว่าเป็นผลจากที่ล่าสุดเกษตรกรได้ขอปรับขึ้นราคาน้ำนมดิบหรือไม่นั้น
นายวสันต์ จีนหลง นายกสมาคมผู้ผลิตนมพาสเจอร์ไรส์ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปัญหาที่แท้จริงของบริษัทฯ จากโรงงานที่หลักสี่ มีปัญหาสภาพแวดล้อม อยู่ในพื้นที่แออัด พอเห็นข่าวทุกคนก็ไม่เข้าใจคิดว่ามีต้นเหตุจากต้นทุนราคาน้ำนมดิบแพง จากเกษตรกรเรียกร้องให้ปรับราคาใหม่ในเวลานี้ ซึ่งความเป็นจริง โรงงานปิดก่อนที่ราคาน้ำนมดิบเตรียมจะปรับขึ้น ขณะที่เวลานี้น้ำนมดิบก็ยังเป็นราคาตามประกาศเดิมอยู่ (กราฟิกประกอบ) ซึ่งกระแสข่าวออกมาเป็นปีแล้ว แต่บริษัทมาหยุดผลิตวันที่ 1 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ซึ่งไม่ได้มีปัญหาต่อผู้บริโภคมากนัก
อีกด้านหนึ่งในวันนี้ (20 ก.ค.65) มีโรงงานนมเอกชน 2 ราย คือ บริษัท เขาใหญ่ เฟรชมิลค์ จำกัด กลุ่มพื้นที่ 2 ถูกตัดสิทธิ์โควตานมโรงเรียน และกำลังจะหาเอกชนรายใหม่มาส่งแทน ส่วนรายที่ 2 บริษัท ศรีเทพ แดรี่ จำกัด ให้ บจก.บุญยเกียรติไอศรีม จำกัด ส่งแทน ซึ่งทั้ง 2 ราย สาเหตุจากน้ำนมโคมีการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคชนิด แบซิลลัส ซีเรียส (Bacilus cereus) เป็นโทษร้ายแรง ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 416) พ.ศ. 2563
ออกตามความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 เรื่อง กำหนดคุณภาพหรือมาตรฐาน หลักเกณฑ์เงื่อนไข และวิธีการในการตรวจวิเคราะห์ของอาหารด้านจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค ล่าสุดคณะกรรมการระดับจังหวัดนครราชสีมามีมติให้จัดสรรเฉลี่ยแต่ละรายทุกโรงในพื้นที่”
นายนพดล เจริญกิตติ อดีตผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม หรือมิลค์บอร์ด กล่าวว่า วันนี้ราคาน้ำนมดิบยังไม่ได้ปรับราคาขึ้นสักสลึงเดียว อย่ามาโยนบาปให้เกษตรกรตกเป็นแพะ กรณีโรงงานนมพาสเจอร์ไรส์ของโฟรโมสต์ปิดตัว ขณะที่เกษตรกรขาดทุนมา 2 ปีแล้ว ทั้งนี้ฟรีสแลนด์คัมพิน่าในไทย วัตถุประสงค์การตั้งบริษัทเพื่อระบายนมผง ไม่ต้องการใช้น้ำนมดิบ
เทียบกับฟรีสแลนด์คัมพิน่า ใน เวียดนาม อินโดนีเซีย ใช้นมผง 100% แต่ของไทยมาผูกกับน้ำนมดิบที่บริษัทจำเป็นต้องรับซื้อจากเกษตรกร เพราะไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถขอโควตานำเข้านมผงได้ วันนี้ตลาดนมพาณิชย์ในส่วนของนมพาสเจอร์ไรส์ ทางนมโฟรโมสต์ แข่งสู้นมวัวแดงของ อ.ส.ค. และ ซีพี - เมจิ อีก 2 ผู้เล่นรายใหญ่ลำบาก ประกอบกับราคานมผงก็แพงขึ้น การปิดโรงงานของบริษัทฯจึงมาจากหลายเหตุปัจจัย ไม่ใช่จากการจะปรับขึ้นราคาน้ำนมดิบแน่นอน
แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการนม กล่าวว่า สถานการณ์ตอนนี้ลำบาก เกษตรกรเลิกเลี้ยงไปจำนวนมาก ทำให้น้ำนมดิบขาดแคลนมาก ไม่รู้จะทำอย่างไร อาจจะกระทบโครงการนมโรงเรียนได้ในอนาคต
ด้านนายนัยฤทธิ์ จำเล ประธานกรรมการชุมนุมสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า มติของชุมนุมสหกรณ์ฯ มีมติ 2 ข้อ กล่าวคือ 1.เห็นชอบปรับราคากลางรับซื้อน้ำนมดิบ หน้าศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบในปี 2565 จากกิโลกรัม (กก.) ละ 17.50 บาท เพิ่มอีก กก.ละ 2.25 บาท เป็น กก.ละ 19.75 บาทในวันที่ 1 สิงหาคม 2565 และ 2. ระงับการนำเข้านมผงชั่วคราว จนกว่าจะมีการปรับขึ้นราคาน้ำนมดิบ ถ้าไม่ได้ก็จะมีการเคลื่อนไหวต่อเนื่อง
ทั้งนี้มติตาม คณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม (มิลค์บอร์ด) ยังมีเรื่องอื่นอีก อาทิ เห็นชอบปรับราคากลางรับซื้อน้ำนมโค หน้าโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นม ในปี 2565 จาก กก.ละ 19 บาท เป็น 20.50 บาท และให้ภาครัฐชดเชยให้ศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ 0.75 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน โดยคาดว่าจะใช้เงินประมาณ 270 ล้านบาท
ทั้งนี้ หากมีการปรับขึ้นราคากลางน้ำนมดิบ จะส่งผลให้มีการปรับราคากลางนมโรงเรียนใหม่ อาทิ นมพาสเจอร์ไรสซ์ ราคากลางปรับขึ้นเป็น 7.14 บาทต่อถุง, นมยู.เอช.ที เป็น 8.38 บาทต่อกล่อง, นมชนิดซองเป็น 8.28 บาท โดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นต่อถุงหรือกล่อง 0.56 บาท แต่หากสถานการณ์ด้านราคาวัตถุดิบอาหารปรับลดลง ให้คณะอนุกรรมการฯจัดทำข้อเสนอราคาน้ำนมโคและผลิตภัณฑ์นม และพิจารณาทบทวนการกำหนดราคาให้สอดคล้องกับสถานการณ์
“สถานะฟาร์มโคนมขนาดเล็กยังมีเป็นจำนวนมากในกลุ่มของชุมนุมสหกรณ์โคนมฯ ประมาณ 1.8 หมื่นครัวเรือน มีต้นทุนน้ำนมดิบเฉลี่ย 16.39 บาทต่อกิโลกรัม ถ้าเป็นฟาร์มขนาดเล็ก 18.29 บาทต่อกิโลกรัม ต้นทุนระดับภาค ภาคใต้จะขาดทุนมากที่สุด
ส่วนภาคเหนือได้รับผลกระทบ เกษตรกรเลิกเลี้ยงวัวนมแล้ว 105 ฟาร์ม และเกษตรกรโคนมฟาร์มขนาดเล็กในภาคอื่น ๆ เริ่มทยอยเลิกเลี้ยงโคนม เพราะต้นทุนอาหารสัตว์สูงขึ้น” นายนัยฤทธิ์ กล่าว
หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3803 วันที่ 24 - 27 กรกฎาคม 2565
แนบหนังสือ คำสั่งตัดสิทธิ์