วันนี้ (4 กรฎาคม 2567) ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดใจในงาน Meet the press ผู้ว่าการ พบสื่อมวลชน ถึงประเด็นการพิจารณา "ดอกเบี้ยนโยบาย" ของไทย แยกเป็นประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
เงินเฟ้อต่ำ ทำไม ธปท.ไม่ลดดอกเบี้ย
ดร.เศรษฐพุฒิ ยอมรับถึงประเด็นนี้ว่า กรอบเงินเฟ้อ หรือเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ที่ ธปท. ใช้อยู่ในปัจจุบันเป็นกรอบที่ยืดหยุ่น และการพิจารณา “ดอกเบี้ยนโยบาย” ขณะนี้ ธปท.ก็ไม่ได้พิจารณาแค่อัตราเงินเฟ้อเพียงอย่างเดียว แต่จะพิจารณาเรื่องของอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แท้จริง และเสถียรภาพทางการเงิน ควบคู่กันไปด้วย
ดังนั้นจึงไม่ใช่แค่ว่า เงินเฟ้อต่ำกว่ากรอบแล้วจะต้องลดดอกเบี้ยในทันที และการดำเนินการในลักษณะนี้ก็สอดคล้องกับหลาย ๆ ประเทศที่ใช้กลไกการพิจารณาเรื่องของดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งจะต้องดูให้ครบในทุก ๆ มิติ
“ดอกเบี้ย ถือเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะต้องทำเพื่อตอบโจทย์หลายโจทย์ ทั้ง การเติบโตทางเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และด้านเสถียรภาพ ไม่ว่าจะเป็นด้านการเงิน หรือเรื่องต่างประเทศ ดังนั้นการใช้จึงต้องดูให้เห็นภาพรวม บาลานซ์หลายปัจจัย และชั่งน้ำหนักหลายมิติด้วย” ผู้ว่าฯ ธปท. ระบุ
ความสำคัญต้องชั่งน้ำหนักให้ดี
ดร.เศรษฐพุฒิ ยอมรับว่า การชั่งน้ำหนักทั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และด้านเสถียรภาพ ให้บาลานซ์ อยากย้อนไปดูช่วงปี 2565-2566 เงินเฟ้อพุ่งขึ้นไปสูงถึง 8% ช่วงนั้นธปท.ถูกต่อว่าว่าทำไมไม่ยอมขึ้นดอกเบี้ย ทั้งที่ประเทศอื่นประกาศขึ้นดอกเบี้ยแล้ว และขึ้นเร็วแถมบางประเทศขึ้นสูง 0.50% แต่พอขึ้นดอกเบี้ยแล้ว ก็ถูกต่อว่าว่าช้ากว่าประเทศอื่น และขึ้นเพียงแค่ 0.25% เท่านั้น หรือทำล่าหลังกว่าหลายประเทศ
แต่อยากทำความเช้าใจให้เห็นว่า การตัดสินใจเรื่องอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ณ ขณะนั้น ได้ผ่านการพิจารณาปัจจัยหลายอย่างประกอบกัน เริ่มตั้งแต่สภาวะเศรษฐกิจในขณะนั้น ซึ่งต้องยอมรับว่าประเทศไทยเจอวิกฤตโควิดหนักกว่าหลายประเทศ จนทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ช้า หากขึ้นดอกเบี้ยเหมือนหลายประเทศในตอนนั้นคงไม่เหมาะสม จึงได้ตัดสินใจปรับขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป จนทำให้เงินเฟ้อกลับเข้าสู่กรอบภายใน 7 เดือน
"ปัจจุบันธปท. ได้พิจารณามิติต่าง ๆ และชั่งน้ำหนักควบคู่กันไป นอกจากนั้นยังติดตามสถานการณ์ต่างประเทศ พร้อมทั้งมองไปข้างหน้าว่าเทรนด์ของดอกเบี้ยนโยบายจะเป็นอย่างไร ซึ่งถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะการตัดสินใจด้านนโยบายต้องดูว่าข้างหน้าเป็นอย่างไร เพราะข้อมูลที่ออกมาเป็นอย่างไร ไม่ได้ดูแค่ ณ ตอนนี้ เพราะนโยบายที่ตัดสินใจวันนี้มีผลต่อวันข้างหน้า แล้วเมื่อเห็นแนวโน้มก็ตัดสินใจได้" ผู้ว่าฯ ธปท. ระบุ
ราคาสินค้ายังสูง แม้เงินเฟ้อปรับตัวลดลง
ผลกระทบในฐานะที่เป็นผู้บริโภค ยอมรับว่า ไม่อยากเห็นเงินเฟ้อที่สูงเกินไป เพราะเมื่อเงินเฟ้อสูงแล้วราคาสินค้าจะเพิ่มสูงขึ้นแล้วไม่ค่อยลง ดึงต้องหาทางบริหารให้เงินเฟ้อไม่เพิ่มสูงขึ้นมากจนกระทบกับทุกคน และถ้าเป็นผู้ประกอบธุรกิจ เมื่อราคาสินค้าเพิ่มขึ้นก็ไปแข่งขันลำบากด้วย
ทั้งนี้เมื่อลงลึกในรายละเอียดเรื่องของราคาสินค้าปัจจุบันเมื่อเทียบกับช่วง 5 ปีก่อน (ราคาเฉลี่ยปี 2562) โดยพบว่า รายการสินค้าสำคัญที่คนบริโภคเป็นประจำได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาก เช่น แก๊สโซฮอล์ 95 เดิมราคาอยู่ที่ 27.70 บาทต่อลิตร ปรับเพิ่มขึ้นมาเป็น 38.80 บาทต่อลิตร หรือ เพิ่มขึ้น 40% เช่นเดียวกับ น้ำมันพืช เดิมราคาอยู่ที่ขวดละ 40 บาท เพิ่มขึ้นเป็นขวดละ 53 บาท หรือ เพิ่มขึ้น 32.5% หรือไข่ไก่ เดิมราคาอยู่ที่ฟองละ 4 บาท เพิ่มขึ้นเป็นฟองละ 5 บาท หรือ เพิ่มขึ้น 25% เป็นต้น
ทั้งนี้ ธปท. ประเมินครึ่งแรกของปี 2567 อัตราเงินเฟ้อของไทยยังอยู่ในระดับที่ต่ำ แต่ครึ่งปีหลังน่าจะอยู่ที่ 1.1% ทำให้ทั้งปีน่าจะเข้าสู่กรอบล่างของเป้าหมายเงินเฟ้อทั้งปีได้
เกาะติดหนี้ครัวเรือนก่อนตัดสินใจดอกเบี้ย
ส่วนอีกประเทศที่ ธปท. ยังมีความเป็นห่วงอย่างยิ่ง นั่นคือ ปัญหาหนี้ครัวเรือน ซึ่งในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2567 อยู่ที่ 90.8% ต่อ GDP ทำให้ต้องชั่งน้ำหนักของการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้กระทบกับภาวะหนี้ครัวเรือน เพราะว่า หากดอกเบี้ยสูงก็เป็นภาระหนี้เพิ่มขึ้น แต่หากดอกเบี้ยต่ำเกินไป จะทำให้การกู้ยืมเพิ่มขึ้น กระทบต่อเสถียรภาพการเงินมีความเสี่ยง
ดังนั้นถ้ากลับมาดูตัวเลขหนี้ครัวเรือน ที่ผ่านมาในช่วงประมาณปี 2555 จนถึงปัจจุบัน ตัวเลขหนี้ครัวเรือนได้ไต่ระดับขึ้นต่อเนื่อง จนมาถึง 85% ในช่วงไตรมาสแรก ปี 2558 ซึ่งอยู่ในช่วงที่ธปท.ลดดอกเบี้ย และได้คงดอกเบี้ยไว้เป็นเวลานานก่อนจะปรับขึ้นเล็กน้อยก่อนจะเกิดโควิด
แล้ว ธปท. จะลดดอกเบี้ยเมื่อไหร่
ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ระบุว่า เป็นไปตามความเห็นของคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ซึ่งเห็นว่า ดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบัน 2.50% เป็นอัตราที่มีความเหมาะสม สอดคล้องการประเมินสถานการณ์ข้างหน้า แต่ถ้าในอนาคตปัจจัยต่าง ๆ เกิดการเปลี่ยนแปลงไป ก็พร้อมที่จะพิจารณาความเหมาะสมอีกครั้ง
“ธปท.พร้อมจะเปลี่ยนเรื่องของดอกเบี้ย ไม่ได้มีการปิดประตูอะไร เพราะตอนนี้มีความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในโลกมหาศาล และเราก็ไม่ได้ยึดติดอะไร แต่เมื่อดูในภาพรวมแล้วอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันก็เหมาะสมกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ การดูแลเงินเฟ้อ และเสถียรภาพทางการเงิน” ผู้ว่าฯ ยืนยัน
ยังมีเครื่องมืออื่นนอกจากดอกเบี้ย
อย่างไรก็ดีนอกจากการพิจารณาเครื่องมือเรื่องของดอกเบี้ยนโนบายแล้ว ยังมีเครื่องมืออื่นที่จะช่วยขับเคลื่อนนโยบายด้านการเงินได้ และลดผลกระทบต่าง ๆ ลงได้ เช่น มาตรการดูแลอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งมีเป้าหมายในการดูแลเงินบาทไม่ให้มีความผันผวน มาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน เช่น การผ่อนเกณฑ์ LTV ชั่วคราว
นอกจากนี้ยังมีมาตรการทางการเงินเข้ามาเสริม โดยเฉพาะการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน การแก้ปัญหาสภาพคล่อง โดยที่ผ่านมามีตัวอย่างของมาตรการทางการเงิน เช่น สินเชื่อฟื้นฟูจากโควิด โครงการค้ำประกันสินเชื่อ มาตรการแก้หนี้ระยะยาว (ฟ้า-สิม) คลินิกแก้หนี้ และการออกมาตรการการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending - RL) เพื่อให้สถาบันการเงินช่วยแก้หนี้เก่าที่มีปัญหา และปล่อยหนี้ใหม่อย่างมีความรับผิดชอบ
"หากเราพึ่งแค่เรื่องของดอกเบี้ยนโยบาย จะลำบาก จึงต้องใช้เครื่องมืออื่น ๆ เข้ามาเสริม และทำแบบผสมผสาน" ผู้ว่าฯ เศรษฐพุฒิ กล่าวทิ้งท้าย