นายจักรา ยอดมณี รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า ได้ลงพื้นที่ตรวจสถานการณ์สินค้าปุ๋ยเคมี ที่คลังสินค้าของบริษัท เจียไต๋ จำกัด อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นคลังเก็บสินค้าปุ๋ยเคมีขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งโดยจากการสำรวจ พบว่า มีปริมาณปุ๋ยเคมีเป็นจำนวนมาก และทางบริษัทยืนยันว่าจะมีการนำเข้ามาเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีแผนนำเข้ามาจากบริษัท ซาบิก ซึ่งเป็นผู้ผลิตปุ๋ยเคมีรายใหญ่ของซาอุดิอาระเบีย
“จากการติดตามสถานการณ์และการลงพื้นที่สำรวจในครั้งนี้ ทำให้มั่นใจได้ว่า ปัญหาปุ๋ยเคมีขาดแคลน จะไม่เกิดขึ้น และปริมาณปุ๋ยมีเพียงพอต่อความต้องการใช้ของเกษตรกร ที่อยู่ในช่วงฤดูกาลเพาะปลูกหรือเตรียมที่จะเพาะปลูกในรอบถัดไป ดังนั้น ขอให้เกษตรกรเบาใจได้”
สำหรับสถานการณ์ราคาจำหน่ายปุ๋ยเคมี แม้ราคายังอยู่ในระดับที่สูงอยู่ ซึ่งเป็นไปตามราคาก๊าซธรรมชาติในตลาดโลก เพราะวัตถุดิบแม่ปุ๋ยทำมาจากก๊าซธรรมชาติ แต่ขณะนี้พบว่าราคาได้ปรับลดลงมาจากช่วงกลางปีที่ผ่านมาแล้ว โดยปุ๋ยยูเรีย ซึ่งเกษตรกรใช้กันมากที่สุด ราคาลดลงมาแล้วประมาณ 15-20% ตามราคาปุ๋ยตลาดโลกที่ปรับตัวลดลง ซึ่งกรมฯ ก็จะติดตามและตรวจสอบสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป และได้กำชับให้จำหน่ายในราคาที่สอดคล้องกับต้นทุนที่แท้จริง
นอกจากนี้ กรมฯ ยังได้ลงพื้นที่ติดตามการจำหน่ายปัจจัยการเกษตร เช่น ปุ๋ยเคมี ยาปราบศัตรูพืช ที่สหกรณ์การเกษตรบางน้ำเปรี้ยว อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งในช่วงนี้สหกรณ์ฯ ได้จัดงานจำหน่ายปัจจัยการเกษตร มีผู้ผลิต
และจำหน่ายปุ๋ยเคมีและปัจจัยการเกษตรมาจัดแสดงและลดราคาจำหน่ายสินค้าประมาณ 30 ราย เพื่อให้เกษตรกรได้เลือกซื้อไปใช้ และช่วยลดต้นทุนในการผลิต ซึ่งเท่าที่สำรวจราคาจำหน่ายปุ๋ยเคมีในงานพบว่าลดราคาถึงตันละประมาณ 300-500 บาท หรือกระสอบละ 15-25 บาท
ด้านนางสาวผ่องศรี สิมะวัฒนา ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรบางน้ำเปรี้ยว กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ ปุ๋ยเคมีมีราคาปรับตัวสูงขึ้นจากปัญหาสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ราคาพลังงานเพิ่มสูงขึ้น และกระทบต่อราคาปุ๋ยเคมี ที่ผลิตจากปิโตรเคมี แต่จากการช่วยเหลือของกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้ดำเนินการเจรจากับผู้จำหน่ายปุ๋ยรายสำคัญในตลาดโลก เช่น ซาอุดิอาระเบีย ทำให้ปริมาณปุ๋ยเคมีในประเทศไม่ขาดแคลน และยังมีจำหน่ายต่อเนื่อง แม้ว่าช่วงแรกจะยังมีราคาสูงขึ้น ก็เป็นไปตามต้นทุนที่สูงขึ้น แต่ขณะนี้ ราคาเริ่มปรับตัวลดลงแล้ว ถือเป็นข่าวดีของเกษตรกร ที่จะซื้อปุ๋ยได้ในราคาที่ถูกลง เป็นการช่วยลดต้นทุนการผลิตลงมาด้วย