แจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท ไปต่อหรือพอแค่นี้

31 ธ.ค. 2566 | 07:28 น.
อัปเดตล่าสุด :31 ธ.ค. 2566 | 07:28 น.

โครงการ “แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท” เป็นหนึ่งในนโยบายที่จะต้องจับตาในปี 2567 ของรัฐบาล “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่หมายมั่นปั้นมือว่าจะเป็นตัวผลักดันจีดีพีปี 67ว่า จะได้ไปต่อหรือพอแค่นี้

หลังจากที่พรรคเพื่อไทยตัดสินใจผ่าทางตันด้วยการออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กู้เงิน 5 แสนล้านบาทตามมาตรา 53 ภายใต้พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561  ซึ่งปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา และยังไม่มีคำตอบออกมาว่า รัฐบาลจะสามารถออกพ.ร.บ. กู้เงิน 5 แสนล้านบาทได้หรือไม่

เนื่องจากสาระสำคัญของกฎหมาย ระบุไว้ว่า มาตรา 53 การกู้เงินของรัฐบาล นอกเหนือจากที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ ให้กระทรวงการคลังกระทำได้ ก็แต่โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายที่ตราขึ้นเป็นการเฉพาะ และเฉพาะกรณีที่มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการโดยเร่งด่วนและอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติของประเทศ โดยไม่อาจตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ทัน

จึงเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันอย่างมากว่า ขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในภาวะวิกฤตหรือไม่ หลังสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานตัวเลขเศรษฐกิจพบว่า แม้เศรษฐกิจไทยไตรมาส 3/2566 จะขยายตัวชะลอลงที่ 1.5% จากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัว 1.8%  สาเหตุหลักๆ มาจากการใช้จ่ายภาครัฐที่หดตัว ทั้งการอุปโภคและการลงทุนภาครัฐ อีกทั้งการส่งออกสินค้าที่ยังคงหดตัว

ขณะที่การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวเร่งขึ้นจากไตรมาสก่อน โดยเฉพาะบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวถึง 8.1% รวมถึงการส่งออกบริการที่ขยายตัวตามการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยว

ทำให้การเดินหน้าโครงการแจกเงินดิจิทัลไม่ใช่เรื่องง่าย และมีความท้าทายกับรัฐบาล “เศรษฐา” เป็นอย่างมากว่า โอกาสความเป็นไปได้ที่การแจกเงินดิจิทัลจะได้ไปต่อ หรือจะหยุดไว้เพียงขั้นตอนการตีความของคณะกรรมการกฤษฎีกา

นายเศรษฐากล่าวยอมรับว่า เป็นห่วงภาวะเศรษฐกิจไทย จากตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 3 ที่ไม่ได้พลาดแค่ 0.1-0.2% จากที่สภาพัฒน์คาดว่า จะขยายตัวได้ 2% แต่หายไปถึง 0.5% ซึ่งถือว่าสูงมาก สาเหตุที่ลดลงมาจากการใช้จ่าย และการลงทุน จึงเป็นสัญญาณของความเร่งด่วนในการออกมาตรการ และเป็นการยืนยันว่า สิ่งที่รัฐบาลคิดนั้นเป็นจริง

ขณะที่นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒน์กล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2566 จะขยายตัวได้ 2.5% และ 3.2% ใน 2567 เรียกว่า ยังฟื้นต่อเนื่อง ซึ่งหากโครงสร้างเศรษฐกิจยังไม่ปรับเข้าสู่เศรษฐกิจใหม่ โดยเฉพาะภาคการผลิต ภาคอุตสาหกรรมที่เป็นธุรกิจใหญ่ เศรษฐกิจไทยจะโตได้ประมาณนี้ที่ 3%

“ส่วนการขยายตัว 5% เป็นการตั้งเป้าหมายทำงานของรัฐบาล ซึ่งต้องปรับโครงสร้างหลายส่วน โดยเฉพาะส่งออก และต้องเร่งการลงทุนเอกชนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพิ่มจำนวนและการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว”นายดนุชา กล่าว

ขณะที่นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังกล่าวถึงความคืบหน้าของร่างพ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาทว่า ขณะนี้อยู่ในชั้นคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ 12 แล้วคาดว่า กระทรวงการคลังจะได้รับคำตอบกลับมาในช่วงต้นปี 67 และยังเชื่อมั่นว่า รัฐบาลจะดำเนินนโยบายเติมเงินดิจิทัล วอลเล็ต ได้อย่างแน่นอน

ส่วนประเด็นที่ถกเถียงกันว่า เศรษฐกิจวิกฤตหรือไม่วิกฤตนั้น นายจุลพันธ์ กล่าวว่า กระทรวงการคลังไม่ได้สอบถามคณะกรรมการกฤษฎีกาในประเด็นดังกล่าว แต่เป็นหน้าที่ของกระทรวงการคลังและส่วนงานที่เกี่ยวข้องที่จะต้องวิเคราะห์สถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาตัดสินใจ

หากย้อนรอยนโยบายเติมเงินดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท ที่นายกฯ “เศรษฐา” ประกาศหาเสียงจนถึงเกณฑ์ล่าสุด นับว่าเป็นหนังคนละม้วน เพราะช่วงหาเสียงประกาศที่จะแจกทุกคนแบบถ้วนหน้าสำหรับคนไทยที่มีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป ซึ่งรัฐบาลอาจต้องใช้เงินสูงถึง 5.6 แสนล้านบาท แม้จะลดลงมาเหลือ 5.48 แสนล้านบาท หลังสำรวจประชากรที่แท้จริง แต่ก็นับว่ายังเป็นเม็ดเงินที่สูง แถมเม็ดเงินที่ใช้ ยังยืนยันว่า จะไม่มีการใช้เงินกู้โดยเด็ดขาด แต่จะเป็นการบริหารเงินงบประมาณและภาษีที่จะจัดเก็บได้เพิ่มขึ้น

แจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท ไปต่อหรือพอแค่นี้

หลังถูกโจมตีและต่อต้านอย่างหนัก แถมมีข้อจำกัดเรื่องเงินงบประมาณ ทำให้รัฐบาลต้องกลับลำแบบ 180 องศา กำหนดเกณฑ์ใหม่ ให้สิทธิผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป รายได้รวมไม่เกินเดือนละ 70,000 บาท หรือมีเงินในบัญชีเงินฝากรวมไม่เกิน 5 แสนบาท ทำให้จำนวนผู้ที่สิทธิลดเหลือ 50 ล้านคน ใช้งบประมาณ 5 แสนล้านบาท อีกทั้งยังให้ใช้จ่ายได้ในรัศมีอำเภอ ที่สำคัญยังมีการออกพ.ร.บ.กู้เงินถึง 5 แสนล้านบาทอีกด้วย

สุดท้ายแล้ว การเดินหน้าแจกเงินดิจิทัล จะมีโอกาสได้ไปต่อหรือไม่ ต้องรอฟังผลการตีความจากคณะกรรมการกฤษฎีกา และหากผ่านด่านนั้นไปได้ ก็ต้องมาลุ้นด่านต่อไปว่าหน่วยงานเศรษฐกิจ “คลัง-แบงก์ชาติ-สภาพัฒน์” จะตอบคำถามกฤษฎีกาอย่างไร ตอนนี้เศรษฐกิจไทยอยู่ในวิกฤตแล้วหรือยัง

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,953 วันที่ 31 ธันวาคม 2566 - 3 มกราคม พ.ศ. 2567