วิธีขอกู้เงิน ธ.ก.ส. สินเชื่อฉุกเฉิน ช่วยเกษตรกรเจอน้ำท่วมจากพายุมู่หลาน

17 ส.ค. 2565 | 02:45 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ส.ค. 2565 | 11:06 น.

วิธีขอกู้เงิน ธ.ก.ส. สินเชื่อฉุกเฉิน ช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยน้ำท่วมจากพายุมู่หลาน เช็คเงื่อนไขสินเชื่อ 2 โครงการหลัก คือ สินเชื่อฉุกเฉิน วงเงิน 5 หมื่นบาท และสินเชื่อฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิต วงเงิน 5 แสนบาท ต้องทำยังไง คิดดอกเบี้ยยังไง จ่ายคืนแบบไหนได้

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากอิทธิพลพายุมู่หลาน ทำให้เกิดวิกฤติน้ำท่วมในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และกำลังขยายมาในพื้นที่ภาคกลางส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของประชาชน สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สิน โดยเฉพาะพื้นที่การเกษตร 

 

โดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมมีความห่วงใยประชาชน กำชับให้ส่วนราชการเร่งให้ความช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในทุก ๆ ด้าน

ล่าสุด ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส) ขานรับนโยบายรัฐบาลเร่งดำเนินมาตรการเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกรลูกค้า โดยมอบหมายให้พนักงานในพื้นที่ที่ประสบอุทกภัยออกเยี่ยมเยียนให้กำลังใจลูกค้าและนำถุงยังชีพไปมอบเพื่อช่วยเหลือในเบื้องต้น 

 

รวมถึงสำรวจข้อมูลความเสียหายและผลกระทบจากอุทกภัย เกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. ที่ได้รับผลกระทบฯ สามารถผ่อนผันการชำระหนี้ออกไปไม่เกิน 12 เดือน โดยไม่คิดดอกเบี้ยปรับ และสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ร่วมโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2565 เมื่อดำเนินการสำรวจพื้นที่การเกษตรแล้วพบว่า มีความเสียหายเป็นไปตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ ธ.ก.ส. จะเร่งประสานงานส่วนงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ชดเชยความเสียหายโดยเร็วต่อไป

นอกจากนี้ ธ.ก.ส. ยังมีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยธรรมชาติ หรือภัยพิบัติ ผ่าน 2 โครงการ ดังนี้

 

โครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน ปี 2565/66 

  • เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉินช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยธรรมชาติ หรือภัยพิบัติ
  • วงเงินรายละไม่เกิน 50,000 บาท 
  • ตั้งแต่วันนี้ ถึง 31 มีนาคม 2566

 

อัตราดอกเบี้ย

  • เดือนที่ 1-6 ไม่มีดอกเบี้ย
  • เดือนที่ 7 เป็นต้นไป คิดดอกเบี้ย MRR (ปัจจุบัน MRR อยู่ที่ 6.50%)

 

ชำระหนี้คืนเสร็จสิ้น

  • ไม่เกิน 3 ปี นับตั้งแต่วันกู้ (รายเดือน / ไตรมาส / 6 เดือน / ปี ตามแหล่งที่มาของรายได้และความสามารถในการชำระหนี้)

 

หลักประกันเงินกู้

  • ใช้หลักประกันหนี้เงินกู้ตามข้อบังคับและวิธีปฏิบัติติปกติของ ธ.ก.ส. เป็นลำดับแรก
  • จำนองที่ดิน หรือที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่เป็นที่อยู่อาศัย ให้กู้ได้ไม่เกิน 95% ของวงเงินจดทะเบียนจำนอง
  • บุคคลรับรองรับผิดชอบอย่างลูกหนี้ร่วมกัน หรือใช้บุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปค้ำประกัน ให้กู้ได้ไม่เกิน 50,000 บาท 

 

โครงการสินเชื่อฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิต

  • เพื่อเป็นค่าซ่อมแซมบ้านเรือนและทรัพย์สิน ค่าซ่อมเครื่องมือและอุปกรณ์การเกษตรที่ได้รับความเสียหาย ค่าใช้จ่ายในการทำการเกษตรรอบใหม่ 
  • วงเงินรายละไม่เกิน 500,000 บาท 
  • ตั้งแต่วันนี้ เป็นต้นไป

 

อัตราดอกเบี้ย

  • คิดอัตราดอกเบี้ย MRR-2 

 

ชำระหนี้คืนเสร็จสิ้น

  • ไม่เกิน 15 ปี นับตั้งแต่วันกู้ (รายเดือน / ไตรมาส / 6 เดือน / ปี ตามแหล่งที่มาของรายได้และความสามารถในการชำระหนี้)

 

หลักประกันเงินกู้

  • ใช้หลักประกันหนี้เงินกู้ตามข้อบังคับและวิธีปฏิบัติติปกติของ ธ.ก.ส. เป็นลำดับแรก
  • จำนองที่ดิน หรือที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่เป็นที่อยู่อาศัย ให้กู้ได้ไม่เกิน 95% ของวงเงินจดทะเบียนจำนอง
  • บุคคลรับรองรับผิดชอบอย่างลูกหนี้ร่วมกัน หรือใช้บุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปค้ำประกัน ให้กู้ได้ไม่เกิน 200,000 บาท 

 

มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยธรรมชาติ หรือภัยพิบัติ

 

ทั้งนี้สามารถสอบถามรายละเอียดของโครงการ และวิธีการกู้เงินได้ที่ ธ.ก.ส.