นายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการ และ Chief Economist บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัดเปิดเผยว่า ภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ แม้ว่าจะเห็นภาพแรงส่งของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่แข็งแรงกว่าคาดจนตลาดปรับการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) จะยังไม่ลดอัตราดอกเบี้ยในเร็วๆนี้
อย่างไรก็ตาม มีประเด็นที่มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นมากในระยะหลังคือ นโยบายภาษีของสหรัฐฯและยุโรปที่กีดกันอุตสาหกรรม Cleantech ของจีนทั้งรถยนต์ไฟฟ้า, แบตเตอรี่ และแผงโซลาร์ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการย้ายฐานการผลิตในภูมิภาคยุโรป อาเซียนและอเมริกาใต้
ขณะที่การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐที่กำลังจะเกิดขึ้น หากนายโดนัลด์ ทรัมป์กลับมาอีกครั้ง กลยุทธ์ของจีนในการกระจายความเสี่ยงทางการค้า เช่น China+1 ที่ขยายฐานการผลิตออกจากจีนไปยังประเทศอื่นๆ เพื่อเลี่ยงกำแพงภาษีทางการค้าก็มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบ ดังนั้นไทยต้องจับกระแสประเด็นการเปลี่ยนแปลงนี้ เพื่อที่ภาคอุตสาหกรรมของไทยจะสามารถปรับทิศทางได้อย่างทันท่วงที
อย่างไรก็ตาม การที่ไทยจะสามารถดึงดูดเม็ดเงินลงทุนใหม่จากต่างชาติเข้ามาได้ จะต้องมีการปรับโครงสร้างด้านต่างๆ ของประเทศให้มีความทันสมัยมากขึ้น ให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจและเทคโนโลยี โดยสิ่งแรกที่ต้องทำคือ การแก้ไขกฎหมายให้มีความทันสมัยมากขึ้น เพราะกฎหมายที่ใช้ในปัจจุบันเป็นกฎหมายเก่า ทำให้นักลงทุนต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนมีข้อติดขัดในเรื่องกฎหมาย
“ปัญหาของกฎหมายที่เก่า นอกจากจะไม่เอื้อต่อการลงทุนแล้ว ยังทำให้ยากต่อการดึงบุคลากร
ที่มีความเชี่ยวชาญ และมีความสามารถจากต่างประเทศให้เข้ามาทำงานในไทย คนต่างประเทศที่มีความเชี่ยวชาญ มีความเก่ง มีความสามารถจะไม่สนใจและเลือกไปทำงานในประเทศอื่นแทน ทำให้ไทยขาดบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญและพัฒนาธุรกิจใหม่ๆ สิ่งที่ต้องทำคือเราต้องแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ เพื่อขับเคลื่อนศักยภาพและการเติบโตของประเทศ” นายบุรินทร์กล่าว
ทั้งนี้ ภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันและช่วงที่ผ่านมา เปรียบเสมือนคนนอนป่วย แต่ยังไม่ถึงกับตาย มีช่วงที่ป่วยหนักและมีอาการดีขึ้นมา จากการที่รัฐบาลไม่ได้แก้ปัญหาต่าง ๆ อย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะปัญหาเชิงโครงสร้าง และปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาจะเห็นว่า รัฐบาลจะแก้ปัญหาก็ต่อเมื่อเกิดวิกฤตขึ้น
“ที่ผ่านมา เรารอวิกฤตก่อน ถึงจะเข้ามาแก้ปัญหา ขาดการแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เศรษฐกิจมีการเติบโตน้อยลง จาก 5% ลงมาเหลือ 3% และใน 10 ปีข้างหน้าหากยังไม่มีการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง เศรษฐกิจไทยอาจมีโอกาสเติบโตเพียงแค่ 2% หรือต่ำกว่า 2% ก็เป็นไปได้” นายบุรินทร์ ระบุ
น.ส.ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัดเปิดเผยว่า ศูนย์วิจัย
กสิกรไทยปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 2567 ลงมาอยู่ที่ 2.6% ชะลอตัวจากระดับ 2.8% ที่เคยคาดการณ์ไว้เดิม ตามการลงทุนและการใช้จ่ายภาครัฐที่ต่ำกว่าคาด ประกอบกับการส่งออกไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด
ส่วนทิศทางเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 มีแนวโน้มเร่งตัวขึ้น ตามการเร่งเบิกจ่าย
งบประมาณ และการส่งออกที่ขยายตัวเป็นบวกมากขึ้น จากปัจจัยฐานต่ำในปี 66 แต่อย่างไรก็ดี ยังมีประเด็นความเสี่ยงจากมาตรการกีดกันทางการค้าที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น การระบายสินค้าจากกำลังการผลิตส่วนเกินจากจีนมายังตลาดโลก รวมถึงไทย ในขณะที่ปัญหาเชิงโครงสร้าง และความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง มีผลให้ส่งออกไทยฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่คาดการณ์
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ปี 2567 การส่งออกของไทยจะขยายตัวอยู่ที่ 1.5% ต่ำกว่าที่เคยประมาณการไว้เดิมที่ 2.0% จากปัญหาเชิงโครงสร้างและความสามารถทางการแข่งขันที่ลดลง ส่งผลให้การส่งออกไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวช้าและได้รับอานิสงส์จากการค้าโลกที่ฟื้นตัวในปีนี้ไม่มากเท่าที่ควร
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 4,003 วันที่ 23 - 26 มิถุนายน พ.ศ. 2567