ขุดปัญหา NPL ภาระแบงก์ตั้งสำรอง การมาของ AMC

03 ต.ค. 2567 | 07:54 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ต.ค. 2567 | 07:59 น.

ปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทยนับเป็นปัญหาใหญ่ เป็นความเสี่ยงกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม ยอดสินเชื่อปล่อยใหม่ต่อปี 18 ล้านล้าน เป็น NPL กว่า 5.4 แสนล้าน/ปี เมื่อ NPL เกิด ฉุดมือแบงก์ตั้งสำรองหนี้สูญเพิ่ม ความสามารถบริหารจัดการอาจไม่พอ ดึง AMC ร่วมวงปรับโครงสร้างช่วยลูกหนี้

หนี้เสีย หรือ Non-Performing Loan (NPL) คือ หนี้ที่ไม่ได้รับการชำระคืนตามเงื่อนไขที่ตกลงไว้กับธนาคารหรือสถาบันการเงินได้ เช่น บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อที่พักอาศัย เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่เมื่อการชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยไม่ครบถ้วนภายในระยะเวลา 90 วัน หรือ 3 เดือนติดต่อกัน ก็จะถูกย้ายฐานะไปเป็น NPL

หนี้เสียเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ อาทิ การขาดรายได้ที่เพียงพอ การบริหารจัดการเงินไม่ดี หรือเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด เช่น การเจ็บป่วย หรือการสูญเสียงาน โรงงานถูกปิดกิจการทำให้ขาดรายได้ หรือแม้แต่ผลกระทบจากภัยพิบัติที่ไม่คาดคิดต่างๆ ไฟไหม้ น้ำท่วม ทำให้กิจการไม่สามารถเปิดดำเนินการได้ตามปกติ เป็นเหตุให้สูญเสียรายได้ หรืออาจเกิดขึ้นจากการใช้จ่ายเกินความสามารถชำระคืน

หนี้ถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภท

  • หนี้ที่มีหลักประกัน (secured loan) ซึ่งเป็นหนี้ที่เกิดจากสินเชื่อที่ผู้กู้ต้องนำหลักทรัพย์มาค้ำประกัน โดยส่วนใหญ่แล้วจะเกิดขึ้นในสินเชื่อรถ, สินเชื่อธุรกิจ SME, สินเชื่อที่อยู่อาศัย เพราะหากต้องการใช้เงินก้อนก็มักจะเลือกสินเชื่อแบบมีหลักประกัน เนื่องจากได้วงเงินที่สูงกว่าสินเชื่อแบบไม่มีหลักประกัน และวงเงินอนุมัติก็ขึ้นอยู่กับหลักประกันที่เลือกใช้ด้วย เช่น บ้าน คอนโด ที่ดิน รถยนต์ พันธบัตร ทองคำ เงินฝาก หรืออยู่ในรูปของการค้ำประกันจากบุคคลอื่น หากผู้ขอกู้ผิดสัญญา ผู้ให้บริการจะสามารถยึดหลักประกันดังกล่าวได้
  • หนี้ไม่มีหลักประกัน (Unsecured loan) เป็นหนี้ที่เกิดจากการขอสินเชื่อที่ผู้กู้ไม่ต้องนำหลักทรัพย์ใดๆ มาค้ำประกัน เพียงแค่แสดงหลักฐานทางรายได้, หลักฐานการทำงานเท่านั้น เช่น สินเชื่อบัตรเครดิต, สินเชื่อบัตรกดเงินสด และสินเชื่อเงินสด แต่มักจะคิดดอกเบี้ยแพงกว่าสินเชื่อแบบมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน

ตามมาตรฐาน TFRS9 การจัดชั้นหนี้ตาม TFRS9 จะแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ดังนี้

การจัดระดับของลูกหนี้

  • Stage 1 กลุ่มที่ไม่มีความเสี่ยงด้านเครดิตไม่เปลี่ยนแปลงจากวันแรกของการให้สินเชื่อ คือ ลูกหนี้ที่ไม่ผิดนัดชำระหนี้
  • Stage 2 กลุ่มที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นอย่างมีนัย คือ ลูกหนี้ค้างชำระดอกเบี้ยหรือเงินต้นเกินกว่า 30 วัน
  • Stage 3 กลุ่มหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (non-performing; NPL) คือ สินเชื่อที่ผิดชำระหนี้เกิน 3 เดือนติดต่อกัน

จากการจัดชั้นหนี้ตาม TFRS9 จะแบ่งระดับชั้นหนี้เป็น 3 ระดับ ซึ่งจากระดับของลูกหนี้ทั้งหมดก็จะถูกคำนวณออกมาเป็นผลขาดทุนทางด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected credit loss: ECL) ทำให้ธนาคารหรือสถาบันการเงินมีความเสี่ยงในการสูญเสียเงินทุน จำเป็นที่จะต้องตั้งสำรองสำหรับหนี้เสียเพิ่มขึ้น

และจากการที่ธนาคารหรือสถาบันการเงินต้องมีการตั้งสำรองที่เพิ่มขึ้นตามหนี้เสียที่ขยายตัว นั้นก็หมายถึงว่าจะมีผลกระทบต่อกำไรด้วยแน่นอน ทั้งนี้ ด้วยเกณฑ์กำหนดของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทำให้มีข้อจำกัดการแบกนับภาระหนี้เสียของธนาคารทำได้ไม่เกินกว่า 3% ส่วนไหนที่รับไม่ไหวก็ตัดจำหน่ายออกไป

ย้อนกลับมาหลังจากที่ลูกหนี้เข้าเกณฑ์ NPL แล้วตามเกณฑ์ ธปท. ธนาคารหรือสถาบันการเงินจำเป็นที่จะต้องเก็บหนี้ไว้ก่อนอย่างน้อย 90 วัน ถึงจะสามารถตัดจำหน่ายออกได้ ซึ่งในระหว่างนั้นก็อาจมีการติดตามทวงถาม หรืออาจมีการส่งเรื่องฟ้องศาลตามลำดับ ในการตัดจำหน่าย NPL ก็จะมีการส่งหนังสือแจ้งกำหนดขอบเขตและรายละเอียด (TOR) ในการประมูลหนี้ด้อยมูลค่า (หนี้เสีย)

ซึ่งผู้ที่จะเข้ามารับไม้ต่อในการบริหารจัดการกับหนี้ที่เป็นปัญหาเหล่านี้ คือ บริษัทบริหารสินทรัพย์ (Asset Management Comp any : AMC) โดยที่ธนาคารหรือสถาบันการเงินบางแห่งมีการจัดตั้ง AMC ในองค์กรเพื่อบริหารจัดการหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้อย่าง NPL เองบ้างในบางส่วนที่ยังพอสามารถทำได้ หรืออาจมีการจัดตั้งร่วมลงทุนในกิจการร่วมทุน (Joint Venture) กับผู้ประกอบการ AMC

นายสุขสันต์ ยศะสินธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ชโย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CHAYO ได้ให้ข้อมูลกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า จากการเปรียบเทียบสถิติยอดรวมการปล่อยสินเชื่อใหม่ของประเทศไทยอยู่ที่เฉลี่ยราว 18 ล้านล้านบาท/ปี โดยคิดเป็นสัดส่วนหนี้ด้อยคุณภาพหรือหนี้เสียจะอยู่ที่ประมาณ 5.4 แสนล้านบาท/ปี

นายสุขสันต์ ยศะสินธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ชโย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CHAYO

แม้ว่าจะมี AMC เข้ามาช่วยปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ได้ แต่ NPL ของรอบปีใหม่ก็จะมีเข้ามาเพิ่มทุกๆ ปี ซึ่ง AMC ในประเทศไทยแม้ว่าจะมีจำนวนมาก แต่ด้วยความสามารถในด้านเงินทุนจะพบว่ามีไม่เกิน 7-12 แห่ง ที่ทำได้ รวมมูลค่าหนี้ที่ช่วยกันมาบริหารจัดการได้จริงก็ทำได้เพียงเฉลี่ย 1-1.5 แสนล้านบาท/ปี จะเห็นได้ว่าก็ยังไม่ครอบคลุมหนี้เสียใหม่ที่เกิดขึ้นในแต่ละปี

แล้วทำอย่างไรหนี้เสียถึงจะลด

ก็ต้องบอกเลยว่าสาเหตุสำคัญที่ทำห้เกิดหนี้เสียก็คือเศรษฐกิจ หนี้เสียจะปรับตัวดีขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเศรษฐกิจไทยดีขึ้น ทั้งในเรื่องของความสามารถในการจ้างงาน การส่งออก การท่องเที่ยว ทำให้อัตราการใช้งานรถทำได้อย่างเต็มที่ เศรษฐกิจมีเงินในระบบที่หมุนเวียนดีขึ้น ทำให้ประชาชนมีรายได้ที่เพิ่ม ก็จะมีความสามารถในการในการชำระหนี้ และไม่ก่อให้เกิดหนี้เสีย

ต้องยอมรับว่าปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทยในขณะนี้นับเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ เพราะเป็นความเสี่ยงที่มีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม โดยหนี้ครัวเรือนของไทยที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องและมียอดคงค้างระดับสูงที่ 16 ล้านล้านบาทมานับตั้งแต่ไตรมาส 1/2566

ล่าสุด มียอดคงค้างทั้งสิ้น 16.370 ล้านล้านบาท คิดเป็น 90.8% ของ GDP และคุณภาพหนี้ครัวเรือนปรับลดลงต่อเนื่อง โดยหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ "หนี้เสีย" ในไตรมาส 2/2567 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.84% หรือ 5.40 แสนล้านบาท จาก 2.80% ของสินเชื่อรวมในไตรมาส 1/2567