นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) โพสต์ทางเฟซบุ๊ก TOP Varawut - ท็อป วราวุธ ศิลปอาชา ข้อความว่า เมื่อวานที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสร่วมงาน NEW ENERGY : แผนพลังงานชาติ สู่ความยั่งยืน ซึ่งจัดขึ้นโดยหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ และได้รับเกียรติให้เป็น Keynote Speaker พูดคุยในหัวข้อ “ยุทธศาสตร์ การผลักดันสังคมคาร์บอนต่ำ”
ซึ่งในปัจจุบันนี้ต้องยอมรับว่าสภาพอากาศของโลกมีความแปรปรวนเป็นอย่างมาก เมื่อเดือนที่ผ่านมาเกิดน้ำท่วมฉับพลันที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ วันเดียวมีน้ำท่วมสูงถึง 380 มิลลิเมตร กลับกันทางประเทศจีน เกิดปรากฏการณ์คลื่นความร้อนที่ยาวนานเป็นเดือน ทำให้ปริมาณฝนที่ตกน้อยเป็นประวัติการณ์ ส่งผลให้แม่น้ำแยงซี และแม่น้ำอีกหลายสาย เกิดภัยแล้งอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่เราทุกคนจะต้องตระหนักว่า ภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ใกล้ตัวเราเข้ามาทุกที
สำหรับแนวทางในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนในประเทศไทยนั้น หนึ่งในหนทางสำคัญที่เราได้เดินหน้าผลักดัน คือ การเพิ่มแหล่งกักเก็บ และดูดกลับก๊าซเรือนกระจกในพื้นที่ป่าจำนวน 6 แสนไร่ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดีว่า ขณะนี้มีภาคเอกชนแสดงเจตจำนงเพื่อขอเข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมาก ทั้งในส่วนพื้นที่ป่าชายเลนและพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม เนื่องจากปัจจุบันนี้ภาคเอกชนเริ่มเห็นแล้วว่าคาร์บอนเครดิตมีความสำคัญมากน้อยเพียงใด
ซึ่งโครงการนี้จะสอดคล้องกับแผนการเปิดแพลตฟอร์มซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตเป็นครั้งแรกของประเทศไทยในวันที่ 21 กันยายน 2565 โดยเงื่อนไขการแบ่งปัน คือ ผู้ปลูกหรือภาคเอกชนจะได้คาร์บอนเครดิต 90% และรัฐบาลจะได้คาร์บอนเครดิต 10% ส่วนประชาชนในพื้นที่จะได้ประโยชน์จากการจ้างงานของภาคเอกชน เพื่อดูแลพื้นที่ป่าเหล่านี้ครับ