คปภ.เร่งเคลียร์หนี้ค้างจ่ายสินไหมประกันโควิด

24 ม.ค. 2567 | 09:51 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ม.ค. 2567 | 09:51 น.

เปิดวิสัยทัศน์ “ชูฉัตร ประมูลผล” เลขาธิการ คปภ. คนใหม่ ลูกหม้อกรมการประกันภัยคนแรกที่สามารถก้าวขึ้นสู่ตำแหน่ง เลขาธิการ ตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2566 ต่อจากดร.สุทธิพล ทวีชัยการ ที่ครบ 2 วาระ 8 ปี

นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ภายใต้แผน 3 ปี (2567-2569) จะเน้นวัดผลความสำเร็จระยะสั้น (OKR) 5 ด้าน คือ

  1. ยกเครื่องกำกับกำดูแลความเสี่ยงและตรวจสอบ(Urgent mission เป็นภาระกิจเร่งด่วน)
  2. สร้างความเข้มแข็งมั่นคงและความน่าเชื่อถือให้กับบริษัทประกันภัย (Strengthen the industry)
  3. ผลักดันให้การรับประกันภัยเป็นกลไกขับเคลื่อนชีวิต เศรษฐกิจและสังคมของคนในชาติ
  4. ยกระดับประกันภัยไทยให้ก้าวล้ำ นำสมัยในระดับสากล
  5. สร้างคนให้มีความสามารถโดดเด่นและทำให้ OIC เป็นองค์กรแห่งความภาคภูมิใจของคนไทย

นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)

 ขณะที่ ตัวชี้วัดผลสำเร็จระยะยาวหรือ KPI ก็ยังคงอยู่ พร้อมประเมินธุรกิจประกันภัยมีแนวโน้มที่ดี โดยธุรกิจเริ่มกลับมาฟื้นตัวอย่างแท้จริง น่าจะเติบโตในอัตรากว่า 4.6%  ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตสองเท่า เมื่อเทียบกับประมาณการเติบโตทางเศรษฐกิจหรือจีดีพีปีนี้ที่ระดับ 2.3% ซึ่งบางบริษัทเริ่มมีกำไรกลับมาบ้างแล้ว สะท้อนการฟื้นตัวต่อเนื่อง

"คาดว่าสิ้นปี 69 จะเห็นเบี้ยรับประกันภัยแตะ 1 ล้านล้านบาท ซึ่งกรมธรรม์บำนาญอยู่ในนั้นด้วย ภายใต้ประมาณการเบี้ยรับตรงสิ้นปี 2566 อยู่ที่ 891,621-927,377 ล้านบาทมาจากวินาศภัย 5.16% และชีวิต 3.92%"นายชูฉัต รกล่าว

ขณะเดียวกันยังอยู่ระหว่างเตรียมจัดทำแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี โดยจะนำบทเรียนจากโควิด-19 มาใช้บริหารความเสี่ยงของธุรกิจประกันภัยและชีวิต ให้มีความเข็มแข็ง ยืดหยุ่น รองรับความเสี่ยงใหม่ เช่น โรคอุบัติใหม่และความเชื่อมั่น ซึ่งคปภ.ดูทุกประเด็นในเวลานี้ ทั้งนี้เพื่อบรรเทาความเสี่ยงภัยให้มีน้อยที่สุดสำหรับประชาชน

นอกจากนี้ ภายหลังเข้ารับตำแหน่งได้มีการติดตามและประประสานความร่วมมือทุกภาคส่วน  โดยเฉพาะ ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องและกองทุนประกันวินาศภัยเพื่อหาช่องแก้ปัญหาค้างจ่ายสินไหมกรมธรรม์ “เจอ จ่าย จบ” จากวิกฤติโควิด-19

ทั้งนี้ หลังปิดตัวธุรกิจประกันภัยไปแล้ว 4 บริษัท(บมจ. อาคเนย์ประกันภัย บมจ.ไทยประกันภัย บมจ. เดอะวัน ประกันภัย และ บมจ. เอเชียประกันภัย 1950) ซึ่งยังเป็นภาระค้างจ่ายสินไหม (เคลม) ในกองทุนประกันวินาศภัยกว่า 5 หมื่นล้านบาท โดยมีผู้เอาประกันรวมกว่า 7 แสนราย

โดยยังไม่รวมหนี้ของบริษัท สินมั่นคงประกันภัย ที่มีภาระค้างจ่ายกว่า 29,303 ล้านบาท จากเจ้าหนี้ที่ยื่นขอรับชำระ 295,609 ราย และอยู่ระหว่างถูกคปภ.กำกับสั่งห้ามรับประกันภัยรายใหม่ชั่วคราว(ตามมาตร 52)  แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้กระทรวงการคลังและกองทุนประกันวินาศภัยมีแนวคิดจะออกออกตราสารหนี้อัตราผลตอบแทนสูง (Junk Bond) จำหน่ายให้กับภาคธุรกิจประกันภัยเพื่อแก้ปัญหาเบื้องต้นให้กับกองทุนประกันวินาศภัยในวงเงินราว 12,000ล้านบาท

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,959 วันที่ 21 - 24 มกราคม พ.ศ. 2567