แหล่งข่าวผู้ประกอบการการค้าชายแดนจังหวัดเชียงราย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา วงการการค้าชายแดนที่จังหวัดเชียงรายมีความคึกคัก และต่างมีความยินดีกันเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากได้รับข่าวดีว่า ทางการจีนที่มณฑลยูนนาน ได้ไฟเขียวให้ท่าเรือกวนเหล่ย กลับมาเปิดอีกครั้งจากที่ปิดให้บริการช่วงการระบาดเชื้อโควิด-19
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ดร.อนุรัตน์ อินทร ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงราย เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ข่าวดังกล่าวนี้เป็นเรื่องจริง และน่าจะเป็นผลสืบเนื่องจากการที่หอการค้าจังหวัดเชียงราย ได้ร่วมกับภาครัฐผลักดันให้จีนเปิดท่าเรือกวนเหล่ยมาตลอด ล่าสุดกงสุลใหญ่จีนประจำจังหวัดเชียงใหม่ ได้เดินทางมาพบกับผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย โดยมีหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งภาคเอกชนเข้าพบกงสุลใหญ่จีนด้วย
ในการพูดคุยหารือปัญหา และอุปสรรคต่างๆ ของการค้าระหว่างเชียงรายกับจีนตอนใต้ หอการค้าจังหวัดเชียงราย ก็ได้หยิบยกเรื่องท่าเรือกวนเหล่ยมาเสนอต่อที่ประชุม และได้ขอให้กงสุลใหญ่จีน ได้ช่วยผลักดันให้ท่าเรือกวนเหล่ยกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง หลังปิดไปนานตั้งแต่ช่วงที่เกิดวิกฤติโควิด เมื่อ ปี 2562
“การที่ทางมณฑลยูนนานไฟเขียวให้ท่าเรือกวนเหล่ย กลับมาเปิดให้บริการส่งออกและนำเข้าสินค้าได้ ย่อมจะส่งผลดีต่อการค้าระหว่างประเทศไทยกับจีนตอนใต้ เนื่องจากการขนส่งสินค้าทางเรือในแม่นํ้าโขง ถือว่าเป็นระบบโลจิสติกส์ที่ทำให้สินค้าไทยไปถึงจีนตอนใต้ หรือสินค้าจีนเข้าไทยได้โดยไม่ต้องผ่านประเทศที่ 3 จึงช่วยลดปัญหาและอุปสรรคอื่นๆ ได้มากพอสมควร และที่สำคัญการขนส่งสินค้าทางเรือในแม่นํ้าโขง เป็นระบบโลจิสติกส์ที่มี Cost (ต้นทุน) ตํ่ากว่าทุกระบบที่มีอยู่ในปัจจุบัน จึงน่าจะเป็นผลดีกับทั้งไทยและจีนในการที่จะค้าขายร่วมกัน” ดร.อนุรัตน์ กล่าว
ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงราย กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า การที่ประเทศไทยและจังหวัดเชียงรายมีช่องทางโลจิสติกส์เพิ่มขึ้นมาอีก 1 ช่องทางในการค้าขายกับจีนตอนใต้ จะเป็นปัจจัยบวกต่อสภาพเศรษฐกิจของประเทศไทยโดยตรง โดยเฉพาะในเรื่องของการส่งออกสินค้าต่าง ๆ ที่เคยมีปัญหาในการขนส่งสินค้าทางบกช่องทางอื่น ๆ ที่ต้องผ่านประเทศที่ 3
เป็นโอกาสที่ดีของประเทศไทยและของจังหวัดเชียงราย ซึ่งตัวเลขมูลค่าการค้าชายแดนของจังหวัดเชียงราย น่าจะบวกขึ้นมากกว่าที่ผ่านมามากพอสมควร เนื่องจากการขนส่งสินค้าทางเรือในแม่นํ้าโขง สามารถขนได้คราวละมากๆ ปริมาณความจุสินค้าของกองเรือพาณิชยนาวีแม่นํ้าโขงปัจจุบันมีมากถึง 300- 500 ตันกรอสในช่วงฤดูนํ้าหลาก ซึ่งยิ่งขนส่งคราวละมากๆ ได้เท่าไร ต้นทุนการขนส่งก็จะยิ่งตํ่าลง อันจะเป็นผลให้ศักยภาพในการแข่งขันของสินค้าไทยในจีนตอนใต้ก็สูงมากยิ่งขึ้น
ทางด้านนางสาวผกายมาศ เวียร์รา รองประธานหอการค้าจังหวัดเชียงราย และผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวทางเรือในแม่นํ้าโขง เปิดเผยถึงเรื่องดังกล่าวนี้ว่า เบื้องต้นเท่าที่ทราบทางการจีนอนุญาตให้เข้า-ออกท่าเรือกวนเหล่ยได้เฉพาะสินค้าเท่านั้น ในภาคการท่องเที่ยวคงต้องรอให้ทางการจีนเขาประเมินสถานการณ์ไปก่อน แต่ถือว่าเป็นปัจจัยบวกที่ดีต่อการค้าชายแดนของจังหวัดเชียงราย และรวมทั้งการส่งออกสินค้าของประเทศไทยด้วย
อย่างไรก็ตามมูลค่าการค้าชายแดนอาจจะไม่ได้เติบโตมากนัก เนื่องจากการค้าระหว่างไทยกับจีนตอนใต้ในช่วงที่ท่าเรือปิด ผู้ประกอบการก็ได้หันไปใช้ระบบโลจิสติกส์ผ่านช่องทางอื่นๆ โดยเฉพาะการขนส่งทางบกที่วิ่งบนถนน R3a ไทย-ลาว-จีน กันอยู่แล้ว เมื่อช่องทางการขนส่งสินค้าผ่านกองเรือพาณิชยนาวีแม่นํ้าโขงเปิดขึ้น ผู้ประกอบการเหล่านั้นก็น่าจะกลับมาใช้บริการการขนส่งทางเรือในแม่นํ้าโขงเช่นเดิม
ขณะที่นายณัฐพล รัชตะศิลปิน ผู้จัดการท่าเรือเชียงแสน เปิดเผยในเรื่องเดียวกันนี้ว่า ตนเองก็ทราบข่าวจากทางหอการค้าจังหวัดเชียงรายเช่นกัน และก็ได้พยายามรีเช็คกับผู้ประกอบการอยู่ว่า ท่าเรือกวนเหล่ยจะกลับมาเปิดให้บริการได้ถึงระดับไหน เต็ม 100% เหมือนก่อนเกิดวิกฤติโควิด- 19 หรือเปล่า รวมทั้งยังต้องรอดูด้วยว่าทางจีนจะมีกฎระเบียบกติกาอะไรยังไงบ้าง อย่างไรก็ตามการที่ท่าเรือกวนเหล่ยของจีนกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง ย่อมส่งผลดีต่อการขนส่งสินค้าระหว่างไทยกับจีนตอนใต้ผ่านกองเรือพาณิชย นาวีแม่นํ้าโขงอย่างแน่นอน
“ในส่วนของท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน เรามีความพร้อมที่จะอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการอยู่แล้ว ทางเราก็รอเพียงให้ท่าเรือกวนเหล่ยเปิดให้บริการเท่านั้น อย่างไรก็ตามส่วนตัวมองว่า อาจ จะต้องรอดูความชัดเจนจากทาง ท่าเรือกวนเหล่ยอีกครั้ง ซึ่งทางผู้ประกอบการน่าจะมีข้อมูลที่ชัดเจน กว่าหน่วยงานหรือองค์กรเพราะ น่าจะได้มีการติดต่อประสานงานกับคู่ค้าทางจีนตอนใต้กันอยู่อย่างสมํ่าเสมอ” นายณัฐพล กล่าว
ชัยณรงค์ สีนาเมือง/รายงาน
หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,819 วันที่ 18-21 กันยายน พ.ศ.2565