ธปท.แนะ รัฐบาลใหม่ สร้างกลไก ค้ำประกัน SMEs

25 ก.ค. 2566 | 08:50 น.
อัพเดตล่าสุด :25 ก.ค. 2566 | 11:54 น.

ผู้ว่าการธปท. ฝากรัฐบาลใหม่ แก้ปัญหาสินเชื่อ SMEs หลังหดตัวต่อเนื่อง เหตุความเสี่ยงสูง แนะสร้างระบบค้ำประกันโดยรัฐ ยันจัดตั้งรัฐบาลล่าช้า ไม่กระทบต่อเศรษฐกิจไทยปีนี้ มั่นใจโตได้ตามศักยภาพ 3-4% ห่วงผลกระทบปีหน้า จากงบลงทุนล่าช้า

ในงาน “Meet the Press” เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคมที่ผ่านมา นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวยืนยันว่า แม้จะความไม่แน่นอนเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลว่า ใครจะมา จะมาเมื่อไร แต่ภาพรวมเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะในปีนี้ยังโตได้ตามศักยภาพที่ 3-4% เพราะงบประมาณได้ตั้งไว้แล้ว และตัวแปรต่างๆ ทั้งการฟื้นตัว การท่องเที่ยวก็จะน่ามา ยกเว้นว่า มีใครไปทำให้ความไม่แน่นอนกลายเป็นความไม่สงบและกระทบท่องเที่ยว แต่หากช้าผลจะเห็นในปีหน้าแทน

นายเศรษฐพุฒิกล่าวว่า มองไปข้างหน้า การขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยควรมาจากการลงทุนภาคเอกชนมากขึ้น เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของเศรษฐกิจในระยะยาว ซึ่งที่ผ่านมา การลงทุนของไทยยังอยู่ในระดับต่ำ และล่าสุดแทบไม่ต่างจากระดับก่อนวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 40

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

 

ทั้งนี้ ธปท.เห็นว่า ปัญหาการเข้าถึงสินเชื่อของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะ SMEs ส่วนหนึ่งเพราะการขาดหลักประกันในการกู้ยืม มีส่วนทำให้การลงทุนภาคเอกชนโตไม่สูงนัก แนวทางหนึ่งในการแก้ไข จึงควรเร่งสร้างกลไกค้ำประกันความเสี่ยงการกู้ยืมโดยภาครัฐ (credit guarantee mechanism) ที่ยืดหยุ่นและมีประสิทธิภาพ เพื่อช่วยให้สถาบันการเงินรับความเสี่ยงและกล้าที่จะปล่อยกู้สินเชื่อให้ SMEs ได้มากขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อภาพรวมของเศรษฐกิจการเงินต่อไป

“การจัดตั้งรัฐบาลนั้น ผลจริงๆ เป็นเรื่องความเชื่อมั่นโดยรวมมากกว่า  ส่วนเรื่องงบประมาณเป็นประเด็นรอง ซึ่งความไม่แน่นอนทางการเมืองและนโยบายที่จะออกมาจะเป็นอย่างไร สิ่งที่ตลาดอยากเห็นคือ การกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ทั้งฝั่งนโยบายการเงินและนโยบายการคลัง โดยนโยบายของรัฐบาลนั้น มีผลต่อความเชื่อมั่น” นายเศรษฐพุฒิกล่าว

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

ดังนั้น โจทย์ตอนนี้จึงเป็นเรื่องของการกลับสู่ปกติมากกว่าเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ดูเหมือนไม่จำเป็นนัก เพราะขณะนี้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ตามศักยภาพที่ 3-4% เพราะไทยมีปัจจัยสังคมสูงวัย

การบริโภคเติบโตดี ไม่จำเป็นต้องกระตุ้น การท่องเที่ยวกลับมาก็เพิ่มรายได้กับประเทศ แต่สิ่งที่เศรษฐกิจไทยยังขาดคือ การลงทุน สิ่งที่ควรทำคือ การสนับสนุนการลงทุนทั้งภาคเอกชน และต่างชาติ เพราะการลงทุนจะช่วยสร้างประสิทธิภาพ 

ตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจไทย

สำหรับการกลับเข้าสู่ภาวะปกติของนโยบายการเงินของไทยต้องดูความสมดุล 3 ปัจจัย คือ เศรษฐกิจเติบโตตามศักยภาพ 3-4% เงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมาย 1-3% และไม่สร้างปัญหาด้านเสถียรภาพทางการเงินหรือ ไม่เกิดพฤติกรรม Search for Yield จากอัตราดอกเบี้ยของไทยอยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานาน โดยเฉพาะอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง

ดังนั้นการพิจารณากลับสู่สภาวะปกติของไทย จึงเป็นโจทย์ของธปท.ที่ไม่เหมือนกับต่างประเทศ โดยสามารถดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไปในลักษณะ ถอนคันเร่งไปสู่ภาวะปกติ โดยต้องพิจารณาปัจจัยในเชิงระยะยาว อย่างไรก็ตามปัจจุบันยังมีความไม่แน่นอนสูง ดังนั้นการสร้างกันชน (Buffer) รวมถึงการมีขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (Policy Space) เป็นสิ่งที่สำคัญ

นอกจากนั้น หนึ่งอย่างที่อยากจะเห็นสำหรับรัฐบาลใหม่ที่กำลังจะเข้ามาคือ การแก้ปัญหาการปล่อยสินเชื่อ SMEs โดยที่ผ่านมาหดตัว ซึ่งไม่ใช่เรื่องต้นทุน แต่เป็นเรื่องความเสี่ยงของ SMEs วิธีแก้ คือ การค้ำประกันสินเชื่อเอสเอ็มอีที่มีความยืดหยุ่นกว่าบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เพราะที่ผ่านมา การปล่อยสินเชื่อ SMEs หดตัวต่อเนื่อง ยกเว้นในช่วงโควิด-19 ที่สินเชื่อกลับมาเป็นบวก เพราะมีพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ซอฟต์โลนและสินเชื่อฟื้นฟู

“ภาพรวมเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง ครึ่งปีหลังน่าจะดีกว่าครึ่งปีแรก โดยคาดว่าจะขยายตัวได้ 4.2% จากครึ่งปีแรกที่ 2.9% โดยมาจากการบริโภคเอกชนในครึ่งปีแรกที่เติบโตประมาณ 5% ตามรายได้ที่ฟื้นตัวดีและการท่องเที่ยว ที่ดีกว่าคาด แม้นักท่องเที่ยวจีนจะเข้ามาน้อย แต่มีประเทศอื่นทดแทนทำให้ทั้งปีจำนวนนักท่องเที่ยว 29 ล้านคนตามคาดการณ์ไว้"

ส่วนอัตราเงินเฟ้อ ธปท.ประเมินแนวโน้มจะปรับลดลง แต่ปรากฎว่า ตัวเลขที่ออกมา เงินเฟ้อปรับลดลงมากกว่าที่ธปท.คาดการณ์ จากราคาอาหาร ราคาพลังงานของโลก โดยเฉพาะสองเดือนที่ผ่านมาเงินเฟ้อ 0.5% และ 0.2% แต่อาจะเป็นปัจจัยชั่วคราว ส่วนหนึ่งเพราะมาจากผลของฐานที่สูงปีก่อนและปีนี้มาตรการลดค่าไฟดึงลงมา แต่มีโอกาสที่เงินเฟ้อจะสูงขึ้นจากแรงกดดันการท่องเที่ยวที่กลับมา และการส่งผ่านต้นทุนของภาคธุรกิจ ซึ่งยังไม่รวมรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาด้วย

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,907 วันที่ 23 - 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2566