สบน.ย้ำไม่ออกพันธบัตรรัฐบาลล้นตลาด เร่งฟิกซ์ดอกเบี้ย รับยีลด์ขาขึ้น

22 ก.ย. 2566 | 03:12 น.
อัพเดตล่าสุด :22 ก.ย. 2566 | 03:12 น.

สบน.ย้ำไม่ได้ออกพันธบัตรรัฐบาลมากเกินจนล้นตลาด ชี้ทำเพื่อสอดคล้องการขาดดุล และหนี้เก่าที่ครบกำหนด เชื่อเหมาะสม ตลาดรองรับได้ พร้อมลุยฟิกซ์ดอกเบี้ย รับมือยีลด์ขาขึ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย อายุ 10 ปี กำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด 21 ก.ย. 66 พุ่งแตะระดับ 3.19% สูงสุดของปี โดยตลาดนักลงทุนแสดงความกังวล หลังกระทรวงการคลัง เผยแผนออกพันธบัตรรัฐบาลรวม 1.25 ล้านล้านบาท ในปีงบประมาณ 2567 เพิ่มขึ้นจาก 1.078 ล้านล้านบาท ในปีงบประมาณ 66 ในงาน มาร์เก็ต ไดอะล็อก 

นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า ในปีงบ 67 สบน. วางกรอบการออกพันธบัตรรัฐบาลเพิ่มขึ้นจากปีก่อนประมาณ 160,000 ล้านบาท เพื่อให้วงเงินการออกพันธบัตรสอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของการขาดดุลงบประมาณ และการเติบโตของมูลค่าหนี้ที่ครบกำหนด ซึ่งเป็นการดำเนินการตามปกติในแต่ละปี เพื่อสนับสนุนการเติบโตของตลาดตราสารหนี้ 

ทั้งนี้ ยืนยันว่าการออกพันธบัตรรัฐบาลไม่ได้ออกมากจนเกินไป จนทำให้เกิดภาวะล้นตลาด โดย สบน. มีการพิจารณาแล้ว เชื่อมั่นว่ามีความเหมาะสมและตลาดสามารถรองรับได้เพียงพอ  

ส่วนผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีที่มีการปรับตัวสูงนั้น เกิดจากหลายปัจจัย เช่น การปรับขึ้นของดอกเบี้ยนโยบายในต่างประเทศ การปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยในตลาดเงิน รวมถึงนักลงทุนมีทางเลือกในการลงทุนอื่นเพิ่มและไม่ได้เกิดจากการออกพันธบัตรรัฐบาลเพียงอย่างเดียว นอกจากนี้ ที่ผ่านมาผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะ 10 ปี ในช่วงปี 65 ก็เคยมีผลตอบแทนสูงกว่าในปัจจุบันมาแล้ว

อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นของผลตอบแทนพันธบัตร อาจทำให้คลังมีต้นทุนการระดมทุนสูงขึ้นบ้าง ซึ่งเป็นไปตามทิศทางดอกเบี้ยทั่วโลกที่ขณะนี้อยู่ในช่วงขาขึ้น แต่ สบน.ได้พยายามวางแผนปรับโครงสร้างการก่อหนี้ ให้เป็นอัตราผลตอบแทนแบบคงที่ แทนดอกเบี้ยลอยตัว เช่น ในปีนี้จากแผนที่ต้องกู้ทั้งหมด สบน.จะมีการออกเป็นพันธบัตรรัฐบาลเกินกว่าครึ่ง ซึ่งจะช่วยบริหารต้นทุนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และลดภาระของรัฐบาลได้

นอกจากนี้ ด้วยการที่ภาคการคลังของไทย ที่ยังแข็งแกร่ง  และมีทุนสำรองระหว่างประเทศระดับสูง โดยเมื่อเดือนก.ค.66  บริษัท ฟิทช์  เรทติ้งส์  เพิ่งได้ประกาศคงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย ที่ บีบีบีบวก และคงมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทยอยู่ในระดับมีเสถียรภาพ แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่น และจะช่วยเพิ่มความมั่นใจต่อนักลงทุน สนใจลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลอยู่