Liberator ชี้ SET วันนี้แกว่งขึ้น หลังเฟดลดดอกเบี้ยตามคาด

08 พ.ย. 2567 | 02:50 น.
อัปเดตล่าสุด :08 พ.ย. 2567 | 02:51 น.

บล.ลิเบอเรเตอร์ มองตลาดหุ้นไทยวันนี้ 8 ต.ค.67 แกว่งขาขึ้น กรอบ 1,460-1,480 จุด หลังเฟดลดดอกเบี้ยตามคาด กลยุทธ์ยังคงมองเป็นจังหวะทยอยสะสมหุ้นพื้นฐานดี แนวโน้มกำไรเด่น

นายวิจิตร อารยะพิศิษฐ นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐาน บริษัทหลักทรัพย์ ลิเบอเรเตอร์ จำกัด (Liberator) ประเมินภาพรวมตลาดหุ้นไทยวันนี้ 8 ต.ค.67 คาด SET Index วันนี้ “แกว่งขึ้น” ในกรอบ 1,460-1,480 จุด หลังจากที่การประชุมธนาคารกลางของสหรัฐฯ (FED) วานนี้มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโนบายสหรัฐฯ 0.25% ลงสู่กรอบ 4.50-4.75% ตามคาด

โดยนายเจอโรม โพลเวล ประธาน FED มองภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ อยู่ในทิศทางที่แข็งแกร่ง แม้อัตราการว่างงานสหรัฐฯจะยังมีแนวโน้มปรับขึ้นอีกเล็กน้อย แต่โดยรวมก็ยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่อัตราเงินเฟ้ออาจสูงขึ้นเล็กน้อยแต่ยังมีความคืบหน้าไปสู่เป้าหมายของ FED ที่ 2% ได้

ส่วนด้านแนวโน้มดอกเบี้ยในช่วงถัดไป แม้ไม่ได้มีการส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยต่อ แต่จากถ้อยแถลงทั้งหมด อาจยังตีความได้ว่าทิศทางดอกเบี้ยสหรัฐฯยังมีโอกาสลดลงต่อเนื่องในช่วงถัดไป สอดคล้องกับ เครื่องมือ FED Watch Tool ที่บ่งชี้ว่าตลาดคาดปรับลดดอกเบี้ยในเดือน ธ.ค. นี้ อีก 0.25% ด้วยโอกาสราว 73%

ส่วนแนวโน้มในปีหน้า ตลาดให้โอกาสการปรับลดดอกเบี้ย 0.25% อีกราว 2 ครั้ง ซึ่งถือว่าน้อยกว่า มุมมองของคณะกรรมการ FED ในการรายงาน Dot Plot เดือน ก.ย. ที่ให้โอกาสการปรับลดดอกเบี้ยปีหน้าอีก 4 ครั้ง ทำให้วานนี้ Dollar Index และ US Bond Yield ย่อตัว

สำหรับตลาดหุ้นไทย ยังมีโอกาสแกว่งขึ้น รอดูการรายงานผลประกอบการในช่วงโค้งสุดท้าย ผสานกับติดตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ดังนั้นยังคงใช้กลยุทธ์ ย่อตั้งรับ โดยเน้นหุ้นที่พื้นฐานดี แนวโน้มกำไรในช่วงถัดไปขยายตัว และอิงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ  

ปัจจัยที่ต้องจับตา

08 พ.ย.      ดัชนีความเชื่อมั่นสหรัฐฯ จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน

หุ้นเด่นแนะนำ

  • STA ราคาเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ 26.00 บาท คาดกำไรไตรมาส 3/67 เติบโตเด่นทั้งจากไตรมาสก่อน จากเทียบช่วงเดียวกันในปีก่อน แรงหนุนจากราคายางที่ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงไตรมาส 3/67 และเช้านี้ราคายางตลาด SICOM ยังปรับขึ้น 2.3% สู่ 203.3 เซนต์ต่อ กก. ผสานกับคำสั่งซื้อเพิ่มเติมจากมาตรฐาน EUDR ขณะที่ในช่วงถัดไปแนะติดตามรัฐสภายุโรปที่คาดจะมีการพิจารณาประเด็น EUDR ในเดือนนี้ ถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อแนวโน้มผลประกอบการในปีหน้า
  • WHA ยังมีมุมมองเชิงบวกจากการลงทุนในไทยปี 67 ที่มีทิศทางที่ดีขึ้น สอดคล้องกับมูลค่า FDI ปี 66 ที่เติบโตกว่า 73% จากเทียบช่วงเดียวกันในปีก่อนโดยนักลงทุนจีนเข้ามาสูงสุด จากอุตสาหกรรม EV บริษัทตั้งเป้าปีนี้ธุรกิจโลจิสติกเพิ่มอีก 2 แสน ตร.ม. ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม จะขยายเพิ่มอีก 2,070 ไร่ รวมทั้งจะมีการขยายสินทรัพย์เข้ากองทรัสต์รวม 2.13 แสน ตร.ม.
  • SGC ราคาเป้าหมาย 1.96 บาท คาดกำไรครึ่งหลังปี 67 จะเร่งตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากการเติบโตของโครงการ SG Finance+ ซึ่งเป็นการปล่อยสินเชื่อมือถือที่สามารถล็อกได้หากผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งจะทำให้ NPL Ratio อยู่ในระดับต่ำ ผสานกับการปลดล็อกการเพิ่มทุน จะหนุนให้ SGC ผ่อนคลายดอกเบี้ยจ่าย และมีเม็ดเงินเพิ่มเติมในการปล่อยสินเชื่อ หนุนปี 68 กำไรจะเติบโตแบบก้าวกระโดด 
  • BH คาดกำไรไตรมาส 3/67 ยังคงเติบโตโดดเด่น จากการเข้าสู่ช่วง High Season โดยคาดผู้ป่วยจากตะวันออกกลางยังปรับตัวขึ้นดี ขณะที่ประเด็นของคูเวต คาด BH มีโอกาสถูกเลือกเป็น 1 ใน 3 โรงพยาบาลในไทยที่รัฐบาลคูเวตสนับสนุน ส่วนภาพระยะกลาง คาดได้แรงหนุนเพิ่มเติมจากการเปิดโรงพยาบาลแห่งใหม่ในภูเก็ตในช่วงปี 69
  • AOT คาดกำไรในช่วง ก.ค.-ก.ย. 67 จะขยายตัวได้จากเทียบช่วงเดียวกันในปีก่อน ตามรายได้จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่ปรับตัวสูงขึ้น แต่ในฝั่งรายได้ที่ไม่เกี่ยวกับการบินอาจลดลงเล็กน้อย จากการยกเลิกร้าน Duty Free ขาเข้าตั้งแต่ ส.ค. 67 ในระยะสั้นคาดมีปัจจัยบวกจาก Golden week หนุนนักท่องเที่ยวจีนสูงขึ้น และการเดินหน้าต่อในช่วงปลายปีคาดนักท่องเที่ยวจะเร่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จากการเข้าสู่ช่วงฤดูกาล ขณะที่ Upside อาจมาจากมาตรการกระตุ้นจากภาครัฐฯ
  • CPALL คาดแนวโน้มไตรมาส 3/67 เติบโตจากเทียบช่วงเดียวกันในปีก่อน แต่ลดลงจากไตรมาสก่อน ตามฤดูกาล โดย SSSG ของ CPALL ในช่วงไตรมาส 3/67 คาดยังคงเติบโต 2.5% แข็งแกร่งกว่ากลุ่มค้าปลีก โดยได้แรงหนุนจากการบริโภคที่ขยายตัว ผสานกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐฯ ที่เป็นแรงขับเคลื่อนเพิ่มเติม ซึ่งจะส่งต่อไปยังแนวโน้มไตรมาส 4/67 ที่จะกลับมาเร่งขึ้นทั้งจากไตรมาสก่อน และจากเทียบช่วงเดียวกันในปีก่อน 
  • ITC คาดกำไรไตรมาส 3/67 ที่ 1,019 ล้านบาท เพิ่มเติม 58% จากเทียบช่วงเดียวกันในปีก่อน และ โต 1% จากไตรมาสก่อน ยังขยายตัวจากราคาวัตถุดิบที่ลดลง แม้ว่าค่าเงินบาทในช่วง ไตรมาส 3/67 จะอ่อนแอกว่าคาดก็ตาม (แต่มีการล็อกค่าเงินบาทไว้แล้ว) สำหรับภาพรวมการดำเนินงานยังขยายตัวได้ต่อเนื่องตามการขยายตลาดใหม่ๆ และการส่งออกที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งยังคงรักษาอัตรากำไรขั้นต้นไว้ได้