ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ 8พ.ย. “แข็งค่าขึ้นมาก” ที่ระดับ 34.02 บาทต่อดอลลาร์

08 พ.ย. 2567 | 01:08 น.
อัปเดตล่าสุด :08 พ.ย. 2567 | 03:15 น.

ค่าเงินบาทอาจแกว่งตัว Sideways ในกรอบ 33.90-34.25 บาทต่อดอลลาร์จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ อาจเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าบ้าง หากนักลงทุนต่างชาติยังคงเดินหน้าขายสินทรัพย์ไทย

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ 8พ.ย.2567 ที่ระดับ  34.02 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นมาก”จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  34.28 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน  พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทยเปิดเผยว่าแนวโน้มของค่าเงินบาท การพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นของเงินบาทในช่วงคืนที่ผ่านมานั้น อาจทำให้โมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทชะลอลงบ้าง

แต่เราจะยังคงมั่นใจต่อมุมมองเดิมว่า เงินบาทยังมีแนวโน้มทยอยอ่อนค่าลงได้ ตราบใดที่เงินบาทไม่ได้กลับมาแข็งค่าขึ้นจนทะลุโซนแนวรับ 33.65 บาทต่อดอลลาร์ ได้อย่างชัดเจน (ตามกลยุทธ์ Trend-Following)

ทั้งนี้ ในระยะสั้น เงินบาทก็อาจแกว่งตัว Sideways ในกรอบ 33.90-34.25 บาทต่อดอลลาร์ ไปก่อนได้ จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม โดยเรามองว่า เงินบาทอาจเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าได้บ้าง หากนักลงทุนต่างชาติยังคงเดินหน้าขายสินทรัพย์ไทย

ทว่า การอ่อนค่าของเงินบาทดังกล่าวก็อาจถูกชะลอลงบ้าง ตราบใดที่ราคาทองคำยังสามารถปรับตัวขึ้นต่อได้ ซึ่งอาจจะขึ้นกับทิศทางของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ รวมถึงสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางเช่นกัน

อนึ่ง ในช่วงหลังจากตลาดรับรู้ทั้งผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ และผลการประชุม FOMC ของเฟดล่าสุด เรามองว่า ควรจับตาสถานการณ์การเมืองในประเทศไทยเช่นกัน เพราะความวุ่นวายของสถานการณ์การเมืองไทย อาจเป็นปัจจัยที่กดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้

ในกรณีที่บรรดานักลงทุนต่างชาติเดินหน้าขายสินทรัพย์ไทย หรืออย่างน้อยก็ไม่ได้ช่วยหนุนการแข็งค่าของเงินบาท เพราะนักลงทุนต่างชาติยังไม่กลับเข้ามาซื้อสินทรัพย์ไทย จนกว่าจะมั่นใจในสถานการณ์

ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงในตลาด ลักษณะ Two-Way Volatility ไม่ว่าจะเป็นความไม่แน่นอนของสถานการณ์ในตะวันออกกลาง รวมถึงการปรับมุมมองต่อแนวโน้มนโยบายการเงินของบรรดาธนาคารกลางไปมา ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.95-34.20 บาท/ดอลลาร์

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง (กรอบการเคลื่อนไหว 33.92-34.31 บาทต่อดอลลาร์)

หนุนโดยการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ ที่เผชิญแรงกดดันจากการแข็งค่าขึ้นของบรรดาสกุลเงินหลัก โดยเฉพาะเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) หลัง ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ปรับลดดอกเบี้ยลง -25bps สู่ระดับ 4.75% ตามที่เราประเมินไว้

ทว่า BOE กลับไม่ได้ส่งสัญญาณพร้อมเดินหน้าลดดอกเบี้ยลงต่อเนื่อง ทำให้ผู้เล่นในตลาดเชื่อว่า BOE มีโอกาสน้อยราว 22% ที่จะเดินหน้าลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมในการประชุมเดือนธันวาคม

นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังเผชิญแรงกดดันจากการทยอยขายทำกำไรธีม Trump Trades ซึ่งก็มีส่วนกดดันให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลดลงเช่นกัน และการปรับตัวลดลงของ

ทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็มีส่วนหนุนให้ ราคาทองคำ (XAUUSD) รีบาวด์ขึ้นต่อเนื่อง สู่โซน 2,700 ดอลลาร์ต่อออนซ์

ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยขายทำกำไรการรีบาวด์ขึ้นราว +50 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ของราคาทองคำ โดยโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ดี การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทก็ถูกชะลอลงแถวโซนแนวรับ 33.90-34.00 บาทต่อดอลลาร์ ตามการรีบาวด์ขึ้นบ้างของเงินดอลลาร์ หลัง ที่ประชุม FOMC ของเฟด ได้ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง -25bps สู่ระดับ 4.50%-4.75% ตามที่เราคาด

ทว่าเฟด รวมถึงประธานเฟดก็ไม่ได้ส่งสัญญาณที่ชัดเจนต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยลงต่อเนื่อง อีกทั้งเฟดก็ไม่ได้แสดงความมั่นใจว่าอัตราเงินเฟ้อจะกลับเข้าสู่เป้าหมาย 2% อย่างยั่งยืน

พร้อมกับแสดงความกังวลต่อแนวโน้มตลาดแรงงานเหมือนในการประชุมรอบก่อน ซึ่งอาจเป็นเพราะผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ ทำให้เฟดและประธานเฟดมีท่าทีดังกล่าวได้ ส่งผลให้บรรดาผู้เล่นในตลาดคงเชื่อว่า

เฟดอาจทยอยลดดอกเบี้ยได้น้อยกว่าที่เฟดได้ระบุไว้ใน Dot Plot เดือนกันยายน (ผู้เล่นในตลาดมองว่า เฟดมีโอกาสราว 76% ที่จะลดดอกเบี้ย 3 ครั้งในปี 2025 น้อยกว่าที่เฟดมองว่าจะลดดอกเบี้ย 4 ครั้ง)

บรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ อาทิ Meta +3.4%, Nvidia +2.3% ที่ได้อานิสงส์จากการทยอยปรับตัวลดลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ

และการเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงของผู้เล่นในตลาดจากความหวังอานิสงส์เชิงบวกจากนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ ทว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ ก็ถูกกดดันบ้าง จากแรงขายทำกำไรหุ้นธีม Trump Trades เช่น กลุ่มการเงิน (JPM -4.3%) ทำให้โดยรวม ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq พุ่งขึ้น +1.51% ส่วนดัชนี S&P500 ปรับตัวขึ้น +0.74%

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 รีบาวด์ขึ้น +0.62% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นกลุ่มเทคฯ อาทิ SAP +3.6%, ASML +2.3%

ขณะเดียวกัน ความหวังต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนจากแนวโน้มการประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ก็ช่วยหนุนให้หุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนมและกลุ่มเหมืองแร่ ต่างปรับตัวขึ้น

อาทิ Hermes +3.1%, Rio Tinto +3.1% แต่ตลาดหุ้นยุโรปก็ถูกกดดันบ้าง จากแรงขายบรรดาหุ้นอังกฤษ หลัง BOE ไม่ได้ส่งสัญญาณพร้อมเดินหน้าลดดอกเบี้ยต่อเนื่อง

ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ พลิกกลับมาปรับตัวลดลง สู่โซน 4.35% ตามแรงซื้อของผู้เล่นในตลาดที่ต่างรอจังหวะให้บอนด์ยีลด์ระยะยาว ปรับตัวขึ้น รับรู้ผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ

โดยเฉพาะในกรณี Republican Sweep หรือ กรณีที่โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้ง อย่างไรก็ดี การปรับตัวลดลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็ชะลอลงบ้าง หลัง เฟดไม่ได้ส่งสัญญาณชัดเจนว่าพร้อมเดินหน้าลดดอกเบี้ยลงต่อเนื่อง

ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างเตรียมประเมินทิศทางนโยบายการเงินของเฟด โดยเริ่มเห็นบรรดานักวิเคราะห์ต่างชาติ ปรับลดคาดการณ์แนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟด อาทิ เฟดอาจลดดอกเบี้ยเพียง 1-2 ครั้งในปีหน้า ขณะที่ Dot Plot เดือนกันยายนของเฟด ระบุว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยเพิ่มเติม 4 ครั้ง ในปีหน้า

ทั้งนี้ เราคงมุมมองเดิมว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้ปรับตัวขึ้น สู่ระดับที่มีความน่าสนใจ และมี Risk-Reward ที่คุ้มค่า ทำให้เราคงแนะนำให้ผู้เล่นในตลาดต่างรอจังหวะบอนด์ยีลด์ ปรับตัวสูงขึ้น เพื่อทยอยเข้าซื้อ (เน้นกลยุทธ์ Buy on Dip)

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาอ่อนค่าลงต่อเนื่อง ตามแรงขายทำกำไรธีม Trump Trades อีกทั้งเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) ก็กลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ตามท่าทีของ BOE ที่ไม่ได้ส่งสัญญาณพร้อมเดินหน้าลดดอกเบี้ยต่อเนื่อง

ทั้งนี้ เงินดอลลาร์ยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง หลังเฟดก็ไม่ได้ส่งสัญญาณพร้อมเดินหน้าลดดอกเบี้ยลงต่อเนื่องที่ชัดเจน เช่นกัน ส่งผลให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวลงสู่โซน 104.4 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 104.2-104.9 จุด) 

ในส่วนของราคาทองคำ จังหวะการปรับตัวลดลงของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้ช่วยหนุนให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) สามารถรีบาวด์ขึ้นสู่โซน 2,710-2,720 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้ เปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดทยอยขายทำกำไรการรีบาวด์ของราคาทองคำ และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนหนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินบาท

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางหลัก ทั้ง เฟด, ธนาคารกลางยุโรป (ECB) และ ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) เพื่อประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของบรรดาธนาคารกลางหลัก โดยเฉพาะหลังรับรู้ผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ

ส่วนในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน (U of Michigan Consumer Sentiment) เดือนพฤศจิกายน ซึ่งอาจมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 71 จุด ดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า

พร้อมกันนั้นผู้เล่นในตลาดจะรอติดตาม คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อระยะสั้น และระยะยาว ที่อาจส่งผลกระทบต่อมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดได้ 

นอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน ซึ่งจะกลับมาเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินได้ 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่าเงินบาทปรับตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 33.99-34.01 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงเช้าวันนี้ (10.10 น.) เทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 34.30 บาทต่อดอลลาร์ฯ

โดยเงินบาทขยับแข็งค่าขึ้นสอดคล้องกับทิศทางของสกุลเงินอื่นๆในเอเชีย ขณะที่ เงินดอลลาร์ฯ อ่อนค่าลงท่ามกลางแรงขายทำกำไร หลังปรับตัวขึ้นมาค่อนข้างมากทั้งในช่วงก่อนและหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ประกอบกับเงินดอลลาร์ฯ น่าจะมีปัจจัยลบเพิ่มเติมจากการปรับตัวลงของบอนด์ยีลด์สหรัฐ หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% มาอยู่ที่กรอบ 4.50-4.75% เมื่อคืนที่ผ่านมา

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ ประเมินเบื้องต้นไว้ที่ 33.95-34.20 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ การตอบรับของตลาดต่อผลการประชุมเฟดและสัญญาณเกี่ยวกับแนวโน้มดอกเบี้ยสหรัฐฯ ทิศทางเงินทุนต่างชาติและสกุลเงินเอเชียอื่นๆ  และตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯ ขั้นต้นเดือนพ.ย.