เปิดกลยุทธ์ธุรกิจ ทีทีบีปี 67 ยกเครื่ององค์กร-ลงทุนไอที7%ต่อปี

04 มี.ค. 2567 | 23:18 น.

TTBยกเครื่ององค์กร ผนึกพันธมิตรชั้นนำสร้างอีโคซิสเต็ม ตอบโจทย์ 4 กลุ่มลูกค้า “รถ-บ้าน-มนุษย์เงินเดือน-เวลธ์” ปิติ ลั่นอยากเห็นพันธมิตรร่วมบูรณาการ ปรับโครงสร้าง-รวบหนี้ หวังลดภาระและช่วยคนไทยให้บริหารจัดการหนี้ได้ 

นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทยธนชาต หรือทีเอ็มบีธนชาต(ทีทีบี) เปิดเผยว่า ปี 2567 ธนาคารยังคงมีการปล่อยสินเชื่ออยู่  ซึ่งเน้นกลุ่มรีเทลและเอสเอ็มอีมากขึ้น   โดยมองว่าลูกค้าทั้งสองกลุ่มสามารถให้ผลตอบแทนที่คุ้มกับความเสี่ยง   แต่มีสัญญาณอัตราปฎิเสธเพิ่มขึ้นบ้าง  ซึ่งสอดคล้องกับที่ทางบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ(NCB)ก็ให้ข้อมูลโดยตลอด ถ้าธนาคารปล่อยกู้ก็ต้องเช็คข้อมูลจากเอ็นซีบี  เมื่อข้อมูลเสื่อมถอยลง คนที่สามารถเข้ามากู้ได้ก็ลดลง

ต่อข้อถามถึงภาพรวมหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล)ในระบบนั้น  ยอมรับว่าเอ็นพีแอลมีแนวโน้มขยับสูงขึ้น  หลังจากหมดมาตรการช่วยเหลือของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แต่โจทย์ของธนาคารในปีนี้ยังมีความท้าทายทั้งปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง  ภายใต้ดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง จึงเป็นปีที่ยากลำบากของลูกหนี้

"ในส่วนของทีทีบีคาดว่าเอ็นพีแอลจะขยับสูงขึ้นเช่นกัน แต่สามารถบริหารจัดการให้อยู่ในระดับ 2.9% โดยปีนี้คาดว่าการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญจะไม่สูงขึ้น เพราะที่ผ่านมาทีทีบีได้มีการตั้งสำรองอยู่ในระดับสูง155%"

แนวโน้มด้านหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือNPLsในระบบนั้น  คงจะปรับสูงขึ้น เนื่องจากมาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ได้สิ้นสุดไปเมื่อปีที่แล้ว เพราะฉะนั้นเอ็นพีแอลปีนี้ปีนี้เอ็นพีแอลน่าจะขยับขึ้นบ้าง

แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่น่าห่วง  เพราะธนาคารพาณิชย์สามารถจะบริหารจัดการได้และเชื่อว่าประเทศไทยจะสามารถผ่านช่วงนี้ไปได้  แต่สำคัญต้องไม่หลอกตัวเอง ค่อยๆเข้าสู่ภาวะความเป็นจริง   โดยไม่ถอนเสาค้ำยันออกพร้อมกัน  แต่ต้องเปลี่ยนผ่านอย่างค่อยๆกลับมาเติบโตได้อย่างยั่งยืน 

“ในส่วนของทีทีบีเอ็นพีแอลคงจะขยับขึ้นบ้างแต่ไม่มาก  เพราะทีทีบีแทบจะไม่ได้ใช้มาตรการช่วยเหลือพิเศษของธปท. โดยทีทีบีนับเอ็นพีแอลปกติเป็น Stage3   แต่ในภาวะที่ดอกเบี้ยสูงยังคงต้องมีอยู่เพื่อดูแลเงินทุนเคลื่อนย้าย  และเงินบาทที่อ่อนค่าทำให้ค่าพลังงานหรือราคาน้ำมันแพง ภาวะแบบนี้เป็นภาวะที่ยากลำบากสำหรับประเทศไทย

 หากไทยจะลดดอกเบี้ยลงก่อนประเทศใหญ่  ฉะนั้นโจทย์ของแบงก์จะช่วยลูกหนี้ให้ผ่านพ้นไปได้  และปีนี้ภาระในการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญคงไม่มาก เพราะปีที่แล้วแต่ละธนาคารตั้งสำรองฯไว้เกิน 120% เฉลี่ย 130-140% ซึ่งทีทีบีอยู่ที่ 155% เพราะเราเห็นแล้วว่าปีนี้เศรษฐกิจยังมีความเปราะบางต่อเนื่อง”

เปิดกลยุทธ์ธุรกิจ ทีทีบีปี 67 ยกเครื่ององค์กร-ลงทุนไอที7%ต่อปี

อย่างไรก็ตาม ธนาคารพยายามจะช่วยลูกค้าอย่างเต็มที่ทั้งปรับโครงสร้างเพื่อยืดหนี้  ลดภาระหนี้ลง  ที่สำคัญหนี้ส่วนบุคคลซึ่งไม่มีหลักประกันนั้น สิ่งที่ถูกยึดไปแล้วคือ เสรีภาพในการกู้ต่อ เพราะจะเป็นลูกหนี้ที่ถูกพิพากษา  เพราะฉะนั้นคำว่า “ยึดรถ ยึดบ้าน”นั้นเป็นเรื่องปลายทาง แต่สิ่งที่ธนาคารต้องทำคือ การรวมหนี้เพื่อให้ภาระลดลง เพราะดอกเบี้ยที่แพงทำให้ลูกหนี้มีปัญหาผ่อนบ้าน ผ่อนรถไม่ได้ในที่สุดก็โดนยึด

 ดังนั้นการแก้ไขหนี้ต้องทำทั้งองคาพยพหรือบูรณาการคือ ดูรายได้ต่อภาระหนี้ที่ไม่สอดคล้องกันและปรับหนี้ทั้งก้อนไม่ใช่แยกเป็นชิ้นๆ ซึ่งเป็นที่มาของทางเลือก “รวบหนี้รวมหนี้” เพื่อให้รายได้กับรายจ่ายสอดคล้องกัน   ไม่เช่นนั้นก็จะเห็นปลายทางคือ รถกับบ้านโดนยึด

โดยเฉพาะราคาบ้านต่ำกว่า 3ล้านบาทเงินเดือนหรือรายได้ต่ำกว่า 15,000บาทต่อเดือนซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางอยู่แล้วเพราะรายได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย พอเศรษฐกิจไม่เติบโตรายได้ไม่เพิ่มแต่ค่าใช้จ่ายยังเพิ่ม โดยยอมรับว่าลูกค้ากลุ่มนี้อยู่กับแบงก์รัฐและสหกรณ์ออมทรัพย์ค่อนข้างมาก  ดังนั้นผลกระทบกับธนาคารพาณิชย์จะน้อยกว่านอนแบงก์ หรือแบงก์รัฐที่เข้าไปช่วยลูกค้ามากกว่าแบงก์พาณิชย์

ต่อข้อถามถึงการจัดตั้งJV AMC นั้น  นายปิติกล่าวว่าในปีนี้ทีทีบียังไม่มีความจำเป็น เพราะปริมาณของหนี้และวิธีการบริหารจัดการของทีทีบียังมีอย่างเพียงพอ อีกทั้งในการจัดหาพาร์ทเนอร์ก็มีความซับซ้อน ซึ่งความซับซ้อนหรือผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นอาจยังไม่มีความจำเป็น

และวันนี้ยังไม่เห็นว่าจะมีพันธมิตรรายที่เก่งหรือต้นทุนต่ำกว่าธนาคาร  และปีนี้แทบจะไม่มีความจำเป็นที่จะต้องขายเอ็นพีแอลและเชื่อว่าจะถูกกดราคา  ถ้าขายออก  เพราะคนซื้อต้นทุนแพง  ดังนั้น ทีทีบีจะช่วยลูกค้าให้ฟื้นดีกว่า  แต่เมื่อซัพพลายมาก ดีมานด์อาจจะไม่มากเพราะต้นทุนแพง เมื่อบริหารได้ดีก็ไม่จำเป็นต้องขาย

“  กลยุทธ์ธุรกิจของTTBปีนี้  ทีทีบีตั้งใจจะทำให้ชีวิตทางการเงินของคนไทยดีขึ้น  ภายใต้ภาวะการณ์ที่ดอกเบี้ยสูง  หนี้ครัวเรือนสูง โดยทีทีบียึดใน 4แกนหรือ 4กลุ่มเป้าหมายเพื่อให้ “คนมีรถ  คนมีบ้าน  มนุษย์เงินเดือนและคนที่มีความมั่งคั่ง” สิ่งที่ “ทีทีบี”ทำได้ชวนพันธมิตรหลากหลายเข้ามาร่วมโดยเฉพาะมนุษย์เงินเดือนนั้นจะมีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายโดยมุ่งเน้นให้คนไทยสามารถบริหารจัดการหนี้ได้  ไม่ว่ารวบหนี้  สวัสดิการปล่อยกู้จากนายจ้าง และพนักงานทีทีบีทำงานเป็นที่ปรึกษาพร้อมผนึกกำลังกับพันธมิตรชั้นนำสร้างEcosystem Play มอบประสบการณ์ที่เหนือกว่าแบบครบวงจร ผ่านTTB Touchโดยแต่ละปีจะมีงบลงทุนด้านไอที และซอฟต์แวร์ประมาณ 7%ต่อรายได้รวมต่อปีของธนาคาร”นายปิติกล่าว

เปิดกลยุทธ์ธุรกิจ ทีทีบีปี 67 ยกเครื่ององค์กร-ลงทุนไอที7%ต่อปี

สำหรับกลยุทธ์ธุรกิจในปี 2567 ธนาคารเดินหน้า LEAD the CHANGE หรือเป็นผู้นำในการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่มีความหมายและเป็นประโยชน์ต่อลูกค้า โดยเร่งทรานส์ฟอร์ม (Transform) องค์กรแบบรอบด้าน มุ่ง 4 ด้านสำคัญ ประกอบด้วย

1. Digital Transformation ธนาคารได้จัดตั้งทีมดิจิทัลขึ้นเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา เพื่อเดินหน้าพัฒนาแอป ttb touch และ ttb business one ภายใต้คอนเซ็ปต์ Humanized Digital Banking เพื่อยกระดับประสบการณ์ทางการเงินที่ดียิ่งขึ้นให้กับลูกค้าทั้งรายย่อยและธุรกิจ อีกทั้งต่อยอดโซลูชัน Beyond Banking ที่ตอบโจทย์และเป็นประโยชน์กับลูกค้าได้อย่างรอบด้าน ซึ่งถือเป็นการวางกลยุทธ์สร้างขีดความสามารถด้านดิจิทัลขององค์กรเพื่อสร้าง New Business Model ใหม่ๆ

2. Revenue Model Transformation เริ่มต้นจากการนำผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ ของธนาคารขึ้นมาอยู่บนแอป ttb touch เพื่อให้ลูกค้าสามารถสมัครใช้ได้สะดวกสบายมากขึ้น และปัจจุบันธนาคารได้นำ Personalized AI Engine มาใช้เพื่อสร้างประสบการณ์พิเศษแบบเฉพาะบุคคล หรือ Segment-of-One 

พร้อมกับการผนึกกำลังพันธมิตรชั้นนำของธนาคารมุ่งเน้นเสริมสร้างให้เกิด Ecosystem Play เพื่อส่งมอบโซลูชันและบริการทางการเงินที่ตอบโจทย์ ตรงใจ ช่วยให้ลูกค้าแต่ละ Ecosystem มีชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นแบบรอบด้านในทุกช่วงเวลา 

3. Channel & Process Transformation ธนาคารต้องการยกระดับความสะดวกสบายของลูกค้าในการใช้บริการมากยิ่งขึ้น โดยให้ความสำคัญกับการส่งมอบ Digital-First Experience ซึ่งขณะนี้ 94% ของธุรกรรมที่สาขา ลูกค้าสามารถเปลี่ยนมาทำธุรกรรมได้ผ่านแอป ttb touch โดยปัจจุบันมีลูกค้าใช้บริการประมาณ 4-5ล้านราย

และที่ผ่านมาธนาคารมุ่งเน้นให้พนักงานสาขาเป็น Digital Ambassador แนะนำให้ลูกค้าทำธุรกรรมผ่านแอปฯ เพื่อความสะดวก ลดเวลาการเดินทางไปสาขา และปรับเปลี่ยนบทบาทพนักงานให้เป็นที่ปรึกษาและให้บริการในธุรกรรมที่ซับซ้อนมากขึ้น พร้อมยกระดับสาขาให้เป็น Digital Branch ที่มีเครื่องมือดิจิทัลในการอำนวยความสะดวก และให้บริการลูกค้าได้อย่างรวดเร็วและไร้รอยต่อ

4. Organizational Transformation เพื่อให้ธนาคารมีศักยภาพในการ Make REAL Change อย่างต่อเนื่อง จึงได้มีการปรับเปลี่ยนทั่วทั้งองค์กรในช่วงที่ผ่านมา โดยสร้างทีมดิจิทัลที่แข็งแกร่ง หรือ ttb spark เพื่อเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้แสดงศักยภาพทางด้านดิจิทัลอย่างเต็มที่ผ่านการพัฒนาแอป ttb touch และทีม ttb spark academy ที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เข้ามาเรียนรู้ และทดลองฝึกงานด้าน Tech & Data 

รวมถึงการพัฒนา (Up-skill) และยกระดับทักษะ (Re-skill) ให้กับบุคลากรทั้งองค์กรให้มีความเชี่ยวชาญในทักษะใหม่ๆ ที่จำเป็นต่อการทำงาน รองรับการเปลี่ยนแปลงของลูกค้าและการธนาคารในโลกอนาคต เพื่อให้ธนาคารสามารถขับเคลื่อนองค์กรได้อย่างรวดเร็ว 

ทั้งนี้ การ Transform เป็นการนำดิจิทัลมาดูแลลูกค้าทุกกลุ่มในทุกช่วงชีวิต ด้วยงบลงทุนด้านดิจิทัลปีละกว่าพันล้านบาท แต่ไม่กระทบงบกำไร-ขาดทุน ผ่านกลยุทธ์ Ecosystem Play ตอบโจทย์ 4 กลุ่มลูกค้าหลักที่ธนาคารมีความเชี่ยวชาญ โดยเน้นความร่วมมือกับพันธมิตรชั้นนำในการนำเสนอโซลูชันต่างๆ ที่มากกว่าการธนาคาร เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าอย่างครบวงจร ได้แก่ 

1. คนมีรถ ช่วยดูแลจัดการทุกเรื่องเกี่ยวกับรถ ผ่านฟีเจอร์ My Car ทั้งการจ่ายสินเชื่อ ซื้อ-ต่อประกันรถ ต่อ พ.ร.บ. / ภาษีรถ เติมเงิน-เช็กยอด Easy Pass มอบสิทธิประโยชน์ เพื่อการดูแลรถจากพันธมิตรชั้นนำ รวมถึงยังสามารถเลือกขายรถผ่านลานประมูล

สำหรับลูกค้าที่อยากซื้อรถ สามารถเช็กสุขภาพเครดิตผ่านฟีเจอร์ My Credit ที่จะเกิดขึ้นในอีก 2 เดือนข้างหน้า เพื่อประเมินวงเงินสินเชื่อและสมัครสินเชื่อได้ทันที พร้อมเลือกซื้อรถมือสองคุณภาพดีผ่าน Roddonjai.com มีรถให้เลือกร่วม 16,000 คัน จากดีลเลอร์และพันธมิตรชั้นนำกว่า 3,000 รายทั่วประเทศ ซึ่งคืบหน้าได้รับความวางใจขายรถออกไปได้แล้วกว่า12,000 คัน และปัจจุบันอยู่ระหว่างคัดกรองอีกกว่า 2หมื่นคัน

2. คนมีบ้าน ช่วยจัดการเรื่องบ้านแบบครบวงจร ตั้งแต่เรื่องจุกจิกรายเดือน ด้วยฟีเจอร์ My Home ที่รวมการจ่ายบิลเกี่ยวกับบ้านไว้ที่เดียว พร้อมทั้งบริการแจ้งเตือนล่วงหน้าไม่ให้ลืมจ่าย และยังสมัครสินเชื่อบ้าน ผ่านแอป ttb touch ได้ 

3. พนักงานเงินเดือน (Payroll)ช่วยเติมเต็ม ด้านการใช้จ่ายให้คุ้มค่ามากขึ้น นอกจากจะมีบัตร ttb all free ฟรี! กด โอน จ่าย เติม ยังให้ลูกค้าสามารถถอนเงินสดแบบไม่ใช้บัตรจากตู้เอทีเอ็มธนาคารพันธมิตรได้ฟรี ด้านบัญชีเงินฝากก็มีให้เลือกออมได้หลากหลาย ตอบโจทย์ความต้องการทุกกลุ่ม 

พร้อมช่วยให้จัดการหนี้อย่างฉลาด ด้วยโปรแกรมวัดระดับหนี้ (Financial Health Check) โซลูชันรวบหนี้ และในอนาคตจะมีโค้ชปลดหนี้ที่ช่วยให้คำปรึกษาและแก้ปัญหาหนี้ให้กับลูกค้าบัญชีเงินเดือนทีทีบี ทั้งมีความคุ้มครองที่ตอบโจทย์ได้ในทุกช่วงชีวิต โดยมีพันธมิตรชั้นนำมากกว่า 30 ราย 

นอกจากนี้ ยังมีฟีเจอร์ My Tax บนแอป ttb touch ช่วยพนักงานเงินเดือนจัดการเรื่องภาษีให้ง่ายขึ้น พร้อมฟีเจอร์ My Work ที่ช่วยพนักงานลงเวลาเข้า-ออกงาน บริหารจัดการวันลา และคำขอต่างๆ ผ่านแอป ttb touch ได้ ในขณะที่บริษัทจะสามารถบริหารจัดการเรื่องเงินเดือน รวมถึงสวัสดิการต่างๆ ของพนักงานได้ง่าย มีประสิทธิภาพ พร้อมดูรายงานได้แบบ Real-Time ผ่าน My Work 

4. ลูกค้า Wealth โดย แอป ttb touch จะเป็นผู้ช่วยต่อยอด ความคุ้มค่า-มั่นคง-มั่งคั่ง ผ่านบัตรเครดิต ttb reserve ด้วยการมอบคะแนนสะสมพิเศษรายปีให้กับลูกค้าภายใต้แนวคิด Earn Fast-Burn Smart เพื่อนำไปแลกของรางวัลตามที่ต้องการ รวมถึงสามารถแลกเป็นส่วนลดประกัน หรือกองทุนรวมที่ซื้อกับทีทีบีในรูปแบบเครดิตเงินคืนเข้าบัตรฯ เพื่อต่อยอดความมั่นคงให้ครอบครัว 

นอกจากนี้ ลูกค้าจะได้รับประสบการณ์การลงทุน ทั้ง Wellness Investment ที่ช่วยเพิ่มพูนความมั่งคั่งอย่างยั่งยืน อาทิ ผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่คุ้มครองเงินต้น (Principal Protected) และ Foreign Investment ที่เพิ่มโอกาสและศักยภาพในการลงทุนต่างประเทศ ลดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน รวมถึงบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศ (FCD) สกุลเงิน US Dollar พร้อมมีทีม Private Banking ที่ปรึกษาทางการเงินและการลงทุนส่วนบุคคลให้ลูกค้าสามารถติดต่อได้ง่ายๆ 

เปิดกลยุทธ์ธุรกิจ ทีทีบีปี 67 ยกเครื่ององค์กร-ลงทุนไอที7%ต่อปี